xs
xsm
sm
md
lg

อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา รู้ทัน “ยิ่งลักษณ์” เย้ยมุกเดิมอ้าง กม.เพียงบางส่วน หวังให้สาวกเข้าใจผิดอคติศาลฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา
“ชูชาติ ศรีแสง” ชี้ อสส.ยื่นพยานคดีจำนำข้าวเพิ่มเติมได้ “ยิ่งลักษณ์” ยก ม.5 สู้แต่ดันใช้เพียงบางส่วน ขณะที่ข้ออ้างไม่มีโอกาสตรวจสอบและคัดค้านมาก่อน ก็เป็นการอ้างที่บิดเบือนบทบัญญัติ ม.29 เชื่อมีเจตนาให้บริวารเข้าใจผิด ออกมาโวยวาย หากศาลยกคำร้องที่คัดค้านการอ้างพยานของอัยการสูงสุดหรือถูกศาลพิพากษาลงโทษ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Chuchart Srisaeng ถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบให้ทนายความไปยื่นคำร้องโต้แย้งคัดค้านการยื่นบัญชีระบุพยานของฝ่ายอัยการโจทก์ในคดีรับจำนำข้าว เพื่อคัดค้านพยานบุคคลและพยานเอกสารของอัยการสูงสุดที่มีการเพิ่มเติมมากกว่า 60,000 หน้า ซึ่งอยู่นอกสำนวนและไม่ได้ไต่สวนมาก่อนในคดีนี้ และจำเลยไม่มีโอกาสตรวจสอบและคัดค้านมาก่อน ดังนี้

“พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพ.ศ. 2542 บัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 5 ในการพิจารณาคดี ให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณาและอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร

ในการปฏิบัติหน้าที่ศาลมีอํานาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคํา ตลอดจนขอให้ศาลอื่น พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดําเนินการใด เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้

มาตรา 29 ในวันตรวจพยานหลักฐานให้โจทก์จําเลยส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุต่อศาล เพื่อให้อีกฝ่ายตรวจสอบ เว้นแต่องค์คณะผู้พิพากษาจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น เนื่องจากสภาพและความจําเป็นแห่งพยานหลักฐานนั้น หลังจากนั้นให้โจทก์จําเลยแถลงแนวทางการเสนอพยานหลักฐานต่อองค์คณะผู้พิพากษา

ในกรณีที่มิได้มีการโต้แย้งพยานหลักฐานใด องค์คณะผู้พิพากษาจะมีคําสั่งให้รับฟังพยานหลักฐานนั้นโดยไม่ต้องไต่สวนก็ได้ แต่หากมีการโต้แย้งพยานหลักฐานใดหรือเมื่อศาลเห็นเองให้องค์คณะผู้พิพากษาดําเนินการไต่สวนพยานหลักฐานนั้นต่อไป

ถ้าอ่านกฎหมายซึ่งเป็นภาษาไทยเข้าใจ ก็เห็นได้ว่าบทบัญของมาตรา 5 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ยึดสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณา แต่ศาลก็มีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ ไม่ได้กำหนดให้พิจารณาเฉพาะสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อย่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้าง อันเป็นการอ้างกฎหมายเพียงบางส่วนไม่ครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้

ดังนั้นอัยการสูงสุดย่อมมีสิทธิยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ เพราะแม้อัยการสูงสุดไม่ยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติม ศาลก็มีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใดหรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำได้ตามมาตรา 5 วรรคสอง อยู่แล้ว

ข้อที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างว่า จำเลยไม่มีโอกาสตรวจสอบและคัดค้าน ถือเป็นการเอาเปรียบทางคดีอย่างไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อตนนั้น ตามมาตรา 29 วรรคแรก ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้สิทธิจำเลยตรวจสอบพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งพยานเอกสารและพยานวัตถุอยู่แล้ว จึงเป็นการอ้างโดยบิดเบือนบทบัญญัติของกฎหมาย

ส่วนที่น น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างว่า อัยการสูงสุดเพิ่มเติมพยานเอกสารมากกว่า 60,000 หน้านั้น ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่อัยการสูงสุดจะมีพยานเอกสารเพิ่มจากสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ถึงกว่า 60,000 หน้า แต่สิ่งที่น่าจะเป็นก็คือในชั้นการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ไปตรวจพยานหลักฐานด้วยตนเอง จึงไม่ทราบว่าในสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีเอกสารอะไรบ้าง คงเชื่อตามที่ทนายความบอกว่าเอกสารที่อัยการสูงสุดอ้างไม่มีในสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.มากกว่า

การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกมากล่าวในวันนี้น่าเชื่อว่า มีเจตนาเพื่อให้ผู้สนับสนุนเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างที่ตนอ้าง หากศาลยกคำร้องที่คัดค้านการอ้างพยานของอัยการสูงสุดหรือถูกศาลพิพากษาลงโทษ บริวารทั้งหลายก็จะได้ออกมาโวยวายว่า ศาลสองมาตรฐานและไม่ยุติธรรมดังที่เคยกระทำกันตลอดมาครับ”


กำลังโหลดความคิดเห็น