xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” กวักมือเรียก “นิติราษฎร์” ร่วมร่าง รธน.-ได้ 21 กรธ.ครบก่อนบินไปยูเอ็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“บิ๊กตู่” กวักมือเรียก “นิติราษฎร์” ร่วมทีมร่าง รธน.ผ่านสื่อ ย้ำไม่ได้เชิญ แขวะ! ถึงเวลาจะมาไหม รับจะได้ 21 กรธ.ครบก่อนถก ครม.-คสช.22 ก.ย.นี้ แล้วบินพูดยูเอ็น ย้ำมีชื่อประธานในใจแล้ว ไม่บอกทาบ “อมร จันทรสมบูรณ์-ลิขิต ธีรเวคิน” หรือไม่ ยังไม่คิด เอา กมธ.ยกร่างชุดเดิมกลับมา ด้าน “สุรชัย” ยังกั๊กร่วมนั่งตำแหน่งใหญ่ใน กรธ. แนะใช้ รธน.50-ส่วนดี สปช.มายกร่างใหม่ ชี้แค่นำความเห็นจาก สนช.ไปประสานงานก็พอแล้ว ส่วน “อมร วานิชวิวัฒน์” เสนอตัวสุดลิ่มนั่งทีมร่างฯ

วานนี้ (10 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า มองไว้หลายคน โดยคุณสมบัติจะต้องเป็นที่ยอมรับ ข้อสำคัญนักการเมืองยอมรับหรือเปล่า ส่วนคนที่เป็นกรรมการร่างฯ จะดึงกรรมาธิการร่างฯ ชุดเดิมมาด้วยหรือไม่ ก็ยังไม่ได้คิด ซึ่งในวันที่ 22 ก.ย.นั้นจะมีการประชุมร่วม ครม.-คสช.ซึ่งจะยังไม่มีรายชื่อเสร็จออกมา แต่เวลานี้มีแนวทางให้เขาไปทำกันมา เพราะทั้งหมดตนต้องเตรียมการก่อนที่จะเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 23 ก.ย.ก็ตั้งมันทั้งหมดนั่นแหล่ะ

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า สรุปแล้ววันที่ 22 ก.ย.นี้ จะได้รายชื่อ กรธ.ออกมาครบ 21 คนเลยใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “เมื่อกี้ถามว่าวันที่ 22 ก.ย.ใช่ไหม ตนก็ตอบไปว่าวันที่ 22 ก.ย. กลับมาถามอีกแล้วเดี๋ยวชกให้เลย ไอ้นี่ โดยตอนนี้ให้โอกาสทุกคนเสนอชื่อมา ใครอยากเป็นก็สมัครมา และผมจะพิจารณาเอง ประเด็นคือ กรธ.เป็นผู้ที่จะมาทำเรื่องกฎหมาย ก็ควรจะมีความรู้เรื่องกฎหมาย ทั้งกฎหมายเอกชน กฎหมายมหาชน เศรษฐกิจ การค้าการลงทุนด้วย พวกนี้ต้องใช้กฎหมายทั้งนั้น ถ้าไม่เอานักกฎหมายมาร่างกฎหมายมันไปไม่ได้หรอก ถ้านักกฎหมายไม่มีบทบาทตรงนี้ มันก็จะมีแต่โจทย์ มีแต่ปัญหาและผลสำเร็จที่คาดหวัง แต่กระบวนการไม่มี ดังนั้นต้องมีกระบวนการนี้ โดยแผนงานโครงการต้องจัดระเบียบตรงนี้ให้ได้ เพราะทั้งหมดนี้จะวนกลับไปสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้กฎหมายออกมาเพื่อให้รัฐบาลหน้าไปทำ”

เมื่อถามว่าถ้าคณะนิติราษฎร์จะเข้ามาเป็น กรธ.ด้วย เป็นไปได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็สมัครมาสิ แต่พอถึงเวลาก็ไม่อยากเข้ามา ไม่เข้ามา ก็นักการเมืองทั้งนั้นแหละที่พูดๆ จำไม่ได้เหรอ สื่อเขียนข่าวเองเขาบอกไม่มา เป็น สนช.ก็ไม่เอามาร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่เอาใช่ไหม ตนไม่เชิญ อยากมาก็สมัครมา จะไปง้ออะไรนักหนา ก็เปิดโอกาสให้เข้ามาสมัครทั้งหมดนั่นแหละ แล้วอย่ามาบอกว่าไม่เชิญอีกต่อไป

เมื่อถามว่ามีช่องทางให้สมัครอย่างเป็นทางการหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มี เพราะไม่ใช่การเลือกผู้แทน ก็สมัครผ่านสื่อมา ตนก็จะเอารายชื่อมาดูแต่เวลานี้เห็นสมัครกันทุกวัน คนโน้นคนนี้ ผ่านสื่อหรือไม่ก็มีคนให้ข่าวมา ไม่เห็นมีมาสมัครกับตนสักคนมีแต่รายชื่อผ่านสื่อ หรือไม่ก็มีคนให้ข่าวมา เพื่อที่จะเล่นงานคนที่เอ่ยชื่อ ส่วนใหญ่พวกนี้จะไม่ค่อยได้ เพราะโดนตีตั้งแต่ต้น คนไทยเป็นแบบนี้ แต่คิดว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่สื่อก็ต้องช่วยตนตรงนี้ ถ้าขยายความขัดแย้งไปเรื่อยๆ มันก็ไปไม่ได้ จะร่างรัฐธรรมนูญกี่คณะก็ไปไม่ได้ แล้วจะตั้งใครล่ะ มันก็มนุษย์นี่แหล่ะ และต้องเป็นมนุษย์ที่รับฟัง ถ้ามนุษย์ด้วยกันไม่รับฟังมันก็จบไปไม่ได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นกติกาของสังคม ที่ผ่านมาไม่ทำตามรัฐธรรมนูญมีแยะแยะไป ซึ่งมันอยู่ที่จิตสำนึกอยู่ที่ใจของคนเข้าไปทำงาน ถ้าเป็นคนดีเสียสละ ตั้งใจ ดูแลชาติ ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม สร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ประเทศ ก็ไม่ต้องมีกฎหมายเยอะ แค่ศีลธรรม จริยธรรมก็พอแล้ว ไม่มีประเทศไหน มีรัฐธรรมนูญเยอะเท่าประเทศเรา กฎหมายเยอะจริงๆ แต่พอถึงเวลาแล้วแก้ไขอะไรไม่ได้สักอย่าง เพราะทะเลาะกันด้วยเรื่องกฎหมายนั่นแหละคือประเด็น

เมื่อถามว่าได้ทาบทามนายอมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มาเป็นประธาน กรธ.หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เขาป่วยอยู่

เมื่อถามว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานรัฐสภา ได้มีการทาบทามหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ท่านไม่รับแล้วไม่ใช่หรือ ส่วนนายลิขิต ธีรเวคิน อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 นายกฯ ตอบว่า เดี๋ยวมีชื่อ เขาคงเสนอมาเองเพราะให้ทุกคนไปหามา เดี๋ยวก็มาประชุมร่วมกัน จะเอาคนไหนๆก็ว่ามา

เมื่อถามว่าหัวใจของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ต้องแก้ปัญหาประเทศ ในอนาคตได้ และรักษาบ้านเมืองให้สงบ ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ทำให้ประเทศเข้มแข็ง มั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่ควรจะต้องเขียนยาวหลายมาตรา ซึ่งตนเคยพูดมาแล้ว เขาก็ตัดจาก 315 เหลือ 285 ต่างประเทศมีเท่าไหร่ไปดูสิ แต่ไปบอกเอาแบบเขาไม่ได้ ถ้าบอกไปก็เอาเรื่องอื่นมาอีก เรื่องเสรีภาพเต็มที่ ก็เต็มที่กันเข้าไป มันก็ตีอยู่อย่างนี้ล่ะ ในต่างประเทศกว่าจะมั่นคงได้เขาตีกันมาเยอะกว่าเรา ตายกันไปเยอะกว่านี้ ท่านจะเอาแบบนั้นไหม ก็เอาสิ หมดเวลาตนก็ไปแล้ว ถ้าแก้ไม่ได้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

มีรายงานว่า จากกระแสข่าวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ติดต่อมายังนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ให้รับตำแหน่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่นายสุรชัยยังไม่ได้ตัดสินใจแต่อย่างใดเนื่องจากเวลานี้รับผิดชอบงานของ สนช.หลายด้าน โดยเฉพาะการทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนวทาง และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ

ที่รัฐสภา นายสุรชัยให้สัมภาษณ์ว่า ตนยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ ทั้งสิ้น สื่อเป็นคนแต่งตั้งให้ โดยที่ตนก็ไม่ทราบว่าสื่อนำชื่อตนมานำเสนอได้อย่างไร เพราะขณะนี้ตนมีตำแหน่งเป็นรองประธาน สนช.และเป็นคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของ สนช.อยู่ด้วย ตนคิดว่าคนอื่นน่าจะมีความรู้ความสามารถและมีความเหมาะสมที่จะเข้าไปทำหน้าที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าตน สำหรับตนคงทำหน้าที่แค่นำความเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาของ สนช.ไปประสานกับผู้ที่เกี่ยวข้องจะความเหมาะสมมากกว่า ทั้งนี้ ตนคิดว่าคุณสมบัติของคนที่จะเข้ามาเป็นกรรมการร่างฯ นั้น ถ้าได้คนที่มีประสบการณ์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ฉบับปี 2540 2550 และฉบับที่ไม่ผ่าน สปช.ก็จะเป็นประโยชน์

“ต้องไม่ลืมว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจะต้องใช้ทฤษฎีกฏหมาย หรือทฤษฎีทางการปกครอง เพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถได้รัฐธรรมนูญที่ดีและมีความเหมาะสมกับสังคมไทยได้ เพราะ แต่ละความคิดทางทฤษฎีก็มีหลากหลาย และแต่ละทฤษฎีก็มีความเหมาะในสภาพสังคมของแต่ละประเทศด้วย ดังนั้น คนที่จะเป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญนอกจากจะมีประสบการณ์ในเรื่องกฎหมาย การเมืองการปกครอง ก็น่าจะต้องได้คนที่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องของการจัดทำรัฐธรรมนูญในอดีตด้วย รวมทั้งต้องผ่านการศึกษาสภาพปัญหาทางการเมือง สภาพปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญในอดีตมาด้วย เพราะประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นวัตถุดิบทางด้านความคิดที่จะออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้ประเทศไทยได้รัฐธรรมนูญฉบับดีที่สุด” นายสุรชัยกล่าว

เมื่อถามว่า การร่างรัฐธรรมนูญหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับใดมาเป็นแนวทางในการยกร่าง นายสุรชัย กล่าวว่า ถ้าจะให้เห็นภาพการพัฒนาหรือการต่อยอด ควรนำรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่บังคับใช้ คือ ฉบับปี 2550 มาต่อยอดความคิด ซึ่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวตนก็ร่วมเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ด้วย ซึ่งตอนนั้นก็ได้นำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มาต่อยอดเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ดังนั้น การยกร่างฉบับใหม่จึงควรนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาต่อยอดและพัฒนา สิ่งใดที่ดีก็ควรคงไว้ แต่ส่วนใดที่ร่างแล้วคิดว่าดี แต่เมื่อบังคับใช้แล้วไม่ดี หรือไม่สามารถนำไปสู่เป้าหมายและเจตนารมณ์ก็ควรนำมาปรับปรุง และนำความคิดใหม่ๆ ในร่างที่ไม่ผ่าน สปช.มาปรับปรุงเพื่อยกร่างฉบับใหม่

นายอมร วานิชวิวัฒน์ อดีต สปช. กล่าวถึงความคืบหน้าการเเต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ผ่านมาตนได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลหลายคณะ เช่น กรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เคยบอกให้รู้ว่าเราถนัด อยากทำงานด้านกฎหมาย บวกกับการที่เราสมัครเป็น กมธ.ยกร่างฯ ชุดล่าสุดมา แต่ไม่ได้รับเลือก ผู้ใหญ่จึงรู้ว่าเราอยากทำงาน ที่พูดเช่นนี้ ไม่ใช่การเสนอหน้า แต่เรียกว่าแสดงความจำนงชัดเจนไปเลย โดยไม่ต้องรอให้ผู้ใหญ่มาถาม ถ้าตนถูกเสนอชื่อ ไม่ว่าตำแหน่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ปฏิเสธและพร้อม แม้ขณะนี้ยังไม่มีใครทาบทาม แต่ยอมรับว่าได้พูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับผู้ใหญ่มาตลอด ซึ่งผู้ใหญ่ก็ถามว่าอยากทำอะไร เราบอกว่าทำอะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ สอนหนังสือด้านนี้มานานจนมีประสบการณ์ ส่วนกรณีมีคนบอกว่า อดีต สปช.ไม่ควรกลับมาดำรงตำแหน่งใดๆ อีกนั้น กลับคิดว่าเราเป็นผู้ยกมือโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญ หากได้นำข้อบกพร่องที่มองเห็นมาปรับแก้ใส่ในรัฐธรรมนูญ ก็จะเกิดประโยชน์


นายอมร จันทรสมบูรณ์
นายลิขิต ธีรเวคิน
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
กำลังโหลดความคิดเห็น