xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กป๊อก-วันชัย” ยันไม่มีอดีต สปช.วิ่งขอเก้าอี้สภาขับเคลื่อนฯ อ้างขบวนการจ้องทำลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
“อดีต สปช.วันชัย” ปัดข่าวมีกลุ่มวิ่งแลกโควตาสภาขับเคลื่อนฯ อ้างมีขบวนการจ้องทำลาย “อดีต สปช.ที่ไม่รับร่าง” หวังสร้างความแตกแยก ด้าน มท.1 รับอาจดันอดีต ขรก.มท.นั่ง สปท. ไม่เชื่อมีอดีต สปช.วิ่งขอเก้าอี้ ด้าน ม.เที่ยงคืน ชวนเสนอชื่อกรรมการร่าง รธน.ผ่านเฟซบุ๊ก สับทหารยืดเวลา อยู่ใต้คนกลุ่มเดียว

วันนี้ (14 ก.ย.)นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีปรากฏข่าวผ่านสื่อว่า สปช.ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญต่อรองขอตำแหน่งสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศว่า ตนได้มีการประสานกับกลุ่มสมาชิกที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและได้มีการพูดคุยสอบถามแล้วทุกคนยืนยันว่าไม่มีสมาชิกที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคนใดไปวิ่งเต้น ล็อบบี้เพื่อขอเป็นสภาขับเคลื่อนฯ รวมทั้งขอโควตาว่าต้องได้จำนวนเท่านั้นเท่านี้เพราะทุกคนรู้กันเป็นอย่างดีว่าอำนาจในการแต่งตั้งเป็นของนายกรัฐมนตรีและนายกฯก็ได้เคยประกาศไว้ในวันที่ไปรับผลงานปฏิรูปของสภาปฏิรูปฯเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่โรงแรมเซ็นทารา เซ็นทรัลเวิลด์ ว่าใครมาวิ่งเต้นว่าจะเป็นสภาขับเคลื่อนจะไม่แต่งตั้งโดยเด็ดขาด ดังนั้น อดีต สปช.ทุกคนรู้และเข้าใจในเรื่องนี้ดีและก็เชื่อว่าไม่มีใครไปวิ่งเต้นเพื่อจะเป็นสภาขับเคลื่อนแน่นอน ขืนไปวิ่งเต้นก็อาจจะไม่ได้เป็นดังที่นายกฯพูด

ดังนั้นที่พวกเราตกลงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะเห็นว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีปัญหาและไปทำประชามติก็จะมีปัญหาบานปลายมากยิ่งขึ้น จึงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เอาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ได้คำนึงว่าจะได้รับแต่งตั้งตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้แต่อย่างใดและในการที่มีการประชุมตกลงกันนั้นก็ไม่เคยมีใครหยิบยกเรื่องตำแหน่งสภาขับเคลื่อนมาเป็นเงื่อนไขต่อรองแต่อย่างใดทั้งสิ้นและเรื่องรัฐธรรมนูญก็จบไปแล้วทุกคนถือว่าเสร็จภารกิจแล้วจะได้รับแต่งตั้งเป็นอะไรหรือไม่ทุกคนไม่ติดใจ ยอมรับในการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี

“แม้จะมีสมาชิกบางท่านแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปบ้าง ทุกคนก็ยืนยันว่าเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นตามที่ผู้สื่อข่าวสอบถามเท่านั้น ไม่ใช่เป็นข้อเรียกร้องหรือเป็นข้อต่อรองหรือเป็นความอยากหรือความต้องการแต่อย่างใด” นายวันชัยกล่าว

นายวันชัยกล่าวต่อว่า ทุกคนรู้ดีว่าได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนสำเร็จเสร็จแล้ว เป็นความภาคภูมิใจ ใครได้ไปทำงานต่อพวกเราก็ดีใจและสนับสนุน ส่วนใครไม่ได้รับแต่งตั้งไปเป็นอะไรก็ยังรวมตัวกันทั้งคนที่ได้เป็นสภาขับเคลื่อนและไม่ได้เป็น มาเป็นชมรม สปช.57 เพื่อช่วยกันเสนอแนะ ให้ข้อคิดเห็น ผลักดันแนวทางปฏิรูปที่สภาปฏิรูปเคยทำไว้ ทุกคนที่รับร่างรัฐธรรมนูญและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้แตกแยกกัน ได้มีการตกลงร่วมกันจะเอาองค์กรของชมรม สปช.57 เป็นตัวขับเคลื่อน สนับสนุนการทำงานของทุกรัฐบาลและทุกองค์กรเพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน

ดังนั้น พวกเราเห็นว่าเวลาของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศมีจำกัด ดังนั้นบุคคลที่จะมาทำการปฏิรูปเพื่อการขับเคลื่อนประเทศจะต้องเป็นบุคคลที่มีแนวคิดใกล้เคียงกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ขยับขับเคลื่อนไปด้วยกันให้รีบเร่งการปฏิรูปให้สำเร็จ ไม่ใช่ไปกันคนละทิศคนละทางอย่างที่เป็นมา เชื่อว่านายกรัฐมนตรีเข้าใจในเรื่องนี้คงจะหาบุคคลที่มาทำงานขับเคลื่อนให้เหมาะสมกับงานและเวลา

“ในระยะนี้มักจะมีบุคคลจ้องจะทำลายกลุ่มที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการต่างๆว่าหวังจะไปมีตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้หรือถูกหักหลังบ้าง หรือทำให้แตกแยกกันเองบ้าง คนนั้นได้ตำแหน่งคนนี้ไม่ได้ตำแหน่งแล้วก็เอาไปขยายความให้เกิดความขัดแย้งแตกแยก ถูกมองในแง่ไม่ดี ซึ่งพวกเรากลุ่มที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเข้าใจในเรื่องนี้ดีและพยายามที่จะระมัดระวังสงบเสงี่ยมเจียมตัว และขอยืนยันอีกครั้งว่าพวกเราทั้งที่รับร่างและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คือ สปช.พวกเดียวกัน ส่วนใครจะเสี้ยมให้แตกแยกเราจะไม่ตกเป็นเครื่องมือโดยเด็ดขาด” อดีต สปช.ผู้นี้กล่าว

อีกด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้แต่ละกระทรวงสรรหาตัวแทนกระทรวงละ 5 คน เพื่อคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศว่า ทางกระทรวงมหาดไทยมีการเตรียมการโดยกำลังพิจารณาสรรหาผู้ที่เหมาะสม สำหรับคุณสมบัติจะต้องเป็นผู้ที่มาจากหลายๆด้าน เช่น อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อดีตข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการที่กำลังดำรงตำแหน่ง รวมถึงผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมาย ส่วนอดีตข้าราชการกระทรวงมหาดไทย จะหมายรวมถึงอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยหรือไม่นั้น คงไม่ได้กำหนดถึงขั้นนั้น เรียกว่าเป็นอดีตข้าราชการ ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นระดับไหน น่าจะเป็นผู้ที่มีความรู้ในกระทรวงอย่างครอบคลุมทุกเรื่อง

ส่วนกรณีที่มีอดีตสมาชิก สปช.หลายคน ต้องการเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ด้วย พล.อ.อนุพงษ์ ในฐานะที่ปรึกษา คสช.กล่าวว่า ยังไม่มีใครเสนอมาถึงตน และไม่ทราบว่า ใครถูกเสนอชื่อบ้าง

“สมาชิก สปช.ที่เคยโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และต้องการเข้ามาเป็นสมาชิก กรธ.นั้น ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร ผมไม่ถือ เพราะอย่างที่ผมเคยบอกแล้วว่า เข้าไปก็มีทั้งที่สนับสนุน และไม่สนับสนุน มีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ถ้าผลออกมาว่ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ผมขอย้ำว่าไม่ใช้คำว่าคว่ำ เพราะสังคมจะเข้าใจไปในแง่ลบ ถ้าผมบอกว่าเอาตรงนี้มา เกิดผ่านแล้วหยิบคนที่ให้มาเป็น กรธ. ก็บอกว่าเอาพวกยกมือมา เพราะฉะนั้นสังคมต้องรู้ว่ามันมีให้เลือกทั้ง 2 ทาง” รมว.มหาดไทยกล่าว

สำหรับมีบางฝ่ายเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 35 เพราะหากไม่มีการแก้ไข ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ออกมา จะเหมือนกับร่างฯฉบับเก่า พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่มีความเห็น พร้อมกับเดินขึ้นรถประจำตำแหน่งไป

วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ค “รัฐธรรมนูญในฝัน” ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จ.เชียงใหม่ ได้ออกแคมเปญเชิญชวนประชาชน เรื่อง การเสนอรายชื่อบุคคลที่ควรทำหน้าที่ “สภาร่างรัฐธรรมนูญในฝัน”

มีใจความว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญในสังคมไทยนับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ได้ทำให้สังคมไทยต้องวนเวียนอยู่ในความมืดมนโดยไม่รู้ว่าอนาคตของตนและสังคมจะดำเนินไปในลักษณะเช่นไร การร่างรัฐธรรมนูญโดยกลุ่มคนที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารที่เพิ่งถูกคว่ำไปด้วยกลุ่มที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารเช่นกัน ก็เป็นที่ประจักษ์ว่าจะไม่ได้นำพาสังคมให้สามารถหลุดพ้นไปจากความยุ่งยากได้อย่างไร และไม่เพียงงบประมาณที่เป็นของประชาชนทุกคนซึ่งถูกใช้ไปโดยสูญเปล่า แต่กลับนำมาซึ่งการต่ออายุของคณะรัฐประหารและพรรคพวกผ่านกลไกต่างๆ ที่ตั้งขึ้นโดยอำนาจของคณะรัฐประหารให้ยืดเวลานานออกไปโดยไม่สามารถรู้ได้ถึงวันสิ้นสุดอย่างแน่นอน

ทั้งกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะดำเนินการคัดเลือกที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ดำเนินตามรอยของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งถูกคว่ำไป ทั้งในแง่ของการแต่งตั้ง กระบวนการร่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้กำมือของกลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน ซึ่งก็ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ยอมรับฟังเสียงของกลุ่มอื่นๆ และไม่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงโต้แย้งเกิดขึ้นอย่างเสรี รวมถึงบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งก็คาดหมายได้ว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ผ่านมา

ดังนั้น จึงไม่มีอะไรที่จะเป็นหลักประกันได้เลยว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นจะทำให้สังคมไทยสามารถมองเห็นและกำหนดอนาคตของตนเองได้ หากต่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นที่ถูกใจของผู้ที่มีอำนาจแล้วผลที่จะติดตามมาจะเป็นอย่างไร หรือจะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างชุดต่อไปเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ
เพื่อให้สังคมไทยสามารถเดินหน้าต่อไปด้วยกำลังแห่งสติและปัญญาของผู้คนกลุ่มต่างๆ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเสนอให้มีการจัดตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญในฝัน” ขึ้น เพื่อมาทำหน้าที่เป็นผู้ที่เสนอแนวทางและนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญที่จะเป็นประโยชน์แก่สังคมไทย ทั้งในด้านของแนวความคิดพื้นฐาน เนื้อหาและกระบวนการของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเชิญชวนให้เสรีชนทุกท่านร่วมเสนอรายชื่อบุคคลที่ท่านเห็นว่ามีความเหมาะสมในการทำหน้าที่จัดทำร่าง “รัฐธรรมนูญในฝัน” ของสังคมไทย ทั้งนี้ คุณสมบัติประการสำคัญของบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อก็คือบุคคลดังกล่าวต้องมีความยอมรับและยึดมั่นในหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย
ทั้งนี้ จะได้มีการเปิดรับความเห็นผ่านทาง Facebook “รัฐธรรมนูญในฝัน”

โดยแต่ละคนสามารถเสนอรายชื่อได้ไม่เกิน 5 คน ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2558 ถึงวันที่ 21 กันยายน 2558 หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้มีการแสดงรายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อสูงสุดจำนวน 10 คน ว่าประกอบด้วยบุคคลใดบ้างแก่สังคม โดยแต่ละคนสามารถเสนอรายชื่อบุคคลที่ท่านได้พิจารณาแล้วว่าเป็นผู้มีสติ ปัญญา และความกล้าหาญในทางจริยธรรมต่อการแสดงความเห็นโดยไม่สยบยอมต่ออำนาจและมุ่งแต่เพียงประโยชน์ส่วนตน

โดยบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในทางกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีตำแหน่งสูงไม่ว่าจะในระบบราชการหรือเอกชน เนื่องจากเป็นที่ชัดเจนในประวัติศาสตร์การร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่าคุณสมบัติที่กล่าวมาไม่ได้มีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับคุณภาพของร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด.


พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ข้อความจากเฟซบุ๊ค ม.เที่ยงคืน
กำลังโหลดความคิดเห็น