xs
xsm
sm
md
lg

“อักษรา” ตั้งคณะทำงานถกข้อเสนอ “มาราปาตานี” ก่อนส่ง “ประยุทธ์” พิจารณา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อักษรา เกิดผล (แฟ้มภาพ)
หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขตั้งคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอ “มาราปาตานี” ก่อนส่งนายกฯ พิจารณา เผยกลุ่มเห็นต่างยังเกี่ยงไม่รับ 3 ข้อเสนอความร่วมมือในการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดผลดีในพื้นที่ แต่ขอให้ไทยรับ 3 ข้อเสนอของตัวเองก่อน ขณะเดียวกันยังเป็นห่วงเรื่อง “องค์กร และความต่อเนื่อง” ชี้การยอมรับองค์กรในฐานะ “ปาร์ตี้ บี” ของประชาชนในพื้นที่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับแนวทางการต่อสู้ระหว่างความรุนแรงหรือสันติวิธี


พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข กล่าวภายหลังการการเดินทางไปพูดคุยกับคณะตัวแทนผู้เห็นต่างจากรัฐที่ใช้ชื่อว่ากลุ่มมาลาปาตานี 6 กลุ่ม ที่ประเทศมาเลเซีย ว่ายืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามกรอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนบรรลุผลสำเร็จ 2 ประการ คือ 1. กลุ่มผู้เห็นต่างได้มารวมตัวกันครบทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายบนโต๊ะพูดคุย ซึ่งพวกเขายืนยันที่จะใช้แนวทางสันติวิธี โดยการพูดคุยในการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งยืนยันว่าการใช้อาวุธเป็นเพียงการป้องกันตัว เพื่อตอบโต้คนใช้ความรุนแรง 2. การก่อเหตุในช่วงเดือนรอมฎอนลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ

พล.อ.อักษรากล่าวว่า การพูดคุยครั้งล่าสุดนี้ทางนายกฯ ได้เน้นย้ำในเรื่องความจริงใจ ของรัฐบาลไทยที่พร้อมดำเนินการในเรื่องที่กลุ่มเห็นต่างกังวล ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจที่มีต่อกัน ตนได้เสนอความร่วมมือในการทำงานร่วมกันกับผู้เห็นต่างที่จะก่อให้เกิดผลดีในพื้นที่ คือ 1. ความปลอดภัยในพื้นที่ โดยการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ร่วมกับผู้เห็นต่าง เพื่อให้เห็นผลอย่างถาวร โดยจะใช้เสียงของประชาชนเป็นตัวชี้วัด 2.การพัฒนาที่ได้ดำเนินการมากว่า 10 ปีที่ผ่านมาก็ตรงตามความต้องการของผู้เห็นต่าง ตลอดจนความต้องการเร่งด่วน ซึ่งอยากให้ผู้เห็นต่างได้แจ้งความต้องการ แล้วเราจะนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป 3. ความยุติธรรมในพื้นที่จะต้องพูดคุยกันอีกครั้งกับผู้เห็นต่าง แต่ได้ชี้แจงไปแล้วว่าเรามีหน่วยงานที่ดูแลอย่างชัดเจน

พล.อ.อักษรากล่าวว่า ทางคณะพูดคุยฯ และกลุ่มผู้เห็นต่างพยายามเป็นตัวแทนประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) แต่สุดท้ายภาคประชาชนเป็นส่วนสำคัญที่สุดจะเป็นผู้กำหนดว่าจะอยู่กับใคร ทั้งนี้จากการพูดคุยตนได้ขอดูโครงสร้างการรวมกลุ่มของผู้เห็นต่าง แม้ว่ายังไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่โครงสร้างมีลักษณะคล้ายกับของเรา ส่วนข้อเรียกร้องของผู้เห็นต่าง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. ให้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) เป็นวาระแห่งชาติ 2. ยอมรับทีมงานพูดคุย 6 กลุ่ม จำนวน 15 คน และ 3. ยอมรับกลุ่มมาลาปาตานีนั้น ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่าต้องการอย่างไร

ทั้งนี้ กลุ่มผู้เห็นต่างยังไม่รับ 3 เรื่องของคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทยไปพิจารณา โดยระบุว่าให้ฝ่ายไทยรับพิจารณา 3 ข้อเรียกร้องของพวกเขาก่อน ตนมองว่ากลุ่มผู้เห็นต่างมีความเป็นห่วงตัวองค์กร ความชัดเจน และอยากเป็นที่ยอมรับของกลุ่มนักวิชาการและภาคประชาชนซึ่งตนมองว่าถ้าหากกลุ่มผู้เห็นต่างต้องการสร้างสันติสุขจริงๆ มาร่วมมือกันก็ไม่มีปัญหา ส่วนข้อห่วงใยอยากให้ปัญหา จชต.เป็นวาระแห่งชาติ และความต่อเนื่องในการดำเนินการนั้น เราได้ชี้แจงไปว่า เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ส่วนเรื่องความต่อเนื่อง เป็นไปตามนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ปี 2558-2564 ระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นความเร่งด่วนแรกในการแก้ไขปัญหา

“ผมจะตั้งคณะทำงานไปจัดทำรายละเอียดทั้งหมดในเรื่องข้อเสนอของทุกฝ่าย ตลอดจนข้อห่วงใยของกลุ่มผู้เห็นต่างเพื่อเรียนให้นายกฯ รับทราบและเห็นชอบก่อนถึงจะแจ้งให้ผู้เห็นต่างได้รับทราบ ทั้งนี้ เราสามารถอธิบายได้ทั้ง 3 เรื่อง ตราบใดที่ประชาชน นักวิชาการ สื่อมวลชน ยังอยู่กับรัฐบาล และคณะพูดคุยฯ ทั้งนี้ สิ่งที่คณะพูดคุยฯได้เสนอไปทั้ง 3 ข้อ ผมได้ชี้แจงให้นายกฯทราบว่า 3 ข้อดังกล่าวผ่านการวิจัยทางวิชาการที่รองรับชัดเจน โดยยืนยันว่าประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ ทุกศาสนาได้สนับสนุนกระบวนการพูดคุย นั่นเป็นสิ่งยื่นยันว่าประชาชนยืนอยู่ข้างความสันติสุข ซึ่งผมได้บอกไปยังผู้เห็นต่างเช่นกัน”

หัวหน้าคณะพูดคุยฯ กล่าวว่า ขอขอบคุณกลุ่มผู้เห็นต่างที่ให้ความร่วมมือไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา เราพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ตรงความต้องการของท่านในฐานะที่ท่านเป็นผู้เห็นต่างที่อยู่ต่างประเทศ สำหรับการสร้างความจริงใจต่อกันเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ ซึ่งในเมื่อเปิดตัวมาแล้วสถานการณ์จะบวกหรือลบ เรายังไม่ทราบ แต่เราจะต้องพร้อมรับทุกสถานการณ์ให้เป็นบวกต่อฝ่ายเรา และเป็นผลดีต่อประชาชนในพื้นที่ ส่วนการทำสัตยาบันจะต้องได้ข้อตกลงที่ชัดเจนกันก่อนทั้งฝ่ายเรา และกลุ่มผู้เห็นต่างจะต้องร่วมกันร่างก่อนจะลงสัตยาบัน

ด้าน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก กล่าว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แต่งตั้งให้ พล.อ.อักษรามาดำเนินการในคณะพูดคุยสันติสุข โดยในรอบปีที่ผ่านมา พล.อ.อักษราได้ปฏิบัติมาเรียบร้อยและมีความก้าวหน้ามาก ช่วงแรกหลายคนอาจจะใจร้อนมาสอบถามว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ซึ่งตนเคยบอกมาโดยลำดับแล้วว่าทางคณะพูดคุยสันติสุขดำเนินการตามขั้นตอนตามนโยบายของนายกฯ และเป็นประโยชน์ต่อการดูแลปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (28 ส.ค.) ได้มีการเผยแพร่เอกสารของ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อการแถลงข่าวของกลุ่ม มาราปาตานี ที่มาเลเซียวานนี้่ (27 ส.ค.) ว่า การพูดคุยสันติสุขนั้นได้มีการพูดคุยกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่เหตุที่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้นั้น เพราะยังอยู่ในขั้นการสร้างความไว้วางใจ และมีผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในห้วงเดือนรอมฎอน และวันเข้าพรรษาที่ผ่านมา ซึ่งคณะพูดคุยฯ ต้องการให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปฏิบัติศาสนกิจด้วยความเรียบร้อย ปลอดภัย และก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกลุ่มผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม ตนต้องถือโอกาสนี้ขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัด, แม่ทัพภาคที่ 4, ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้นำศาสนา, ผู้นำท้องถิ่น, ท้องที่, นักวิชาการ และภาคประชาชนทุกกลุ่มอาชีพที่ร่วมมือกันสร้างสันติสุขในพื้นที่

พล.อ.อักษราระบุว่า ทั้งนี้การพูดคุยที่ได้ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันนั้น ได้ยึดถือกรอบนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด ทำให้เกิดความก้าวหน้า และทุกครั้งที่คณะพูดคุยฯ ได้มีการพบปะพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างฯ นายกรัฐมนตรีก็จะให้ข้อสั่งการ ข้อเน้นย้ำ และข้อห่วงใยทุกครั้ง โดยครั้งนี้ก็เช่นกัน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้เน้นในเรื่องความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกเรื่อง ตามที่ประชาชนต้องการ และอยากให้กลุ่มผู้เห็นต่างฯ ร่วมมือกับคณะพูดคุยฯ เพื่อนำไปสู่สันติสุขของประชาชนในพื้นที่ให้มีความมั่นคงปลอดภัย

“ผมขอเรียนถึงข้อเสนอของฝ่ายเรา (รัฐบาลไทย) ทั้ง 3 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยของพื้นที่ การพัฒนาในพื้นที่เฉพาะเรื่องสำคัญที่ต้องรีบทำก่อน รวมทั้งการให้โอกาสทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยเท่าเทียมกัน โดยจะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ข้อล้วนทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำเพื่อชื่อเสียงของคณะพูดคุยฯ แต่อย่างใด ดังนั้น ฝ่ายเราจึงต้องการความร่วมมือจากกลุ่มผู้เห็นต่างฯ ช่วยบอกเราว่าต้องการอะไร ตรงไหน อย่างไร เพราะเขามักอ้างเสมอว่าเป็นผู้แทนปวงชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าเป็นจริงก็สมควรร่วมมือกับเรา บอกสังคมไปเลยว่าเราจะทำกันแบบนี้ ประชาชนจะสะท้อนความเป็นจริงออกมาเองว่าเห็นด้วยหรือไม่” พล.อ.อักษราระบุ

พล.อ.อักษราระบุว่า สำหรับโครงสร้างมาราปาตานี และข้อเรียกร้องของเขานั้นเป็นเรื่องปกติที่เขาต้องออกมาพยายามอธิบายให้สังคมเข้าใจ เพราะสาเหตุเกิดจากการที่สื่อมวลชนชอบไปกล่าวถึงเขาบ่อยๆ แต่ไม่ถูกต้องและยังพยายามวิเคราะห์ลงรายละเอียดอีก แต่ก็ยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ดังนั้น เขาจึงต้องออกมาชี้แจง ส่วนข้อเรียกร้องก็เป็นเรื่องที่เขาห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานะขององค์กรเอง คือการให้เรายอมรับองค์กร มาราปาตานี และการเสนอให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ เพราะห่วงเรื่องความต่อเนื่อง รวมทั้งการขอความคุ้มครองทางกฎหมาย เนื่องจากสมาชิกหลายคนยังมีคดีความติดตัว สรุปคือเขาต้องการให้เรารับรองความถูกต้องชอบธรรมของมารา ก่อนนั่นเอง โดยยังไม่ได้กล่าวถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ซึ่งแตกต่างจากข้อเสนอทั้ง 3 ข้อของฝ่ายไทยที่ได้นำเรียนนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว โดยมุ่งเน้นทำเพื่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ

หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ระบุว่า อย่างไรก็ดี คณะพูดคุยฯ ได้มีคำตอบทั้ง 3 ข้อ อยู่แล้ว ดังนี้ คือ การยอมรับในองค์กรนั้น เราให้การยอมรับอยู่แล้วในฐานะ Party B ที่มาร่วมพูดคุยสันติสุข แต่องค์กรจะได้รับการยอมรับจากสังคมหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับแนวทางต่อสู้ขององค์กร ว่าใช้แนวทางใด ระหว่างการใช้ความรุนแรง หรือสันติวิธี ถ้าหากมาราเองยืนยันในแนวทางสันติ ก็ย่อมได้รับการสนับสนุนยอมรับจากประชาชนเช่นเดียวกัน เพราะโดยข้อเท็จจริงประชาชนไม่ได้สนับสนุนคณะพูดคุยฯ ทั้ง Party A และ Party B แต่เขาสนับสนุนแนวทางสันติวิธี (ผลสำรวจความคิดเห็นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในห้วงเดือน ส.ค. 58)

พล.อ.อักษราระบุว่า ในเรื่องขอให้การพูดคุยสันติสุขเป็นวาระแห่งชาติ คงต้องอธิบายอีกครั้งว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้กำหนดนโยบายในเรื่องนี้ให้มีความต่อเนื่องไว้แล้ว (นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2558-2564) โดยคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย (Party A) ก็ล้วนแล้วแต่ประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการในตำแหน่งหลักที่มีความสำคัญ และไม่ติดยึดกับตัวบุคคล เพราะเป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และฝ่าย “มารา” (Party B) ก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องจัดผู้แทนมาร่วมพูดคุยกับเราในจำนวนสมาชิกที่เท่ากัน จึงไม่ต้องห่วงเรื่องการเป็นวาระแห่งชาติ และความต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้ว่าทุกรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด สังเกตจากการมีนโยบาย, มียุทธศาสตร์ และมีคณะกรรมการหลายคณะ ตลอดจนยังได้ตั้งงบประมาณประจำปีไว้อีกด้วยซึ่งถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการเป็นวาระแห่งชาติ

พล.อ.อักษราระบุอีกว่า สำหรับเรื่องสุดท้าย คือ การคุ้มครองให้ความปลอดภัยทางกฎหมาย หรือ “Immunity” ที่พูดถึงกันบ่อยนั้น ในเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม และเกี่ยวข้องกับหลายส่วนราชการ โดยต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพราะจะมีผลทางกฎหมาย และความร่วมมือของส่วนราชการด้านความมั่นคงหลายหน่วยงานที่จะผิดพลาด หรือเลือกปฏิบัติไม่ได้ ทุกคนย่อมได้สิทธิเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายไทย โดยในเรื่องนี้จำเป็นต้องจัดตั้ง Joint Working Group หรือ “คณะทำงานร่วม” ขึ้นมาเพื่อจัดทำร่างรายละเอียดของการดำเนินการให้ตรงความต้องการของทุกฝ่ายต่อไป โดยท่านนายกรัฐมนตรี พร้อมยินดีให้การสนับสนุน

“กล่าวโดยสรุป ผมในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ต้องกราบขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ได้กรุณามอบนโยบาย และให้ข้อสั่งการ ให้คำแนะนำ ตลอดจนข้อเน้นย้ำมาโดยตลอด จนคณะพูดคุยประสบความก้าวหน้ามาโดยลำดับ ที่สามารถดึงทุกกลุ่มทุกพวก และทุกฝ่ายมาอยู่บนโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขได้สำเร็จ และต้องขอขอบคุณ Party B ที่ให้ความร่วมมือ และขอขอบคุณพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกท่านที่ผลสำรวจความเห็นยังให้การสนับสนุนการพูดคุยฯ โดยตัวผมตระหนักดีเสมอว่าประชาชนทุกศาสนา ทุกกลุ่มอายุ และอาชีพในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้นที่จะเป็นคำตอบสุดท้ายต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะทุกฝ่ายต่างล้วนกล่าวอ้างความต้องการของประชาชนในพื้นที่ทั้งสิ้น ดังนั้น ความร่วมมือของพี่น้องประชาชนจึงมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดความสงบสุขอย่างแท้จริง และสุดท้ายคงต้องขอขอบคุณรัฐบาลมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก และสื่อมวลชน” พล.อ.อักษราระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น