รองนายกฯ เผยมีคนเห็นต่าง ม.37 รธน.ชั่วคราวไม่เป็นไร ชี้รัฐ-กกต.เข้าใจอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ยึดทั้งเจตนารมณ์-ตัวอักษร ปัดพลาดยันตั้งใจเขียนแต่อาจสั้นไป แย้มไม่ต้องแก้ รับอยากให้ยุติที่ชั้นกฤษฎีกา ยันให้อิสระ สปช.ลงมติ รธน.ไม่มีส่งซิก แจงใช้ช่อง พ.ร.บ.ความผิดละเมิดของ จนท.ยึดทรัพย์ “ยิ่งลักษณ์” คดีจำนำข้าว เอกชนใช้วิธีฟ้องแพ่งต่อศาล ไม่ทราบปมยึดพาสปอร์ต “จาตุรนต์”
วันนี้ (4 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีการตีความมาตรา 37 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแตกต่างกันว่า ไม่ทราบว่าจะเป็นปัญหาหรือไม่ แต่เคยบอกไปแล้วมีคนเห็นต่างไม่เป็นไร แต่สุดท้ายต้องมีข้อยุติออกมา แต่ในความหมายของรัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้นเข้าใจอย่างไรให้เดินหน้าไปแบบนั้น คนที่เห็นต่างสามารถมีได้ในทุกเรื่อง อย่าไปตำหนิติติง ทุกมาตราในรัฐธรรมนูญที่เขียนหรือกฎหมายที่ผ่านออกมาแล้วมันชวนให้คิดออกมาได้ทั้งนั้น ยิ่งถ้าหากว่าตั้งต้นด้วยจุดยืนที่เห็นต่างกันก็พยายามจะหาช่องได้ ถือเป็นเรื่องธรรมดา
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการตีความที่แตกต่างกันจำเป็นจะยึดเจตนารมณ์หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยึดทั้งเจตนารมณ์และตัวอักษร เพราะตัวอักษรก็ชัดเจนอย่างที่ตนเคยบอกไป เมื่อถามว่า ปัญหาการตีความที่เกิดขึ้นเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราวพลาดหรือตั้งใจเขียนแบบนี้ นายวิษณุกล่าวว่า ตั้งใจเขียนเช่นนั้น อาจจะสั้นไป แต่เราได้เทียบกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ซึ่งเคยมีการลงประชามติ แม้เขียนไม่คล้ายกัน แต่ใช้หลักเดียวกัน
เมื่อถามว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อนทำประชามติหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ต้องแก้ หากว่าเถียงกันแล้วต้องแก้ทั้งหมดมันคงต้องแก้ทุกเรื่อง แต่หากมีคำตอบออกมาว่าที่พูดกันมานั้นผิดก็ต้องแก้ หรือหากตีความออกมาว่าถูกเราก็ใช้ตามนี้ สุดท้ายมันต้องจบลงตรงไหนสักที่หนึ่ง เมื่อถามว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้ให้ความชัดเจนและข้อยุติในการตีความไม่ตรงกันอย่างนี้ นายวิษณุกล่าวว่า หากมีช่องทางไปศาลรัฐธรรมนูญได้ก็ต้องไป แต่เบื้องต้นถ้าไปสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนได้ก็จะหยุดไว้ที่ชั้นนั้น ปัญหาคือใครที่สงสัยก็ส่งเรื่องไป แต่รัฐบาลในขณะนี้ไม่ได้สงสัย
นายวิษณุกล่าวถึงการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 6 ก.ย.ว่า ยืนยันรัฐบาลให้อิสระแก่ สปช.ทุกคน ไม่มีการส่งสัญญาณให้ สปช.รับหรือไม่รับแต่อย่างใด หากมีสัญญาณจริงตนในฐานะผู้ดูแลงานด้านกฎหมายของรัฐบาลจะต้องรับทราบก่อนคนอื่น ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเพียงการปล่อยข่าวลวง หากเป็นสัญญาณจริงจะไม่มีการปล่อยข่าว เพราะถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งนี้ ตนโชคดีอย่างหนึ่งคือไม่ต้องไปโหวตกับเขา ไม่ต้องไปยุ่งและไม่ต้องไปคิด ผ่านก็ได้ ไม่ผ่านก็ได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ถ้าผ่านจะได้ไปลงประชามติ โดยทุกอย่างจะเร็วขึ้น แต่ถ้าไม่ผ่านก็ช้าออกไป
นายวิษณุกล่าวถึงการดำเนินการเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวว่า การเรียกค่าเสียโครงการรับจำนำข้าวแบ่งเป็น 3 พวก คือ 1. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องเพราะเป็นผู้ให้นโยบาย ถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 2. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้คนกระทำ และ3.บริษัทเอกชนทั้งหลายที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดไว้ ซึ่งการดำเนินการเรียกค่าเสียหายมี 3 ช่องทาง คือ 1. ฟ้องแพ่งต่อศาล ซึ่งคือวิธีที่ต้องใช้เงินวางศาล 2. ฟ้องอาญาและเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง เหมือนกับคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้กับบริษัทกฤษดามหานคร ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุกและให้ชดใช้เงิน และ 3. ใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเป็นชั้นๆ จากนั้นสั่งว่าบุคคลดังกล่าวกระทำผิดและสั่งให้ยึดทรัพย์ วิธีนี้หากเกิดความไม่พอใจสามารถร้องศาลอุทธรณ์เพื่อเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการได้ แต่หากไม่ฟ้องแปลว่าพอใจที่จะให้ยึดทรัพย์ ถือว่าจบ
รองนายกฯ กล่าวว่า สำหรับเอกชนจะต้องฟ้องทางแพ่งต่อศาล ทำอย่างอื่นไม่ได้ แต่หากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี เราเลือกใช้ช่องทางที่ 3 โดยตนได้ตรวจสอบแล้วสมัยนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรณีก่อให้เกิดความเสียหายจากการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ในการปกป้องค่าเงินบาทในช่วงระหว่างปี 2539-2540 และคดีทุจริตการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม.ก็ใช้วิธีการเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมูลค่าที่จะต้องเรียกค่าเสียหาย มีการตัดบัญชี ณ วันที่ 30 ธ.ค. 57 ซึ่งเราเอาเท่านี้ก่อน แม้ต่อจากนั้นจะยังมีอีก ตอนนี้รู้คร่าวๆ ว่ามีหลายหมื่นล้านบาท แต่ขอยังไม่พูดเพราะยังไม่รู้ตัวเลขจริง
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องข้าวทำต่อกันมาหลายรัฐบาลจะต้องเอาผิดด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องแยกกันเป็นคดีๆ เวลานี้ถ้าตั้งต้นด้วยเรื่องจำนำข้าวต้องเอาเฉพาะช่วงเวลานั้น เรื่องอื่นค่อยว่ากัน หากจะทำต้องตั้งเป็นคดีใหม่ เพราะช่วงเวลาผิดกัน กฎหมายผิดกัน อำนาจผิดกัน และคนผิดกัน เมื่อถามว่า มีการมองว่าเจตนาของโครงการรับจำนำข้าวเป็นการทำเพื่อชาวนา นายวิษณุ กล่าวว่า ตรงนี้อาจจะเป็นเหตุลดโทษและบรรเทาโทษ แต่เป็นเหตุยกเว้นโทษไม่ได้ เจตนาที่ดีแต่เมื่อวิธีการผิดก็ไม่ได้ คนเราทำอะไรมันต้องมี 2 อย่าง คือ 1. เป้าหมาย และ 2. วิธีการ กรณีนี้อาจเป็นเป้าหมายดี แต่วิธีการมีปัญหา
นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศยกเลิกหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ส่งเรื่องมาให้ว่า ตนไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว ซึ่ง สตช.เป็นผู้ส่งหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการต่างประเทศบอกว่ามีอำนาจ แต่ยังนึกไม่ออกว่ากระทรวงการต่างประเทศใช้อำนาจในส่วนใด