xs
xsm
sm
md
lg

ที่ประชุม 5 ฝ่ายเห็นพ้องให้ “พลังงาน” ศึกษา 2 ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมใหม่-เปรียบเทียบร่าง คปพ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ที่ประชุมร่วมรองนายกฯ กระทรวงพลังงาน ฝ่ายกฎหมาย คสช. ผู้แทนกฤษฎีกา และครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีมติให้กระทรวงพลังงานกลับไปศึกษาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับที่ผ่าน ครม.แล้วว่าไม่สอดคล้องกับผลศึกษาของ กมธ.วิสามัญ สนช.อย่างไร จะแก้ไขได้หรือไม่ พร้อมให้ศึกษาเปรียบเทียบร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียมของ คปพ.มาตราใดทำได้หรือไม่ได้

วันนี้ (12 ก.ย.) เมื่อเวลา 11.19 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ สรุปภาพรวมการประชุมเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กันยายน 2558 เวลา 13.30-17.00 น. ดังนี้

“1. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แจ้งที่ประชุมว่ามีบัญชาจากนายกรัฐมนตรีให้ประชุมกฎหมายที่มีข้อขัดแย้ง ระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง และหน่วยงานของรัฐกับประชาชน เพื่อให้ได้ข้อสรุป รวมถึงร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 แต่เนื่องจากนายวิษณุติดภารกิจกระทันหันจึงมอบให้นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินการประชุมต่อไปแทน

2. มีฝ่ายที่เข้ามาร่วมประชุม ได้แก่
2.1 สำนักงานรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม)
2.2 กระทรวงพลังงาน (รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และคณะ)
2.3 ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
2.4 ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
2.5 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) (ดร.นพ สัตยาศัย, ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี, อ.คมสัน โพธิ์คง, ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์)

3. การประชุมในช่วงแรกนำเสนอโดย คปพ.มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

3.1 ได้พิสูจน์ทางคณิตศาสตร์และข้อเท็จจริงจากข้อมูลของกระทรวงพลังงานเองว่า ประเทศไทย “สามารถบริหารจัดการ” พลังงานทำให้มีไฟฟ้าเหลือพอใช้สูงเกินมาตรฐานสำรองไฟฟ้าตลอด 20 ปี โดย

3.1.1 ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
3.1.2 จะไม่เกิดวิกฤตพลังงานไฟฟ้าแม้แหล่งปิโตรเลียมในเอราวัณและบงกชจะหมดอายุสัมปทานลงในปี 2565-2566
3.1.3 มีวิธีนำแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในบงกชและเอราวัณกลับมาเป็นของรัฐได้ 100% เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยไม่ขาดความต่อเนื่องเมื่อหมดอายุสัมปทานลง และสามารดำเนินการประมูลให้เอกชนมารับจ้างผลิตได้

การที่เราไม่เกิดวิกฤตไฟฟ้าดับจากแผนการบริหารจัดการข้างต้น จะเป็นผลทำให้รัฐบาลมีอำนาจต่อรองสูงกว่าเอกชนผู้รับสัมปทานรายเดิม มีเวลาพอที่จะร่างกฎหมายให้มีความรัดกุมและรอบคอบ และมีเวลาเพียงพอในการที่จะได้พลังงานทางเลือกในอนาคตที่ปลอดภัย มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพ ในราคาที่ถูกลง ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั่วโลก

3.2 ได้พิสูจน์ว่าร่างแก้ไขกฎหมายของกระทรวงพลังงาน ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้นยังมีช่องโหว่ มีข้อบกพร่อง ใช้ดุลพินิจมาก ซึ่งไม่เป็นไปตามรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบัน แตกต่างจากร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. ... ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ซึ่งครอบคลุมปัญหาทางยุทธศาสตร์ และสอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าว

3.3 ได้แสดงข้อมูลและรายงานของธนาคารโลกถึงความจำเป็นที่ต้องตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เพื่อความมั่นคงและประโยชน์ต่อประเทศชาติ

3.4 ได้รายงานต่อที่ประชุมว่าการที่กระทรวงพลังงานนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีขอความเห็นชอบร่างกฎหมายพลังงานทั้ง 2 ฉบับของกระทรวงพลังงาน โดยอ้างว่าได้ข้อยุติกับภาคประชาชนแล้วนั้น เป็นข้อความอันเป็นเท็จ ที่ทำให้คณะรัฐมนตรีหลงผิด และ คปพ.ได้ยื่นจดหมายชี้แจงถึงนายกรัฐมนตรีในประเด็นดังกล่าวแล้ว

3.5 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้มีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เข้าร่วมเพื่อพูดคุยให้เสร็จสิ้นในหลักการเสียก่อน แล้วจึงทำการร่างกฎหมายให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงพลังงาน ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบัน และผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) แต่ที่ประชุมฝ่ายรัฐเห็นว่าน่าจะมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือผู้แทนกระทรวงการคลังเข้าร่วมเพิ่มเติมด้วย

3.6 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ตั้งโจทย์ต่อมาถึงประเด็นที่ควรจะต้องพิจารณาด้วยว่า :

3.6.1 ภายใต้สถานการณ์ที่ราคาพลังงานโลกที่ลดลง ควรเร่งเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือไม่และเมื่อใด?
3.6.2 โครงสร้างราคาและสูตรราคาพลังงานและปิโตรเลียม ควรเป็นอย่างไรที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน อย่างไร?
3.6.3 การจัดสรรปิโตรเลียมอย่างไรให้เป็นธรรมกับประชาชน?
3.6.4 บทบาทของ กฟผ.กับความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้า ควรเป็นอย่างไร?
3.6.5 แผนการผลิตไฟฟ้าและการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ควรเป็นอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมและการส่งเสริมที่เป็นจริงในทางปฏิบัติ
3.6.6 เมื่อมีความชัดเจนข้างต้นแล้วจึงกำหนดแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ให้เป็นไปตามคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบัน อย่างไร?

3.7 หลังจากฝ่ายเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้นำเสนอข้อมูลข้างต้นแล้ว มีการแลกทัศนะและข้อมูลกันทุกฝ่าย รวมถึงโต้ถกเถียงกันพอสมควร (ในรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง) หลังจากนั้นแล้วที่ประชุมมีความเห็นดังต่อไปนี้

3.7.1 ให้กระทรวงพลังงานไปศึกษาข้อเสนอของ คปพ.ใน 3 ประเด็น
ก) ให้ศึกษากฎหมายทั้ง 2 ฉบับของกระทรวงพลังงานว่าไม่สอดคล้องกับคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบัน จริงหรือไม่เพราะเหตุใด? และจะสามารถแก้ไขให้เป็นไปตามรายงานผลการศึกษานี้หรือไม่?

ข) ให้ศึกษากฎหมายทั้ง 2 ฉบับของกระทรวงพลังงานว่ามีความแตกต่างจากร่างกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. ... ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) หรือไม่ อย่างไร? และให้ศึกษารายมาตราว่ามาตราใดทำได้หรือไม่ได้เพราะอะไร?

ค) ให้กระทรวงพลังงานไปศึกษาปัจจัยเวลาที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้นำเสนอว่าสามารถบริหารจัดการได้ ทำให้มีเวลาพอได้หรือไม่อย่างไร?

3.7.2 ให้มีการประชุมครั้งถัดไป (และอาจมีหลายครั้ง)โดยอาจให้มีผู้แทนส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเพิ่มเติม เช่น กระทรวงการคลัง ฯลฯ เพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริงและหาข้อยุติให้ชัดเจนขึ้น”

รับชมภาพการนำเสนอในที่ประชุมโดยเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย ได้ที่ http://www.gasthai.com/1111/TNER-Pr-110958.pdf
กำลังโหลดความคิดเห็น