“สมชัย” บอก สปช.ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญตามคาด ชี้เนื้อหาร่างไว้ไกลไป ถ้าปล่อยประชามติจะเกิดความขัดแย้ง แถมกลับมาแก้ก็ยาก แนะเอาฉบับล่าสุดมาโละปมปัญหาออก ชู 4 เรื่องหลัก ที่มานายกฯ-ส.ว.-กรรมการยุทธศาสตร์ และกลไกป้องกันการทุจริต ขอทบทวนแจกใบแดงผู้สมัคร ชมอำนาจพลเมืองเรื่องดี เตือนคนร่างใหม่ฟังเสียงประชาชน ยึดหลักเอาคนโกงให้พ้นวงจรการเมือง
วันนี้ (7 ก.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวกรณีที่สมาชิกสภาปฎิบัติแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ก่อนหน้าแล้ว เพราะเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมีการยกร่างไว้ไกลเกินไป เกรงจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต กระบวนการปรับแก้จึงเป็นสิ่งสำคัญ หากปล่อยให้ไปสู่ขั้นตอนการทำประชามติ โดยส่วนตัวเชื่อว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม
นายสมชัยกล่าวว่า ทั้งนี้หากผ่านการทำประชามติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำได้ยากมาก เพราะเงื่อนไขรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ซับซ้อนหลายขั้นตอน อาจจะเป็นความคิดของ สปช.เองว่าในเมื่อมีสาระสำคัญหลายเรื่อง ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขก่อน ดังนั้นการจะส่งไปทำประชามติทันทีอาจเป็นเรื่องไม่เหมาะสม จึงต้องให้มีกระบวนการในการทบทวน โดยใช้กระบวนการยกร่างขึ้นใหม่ โดยเอาโครงร่างเดิมเป็นหลัก อะไรที่ดีก็คงไว้ตามเดิม อะไรที่เป็นปัญหาให้นำมาพิจารณาทบทวน อาจจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน ก็ถือว่าเป็นกระบวนการคิดที่น่าเหมาะสม เพราะในเนื้อหาสาระที่สำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นความขัดแย้ง ประเด็นที่มีการโต้แย้งเถียงกันว่าเป็นปัญหามีหลายเรื่อง ซึ่งกรรมการยกร่างชุดใหม่ควรจะเอาประเด็นเหล่านี้ไปเป็นประเด็นในการพิจารณา หากไม่เอาเรื่องเหล่านี้ไปพิจารณาแล้ว ผลที่เกิดขึ้นท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นว่า คงต้องยืดระยะเวลาในการปรับแก้ไขออกไปอีก
อย่างไรก็ตาม นายสมชัยมองว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาหลักมี 4 เรื่อง 1. เรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี การเปิดโอกาสให้มีคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นมีความเหมาะสมเพียงไร 2. ที่มาของ ส.ว. มีที่มาจากการสรรหา 123 คน กระบวนการสรรหา วิธิการสรรหา ซึ่งจากเดิมเขียนไว้ค่อนข้างดี แต่มาเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่าในครั้งแรกให้เป็นคณะรัฐมนตรีดำเนินการ จึงต้องพิจารณาทบทวนว่าเหมาะสมหรือไม่ 3. คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) โดยเฉพาะบทบาทหน้าที่ ที่อยู่ในบทเฉพาะกาล หรือรายละเอียดต่างๆในรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ และ 4. กลไกต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ จะสามารถป้องกันคนทุจริต สามารถหลุดออกจากวงการเมืองหรือไม่ คือ เรื่องใบเหลือง-ใบแดง ซึ่ง กกต.เคยทักท้วงการให้ใบแดงใบที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นก่อนการเลือกตั้งหรือก่อนประกาศผลเลือกตั้ง
“ท้ายที่สุดจะเป็นช่องทางให้คนทุจริตสามารถเข้าสู่การเมืองได้โดยง่าย และเอาออกยาก เพราะต้องไปถึง 2 ศาล ศาลที่ 1 คือ ศาลอุทธรณ์ต้องใช้เวลาเป็นปี รวมทั้งขั้นตอนของ กกต.ด้วย และศาลที่ 2 คือ ศาลฎีกา ซึ่งสามารถที่จะฎีกาต่อไปได้ กรณีนี้ก็จะแสดงว่าคนดังกล่าวก็จะสามารถเข้าไปสู่แวดวงการเมืองได้ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นปี ซึ่งคิดว่าเป็นประเด็นที่อยากจะฝากให้กรรมการยกร่างฯ ชุดใหม่ได้พิจารณา หยิบเอาประเด็นสำคัญที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ไปปรับปรุงแก้อีกทีหนึ่ง ส่วนประเด็นใดที่ทำแล้วทำได้ดี เช่น การให้อำนาจแก่พลเมือง เป็นการส่งเสริมสิทธิแก่ประชาชน ของสิทธิสตรี กลุ่มคนต่างๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีแล้วไม่ต้องไปแตะ ก็ถือว่าให้ใช้โครงเดิมไป เพราะฉะนั้นกระบวนการร่างคิดว่า ในระยะเวลา 6 เดือน ก็น่าจะทำให้เกิดผลสำเร็จ ที่สำคัญคือการเปิดรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ที่ผ่านมา กระบวนการในการร่างอาจมีปัญหา เพราะกระบวนการในการรับฟังปัญหา อาจจะรับแล้วไม่ได้นำไปพิจารณาอย่างแท้จริง ดังนั้นควรเป็นบทเรียนของกรรมการยกร่างฯ ชุดใหม่ ที่ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ให้มาขึ้น” นายสมชัยกล่าว
ส่วนที่มองว่า 8 เดือนของการยกร่างฯ จะเป็นการเสียของนั้น นายสมชัยกล่าวว่า เราคงต้องการทำสิ่งที่ดีที่สุด คงไม่โทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่าเกิดปัญหาต่างๆ อย่างไร แต่ก็ถือว่าเป็นบทเรียนร่วมกันว่ากระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ต้องมาจากการฟังเสียงของฝ่ายต่างๆ อย่าคิดว่าตัวเองได้รับหน้าที่ไปแล้วก็จะทำตามความเห็นของตนเองฝ่ายเดียว หากมีโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ก็ถือว่า ต้องใช้โอกาสในการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
เมื่อถามว่า พรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับยกร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีฝ่ายการเมืองเข้ามาร่วมเป็นกรรมการยกร่างฯ ชุดใหม่ นายสมชัยกล่าวว่า ฝ่ายการเมืองเป็นฝ่ายที่มีส่วนได้เสีย อาจต้องฟังความเห็นของเขา แต่ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้คนเหล่านั้นเข้าไปทำหน้าที่ในการยกร่าง เพราะเมื่อใดก็ตามผู้มีส่วนได้เสีย มีส่วนในการยกร่างเอง ก็จะมีการดึงเนื้อหาสาระไปในเชิงเอื้อประโยชน์แก่ตัวเขาเอง ดังนั้นให้มองในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย สามารถที่จะเสนอความเห็นได้ และความเห็นอะไรก็ตาม สิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ ก็นำเอาความเห็นดังกล่าวมาใช้ แต่ว่ากรรมการยกร่างควรมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และมองภาพที่เกิดจากสังคมไทยอย่างแท้จริงว่า เกิดปัญหาอะไรขึ้น และข้อเสนอต่างๆ ทางออกต่างๆ ควรจะเป็นข้อเสนอที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ตามมา
นายสมชัยยังกล่าวถึงข้อเสนอ กกต.ในฐานะรับผิดจัดการเลือกตั้ง ถึงกรรมการยกร่างฯ ชุดใหม่ว่า หลักการสำคัญที่จะต้องยึดถือ คือต้องสามารถเอาคนทุจริตออกจากกระบวนการทางการเมืองให้ได้ อย่าปล่อยให้คนซื้อเสียง คนที่ใช้อำนาจอิทธิพล คนทุจริต สามารถเข้าสู่การเมือง เพราะเมื่อใดก็ตามที่การเมืองเป็นการเมืองที่คนใช้เงินใช้อำนาจเข้าสู่การเมืองได้ คนที่ดี มีความรู้ ความสามารถ ก็จะถูกกีดกันออกไป และเมื่อใดก็ตามที่เขาใช้เงินเข้าสู่การเมือง เขาก็จะใช้การเมืองเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์ตอบแทนกลับคืนมา ก็เรียกว่าเป็นการใช้คืน เพื่อหาทางให้ได้เงินที่ลงทุนไปคืน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้รัฐธรรมนูญต้องออกแบบในการที่จะส่งเสริมคนดีเข้าสู่การเมือง และกันคนที่ทุจริตออกจากการเมืองไทย