นายกรัฐมนตรีเปิดประชุม “ความร่วมมือด้านแรงงานเพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานอพยพกับการจ้างงาน” เร่งสร้างความร่วมมือด้านแรงงานกับประเทศลุ่มน้ำโขงแบบครอบคลุมทุกมิติ-การศึกษา ฝึกอบรม พัฒนาฝีมือ บริหารจัดการ และแลกเปลี่ยนข้อมูล
ที่ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี วันนี้ (4 ก.ย.) เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวในพิธีเปิดการประชุมความร่วมมือเชิงวิชาการด้านแรงงานระดับรัฐมนตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมือด้านแรงงานเพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานอพยพกับการจ้างงาน” (Enhancing Labour Cooperation on Migration for Employment in CLMTV)
การประชุมความร่วมมือเชิงวิชาการด้านแรงงานกับประเทศเพื่อนบ้านในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านแรงงานและความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีผู้เข้าร่วมระดับรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจาก 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม
ภายหลังพิธีเปิดการประชุมฯ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ว่านายกรัฐมนตรีได้กล่าวต้อนรับคณะรัฐมนตรีที่ดูแลรับผิดชอบด้านแรงงานในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง อันประกอบด้วยประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือเชิงวิชาการด้านแรงงานระดับรัฐมนตรี ซึ่งได้จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย และหวังว่าทุกคนจะได้รับความสะดวกสบายตลอดระยะเวลาที่พำนักอยู่ในประเทศไทย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมากลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงได้มีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงในการส่งเสริมการขยายตัวทางการค้า การลงทุนอุตสาหกรรม การสนับสนุนการจ้างงาน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น และความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีและการศึกษา ทำให้ ณ วันนี้ กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงเป็นแหล่งผลิตที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลก จนมีการกล่าวว่าภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลก รวมทั้งมีวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีมรดกโลกที่สำคัญ ทำให้กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงมีเสน่ห์ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว ดังนั้น นายกรัฐมนตรีมีความคาดหวังที่จะให้เกิดการประชุมร่วมกันระหว่างกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงในทุกๆ กรอบความร่วมมือ เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้
นอกจากนี้ ด้วยแหล่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เชื่อมต่อด้วยแม่น้ำโขงเกือบทุกประเทศ ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกันทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานที่ปรากฏให้เห็นเกือบทุกวัน หัวข้อการประชุมเรื่อง “ความร่วมมือทางด้านแรงงานเพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานอพยพกับการจ้างงาน” จึงเป็นหัวข้อที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันและทันกระแสโลก และเป็นหัวข้อที่อยู่ในกรอบวิสัยทัศน์ของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงทุกประเทศ
จากสถิติแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ประเทศไทยอยู่ในฐานะประเทศผู้รับแรงงาน แรงงานโยกย้ายถิ่นฐานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยถือเป็นกำลังสำคัญต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในลุ่มน้ำโขง นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ความร่วมมือด้านแรงงานเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการร่วมกันพัฒนากำลังคน เพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานของภูมิภาคให้สูงขึ้นและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เวทีการประชุมเชิงวิชาการด้านแรงงานระดับรัฐมนตรีครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะทบทวนความร่วมมือแบบใต้-ใต้ (South to South) ในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านแรงงานทั้ง 5 ประเทศให้เข้มแข็งและมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางในกรอบความร่วมมือด้านแรงงานของไทยกับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงในการร่วมกันหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปในประเด็นสำคัญๆ ที่คั่งค้าง เพื่อผลักดันความร่วมมือในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับแรงงานให้ขยายผลอย่างต่อเนื่องและเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งควรจะต้องให้ความสำคัญ 4 เรื่องด้วยกัน คือ 1. การเพิ่มศักยภาพของกำลังแรงงานในภูมิภาค โดยการยกระดับความรู้แรงงานสู่แรงงานคุณภาพ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และการอบรมฝีมือแรงงานเฉพาะทางเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
2. การโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงาน จำเป็นต้องคำนึงถึงการจัดส่งและนำเข้าแรงงานที่ถูกกฎหมายและเป็นธรรม ถ้าทุกประเทศในลุ่มน้ำโขงทั้งประเทศ ผู้ส่งแรงงานและประเทศผู้รับแรงงานร่วมกันกำกับดูแลในเรื่องนี้จะเป็นแนวทางการป้องกันและขจัดการเกิดปัญหาการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. ความร่วมมือด้านแรงงานต้องครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่การศึกษา การแลกเปลี่ยนข้อมูล การบริหารจัดการแรงงาน การให้การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมไปถึงความร่วมมือด้านการจ้างงานให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) และบันทึกข้อตกลง (Agreement) โดยไทยกำลังดำเนินการจัดทำร่วมกับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงซึ่งมีผู้แทนเข้าร่วมการประชุมอยู่ด้วยในขณะนี้ 4. นายกรัฐมนตรีมีความคาดหวังที่จะเห็นความต่อเนื่องทั้งการประชุมและความร่วมมือกันในทางปฏิบัติในทุกๆ ปี หรือทุกสองปีตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งในด้านการเตรียมบุคลากรที่จะโยกย้ายถิ่นฐาน ขั้นตอนการดำเนินการที่สะดวกรวดเร็ว และทุกคนต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายของประเทศคู่ภาคีทั้งสองประเทศ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของศักยภาพแรงงานก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ตลอดจนกระบวนการรับแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานกลับคืนสู่ประเทศผู้ส่งแรงงาน ให้สามารถกลับเข้าทำงานและอยู่ร่วมกับสังคมของประเทศได้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศและประชาชนในลุ่มน้ำโขง
โดยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยาวนานของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง และความจริงใจที่ประเทศเรามีให้กันจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยสนับสนุนความร่วมมือในด้านต่างๆ ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
ขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการจัดประชุมครั้งนี้ และคาดหวังอย่างยิ่งว่าการประชุมครั้งนี้จะเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม และมุ่งก้าวสู่การเสริมสร้างศักยภาพด้านแรงงานร่วมกัน ตลอดจนเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของภูมิภาค และความผาสุกของประชาชนในลุ่มน้ำโขง