รองหัวหน้า ปชป.ย้อนอดีต สปช.อ้างคว่ำร่าง รธน.เพื่อให้เวลาทีม ศก.ใหม่ เชื่อไม่ใช่แนวคิด รบ. มองโครงการกระตุ้น ศก.ยังไม่ทำให้ชาติเดินหน้าอย่างทันสมัย “กษิต” มองคนนั่ง กรธ.ต้องมีใจใฝ่ ปชต.โปร่งใส ตรวจสอบได้ แนะ เคลื่อนไหวต่อสู้ควรพิจารณาพิเศษ ย้อนร่างที่ถูกค่ำเหตุไม่ตกลงแนวทางแต่แรก จี้นำมาเป็นบทเรียนศึกษาจากรายงานภาค ปชช.ก่อน
วันนี้ (10 ก.ย.) นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางคนได้อ้างถึงเหตุผลการลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้นว่าเพื่อต้องการเพิ่มเวลาให้แก่ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าการอ้างเหตุผลนั้นไม่น่าจะเกี่ยวโยงกัน การคว่ำร่างหรือไม่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็มีระยะเวลาที่ระบุชัดเจนตามโรดแมปอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นต้องถามกลับไปที่อดีตสมาชิก สปช. ที่อ้างแบบนั้นว่าไปเอาเหตุผลแบบนั้นมาจากไหน
นายเกียรติกล่าวว่า ตนเชื่อว่าการอ้างปัญหาเศรษฐกิจเพื่อมาขายเวลาโรดแมปนั้นคงไม่ใช่แนวคิดของรัฐบาลอย่างแน่นอน เนื้อหาการร่างรัฐธรรมนูญและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นคนละเนื้อหาที่ไม่ควรจะเอามาผูกกัน กรอบเวลาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ในขณะนี้มีเพียงพอที่ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลจะทำงานให้เห็นหน้าเห็นหลังได้ การวางรากฐานทางเศรษฐกิจ มันต้องมีทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย จัดการปัญหาหนี้นอกระบบ และการวางรากฐานที่เป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้ก็มีนโยบายกระตุ้นเอสเอ็มอี มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่กำลังจะออกมา แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้าอย่างทันสมัยได้ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีนโยบายอะไรและต้องคอยให้กำลังใจในส่วนนี้ด้วย
ด้านนายกษิต ภิรมย์ ที่ปรึกษา กปปส. อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผู้ที่จะเข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ต้องมีคุณสมบัติสำคัญ คือ มีจิตใจที่ใฝ่หาประชาธิปไตยที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ตลอดเวลาโดยประชาชน โดยเฉพาะหากเขาได้พิสูจน์ให้เห็นความมุ่งมั่นด้วยการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพอย่างสม่ำเสมอ ก็น่าจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ส่วนที่ร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมาเกิดความล้มเหลว ถูกคว่ำ ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจาก การไม่มีการตกลงถึงแนวทาง หรือทิศทาง ก่อนที่จะรวมตัวกันร่าง จึงเห็นการดำเนินการที่ดูวุ่นวาย สะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง จนสุดท้ายก็กลายเป็นสิ่งที่ใช้งานไม่ได้ เสมือนการให้สถาปนิกและช่างร่วมมือกันสร้างบ้านโดยเจ้าของไม่ได้บอกถึงความต้องการ หรือเลือกแบบเอาไว้ล่วงหน้า
“ดังนั้น ในครั้งใหม่ที่เราจะทำการร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงความล้มเหลวนี้ คสช ควรที่จะได้จัดทำแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นโดยอาศัยจากการศึกษา หรือรายงานจากการนำเสนอของภาคประชาชนต่างๆ แล้วนำเสนอต่อสังคมเสียก่อน และเมื่อประชาชนทราบแล้วว่ามีเรื่องใดที่จะปฏิรูปและชอบใจกับแนวทางของท่าน จึงค่อยให้คณะกรรมการร่างมาดำเนินการให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งจะลดโอกาสที่จะเกิดความสับสนในการดำเนินงาน และทำให้เกิดความรวดเร็วในการร่าง เนื่องจากทุกคนรู้จังหวะ และมุ่งหน้าไปในทิศเดียวกัน ถือเป็นการเพิ่มโอกาสความสำเร็จไปโดยปริยาย” นายกษิตกล่าว