ประธานทีมถกไฟใต้เผยพูดคุยสันติภาพไม่ใช่เรื่องใหม่ กำลังรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อกำหนดแนวทาง พร้อมเช็กผู้ก่อเหตุมีอิทธิพลมากน้อยเพียงใดก่อนคุย รอเทียบทางฝั่งมาเลย์ตรงกับไทยหรือไม่ ระบุ “ประยุทธ์” วางแนวทางไว้ 3 ขั้น ต้องมีโรดแมปร่วม วอนสื่ออย่าตกเป็นเครื่องมือผู้ไม่หวังดี
วันนี้ (30 ม.ค.) พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้เผยแพร่คำชี้แจงสื่อมวลชนเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) โดย พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก (ปธ.คปษ.ทบ.) โดยมีเนื้อหาว่า “ผมขอเรียนว่าการพูดคุยไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมาก็มีคนไปพูดคุยกันอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ มีทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน (ส่วนตัว) และภาควิชาการ แต่ถามว่าคุยกับใคร ใครไปคุย คุยเรื่องอะไร แล้วได้อะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหา จชต. คำตอบคือไม่รู้ เท่าที่ทราบคือเป็นการดำเนินงานด้านการข่าว พิสูจน์ทราบตัวบุคคล และรายงานผู้บังคับบัญชาของตนเท่านั้น
เนื้อหาคำชี้แจงของหัวหน้าพูดคุยสันติสุขยังระบุว่า ทีมพูดคุยของตนกำลังรวบรวมข้อมูลทั้งหมดอยู่ การทำงานของตนจำเป็นต้องทบทวนวรรณกรรม เพราะมีคนทำงานนี้มาก่อน ทำให้ต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงมากที่สุด แล้วจึงกำหนดแนวทางในการดำเนินการต่อไป
“ขณะนี้ผมได้หารือในคณะพูดคุยแล้วว่ามีกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงกี่กลุ่ม ใครบ้าง ใครสั่งการ ใครคุมกองกำลัง ใครสนับสนุนยุทโธปกรณ์ และตรวจสอบกับหน่วยในพื้นที่ เพื่อให้ทราบว่ากลุ่มเหล่านั้นมีอิทธิพลมากน้อยเพียงใด ให้ได้ข้อมูลถูกต้องมากที่สุด สำหรับนำเสนอผู้อำนวยความสะดวก ให้ไปดำเนินการเชิญผู้แทนกลุ่มเหล่านั้นมาพูดคุย ผมเชื่อว่าผู้อำนวยความสะดวกก็มีรายชื่ออยู่แล้ว แต่ต้องเอามาเปรียบเทียบ ตรวจสอบให้ตรงกันก่อน แล้วจึงเริ่มดำเนินการให้เขาไปเชิญมาไม่ใช่เขาจัดให้เราไปคุยกับใครก็ไม่รู้ นี่คือเรื่องสำคัญจำเป็นต้องได้กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนเพราะการพูดคุย ไม่เหมือนการตีกอล์ฟ ที่ลงไปเล่นคนเดียวได้จนจบรอบ แต่เหมือนการตีเทนนิส ที่ต้องมีคู่เล่น เพราะเราพร้อมเล่นลงสนามแล้วไม่มีคนตีด้วยก็จบ ได้แต่น็อกกระดานไปจนหมดเวลา แต่ไม่มีผลการแข่งขัน” เนื้อหาคำชี้แจงของ พล.อ.อักษราระบุ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำหนดแนวทางไว้ 3 ระยะ ขั้นตอน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการยื่นข้อเสนอตามความต้องการของฝ่ายตนตั้งแต่ขั้นตอนแรก เพราะทำให้การพูดคุยไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ หากเป็นข้อเรียกร้องสุดโต่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และนำมาสู่การยกระดับความรุนแรงแสดงศักยภาพต่อไป เช่นเดียวกับการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา พอไม่ได้ตามที่เรียกร้องก็กางเต็นท์ปิดถนน เผารถยนต์ ทำลายสาธารณูปโภค เผาสถานที่ราชการ เป็นต้น
พล.อ.อักษรายังบอกว่า การเริ่มต้นจึงมีความสำคัญมาก และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องไม่ส่งผลกระทบกับชีวิตผู้บริสุทธิ์ หรือเป้าหมายอ่อนแอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือสิ่งที่ห่วงใยมากที่สุด เมื่อรัฐบาลไทยพร้อม มีหัวหน้าพูดคุย หัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกพร้อม ผู้แทนกลุ่มต่างๆ ยินดีเข้าร่วมก็เป็นสัญญาณที่ดีแล้วว่าทุกฝ่ายมุ่งสันติสุข ปฏิเสธความรุนแรงอยากพูดคุยหาทางออกร่วมกัน แต่จะทำกันอย่างไรก็มาทำข้อตกลง และหาหนทางปฏิบัติ หรือ Road Map ร่วมกันในระยะที่ 3 โดยต้องไม่ให้เกิดความรุนแรงหรือเกิดการสูญเสียในพื้นที่อีก
“ผมขอเรียนว่าทุกปัญหาของประเทศมีผู้รับผิดชอบ และมีทางออกเสมอ ไม่บวกก็ลบ หรือเสมอตัว ดังนั้นจึงต้องขอเวลาพี่น้องสื่อมวลชนช่วยนำเสนอในสิ่งที่ถูกต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคมให้มากที่สุด ไม่ใช่พอเริ่มต้นทำงานก็มีกระแสข่าวออกมาทันทีว่าไม่ยอมรับอักษรา ไม่อยากได้ทหาร อยากได้พลเรือน ซื้อเวลา ทั้งที่ข้อเท็จจริงเป็นตรงกันข้าม ไม่อยากให้สื่อเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีเหล่านั้น เพราะจะทำให้การแก้ปัญหายุ่งยากมากขึ้น” พล.อ.อักษราระบุ
ทั้งนี้ ประเด็นการพูดคุยในขั้นตอนแรก ในเมื่อทุกฝ่ายยินดีพูดคุยและเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรงแล้ว ทุกฝ่ายจึงค่อยกำหนดแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน เหตุผลสำคัญ คือ การยุติความรุนแรงในพื้นที่ เพราะเป็นสาเหตุทำให้การพัฒนาเข้าไม่ถึง ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, การพัฒนาอาชีพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการศึกษาและอนาคตของเยาวชนที่ต้องการทั้งการศึกษาและการพัฒนาอาชีพที่มั่นคง ไม่ใช่เฉพาะการทำดีมีอาชีพ หรือการจ้างงานเร่งด่วนเท่านั้น
“ผมเห็นตัวอย่างท่านนายกรัฐมนตรีเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมืองด้วยความไว้ใจ และศรัทธา ท่านเอาผลงานความดีของท่านทั้งชีวิตเป็นหลักประกัน ผมก็เดินทางตามแนวทางของท่าน ขอให้ผมได้เป็นตัวแทนพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีคนไทย 65 ล้านคน รวมทั้งสื่อมวลชนให้กำลังใจผมและทีมงานของผมซึ่งประกอบด้วยผู้แทน 10 ส่วนราชการ (สมช., กต., ยธ., กอ.รมน., ทบ. ฯลฯ) ทำหน้าที่สำคัญนี้ให้สำเร็จและเกิดความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนทุกคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนต่อไป” พล.อ.อักษราระบุ