“ยิ่งลักษณ์” พร้อมทนาย เดินทางมาขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีจำนำข้าวนัดแรก โดยมีสมาชิกพรรคเพื่อไทยและกลุ่มประชาชน ที่สนับสนุน เดินทางมาให้กำลังใจจำนวนมาก ขณะที่เจ้าตัว ลั่น มั่นใจในความบริสุทธิ์ ล่าสุด ได้ปฏิเสธทุกข้อหา ศาลอนุญาตให้ยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน 3 ก.ค. นัดตรวจพยานในวันที่ 21 และ 28 ก.ค. และไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ
วันนี้ (19 พ.ค.) เมื่อเวลา 08.45 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมทนายความ ได้เดินทางมาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นนัดเปิดคดีเป็นครั้งแรก โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย ในความผิดปฏิบัติหน้าที่มิชอบสร้างความเสียหายแก่รัฐตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ที่ละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวสร้างความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กล่าวสั้นๆ ก่อนเข้ารับฟังการพิจารณาคดี ว่า วันนี้ตนมาตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมั่นใจในความบริสุทธิ์
สำหรับบรรยากาศ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีสมาชิกพรรคเพื่อไทย และประชาชนที่สนับสนุน มาให้กำลังใจจำนวนมาก ซึ่งทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน หรือ อคฝ. จำนวน 2 กองร้อย หรือ 300 นาย สนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ในพื้นที่แล้ว
ทั้งนี้ ตามขั้นตอน หลังจากศาลอ่านคำฟ้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็จะให้การระหว่างยอมรับหรือปฏิเสธ ก่อนที่ศาลฎีกาฯจะกำหนดวันนัดสืบพยานหลักฐานต่อไป ทั้งนี้ มีรายงานก่อนหน้านี้ว่า หลังจากศาลอ่านคำฟ้องแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะให้การปฏิเสธขอต่อสู้ทุกข้อกล่าวหา พร้อมยื่นขอประกันตัว ซึ่งทีมทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มั่นใจว่า จะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวแน่นอน เนื่องจากคดีลักษณะนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าศาลไม่ให้ประกันตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาเวลา 10.00 น. นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน ได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่อสอบคำให้การจำเลย โดยศาลได้อ่านสรุปคำฟ้องให้จำเลยฟังโดยสรุปว่า เมื่อระหว่างเดือนสิงหาคม 2554 – พฤษภาคม 2557 จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน และเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จำเลยเป็นนายกฯดำเนินการนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกรวม 5 โครงการประกอบด้วย 1.โครงการรับจำนำข้าวนาปี ระหว่างปี 2554-2555 2. โครงการรับจำนำข้าวนาปลัง ปี 2555 3.โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ระหว่างปี 2555-2556 (ครั้งที่1) 4.โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี2556 (ครั้งที่2) 5.โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556-2557 ซึ่งระหว่างการดำเนินการตามนโยบายโครงการรับจำนำข้าว ได้มีข้อทักท้วงจากหลายหน่วยงาน เช่น ป.ป.ช. สตง. กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และพรรคฝ่ายค้าน โดยให้การทักท้วงว่าโครงการรับจำนำข้าวมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งด้านคุณภาพข้าว การบิดเบือนราคาตลาด และอื่นๆอีกจำนวนมาก ซึ่งจำเลยและคณะรัฐมนตรีจะต้องมีความระมัดระวังรอบคอบ ทุ่มเทเอาใจใส่ในการดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ให้สมเหตุสมผล และมีมาตรการป้องกันความเสียหายด้านเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ แต่จำเลยกลับร่วมลงมติกับคณะรัฐมนตรี โดยงดเว้นมาตรการป้องกันไม่ระงับยับยั้งความเสียหายให้หมดสิ้นไป หรือปรับแก้ไขหลักเกณฑ์ในโครงการรับจำนำข้าว ก่อให้เกิดความเสียหายที่ประเมินเป็นตัวเลขได้และประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้ โดยโจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งมีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2,000 – 20,000 บาท และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 มีโทษจำคุก 1-10 ปี และปรับ 20,000 – 200,000 บาท
จากนั้นนายวีระพล ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้สอบถามจำเลยว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แถลงตอบศาลด้วยสีหน้าเรียบเฉย ให้การปฎิเสธต่อสู้คดี พร้อมแถลงขอยื่นคำให้การที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับสมบูรณ์ไม่เกินวันที่ 3 ก.ค.นี้
ศาลได้สอบถามโจทก์และจำเลยว่าจะนำพยานเข้าไต่สวนในคดีนี้กี่ปาก โดยนายชุติชัย หัวหน้าคณะทำงานอัยการโจทก์ แถลงว่ามีพยานบุคคลจะเข้าไต่สวนรวมจำนวน 13 ปาก ขณะที่นายเอนก คำชุ่ม ทนายความจำเลย แถลงขอนำพยานเข้าไต่สวนไม่ต่ำกว่า 20 ปาก ซึ่งพยานบางส่วนอยู่ในสำนวนของป.ป.ช.และพยานบางส่วนอยู่นอกสำนวน ป.ป.ช.
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การฉบับสมบูรณ์ต่อศาลภายในวันที่ 3 ก.ค.นี้ โดยกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 21 และ 28 ก.ค.นี้ เวลา 09.30 น. ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาลับหลังนั้น ศาลเห็นว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องมาศาลตามนัดทุกครั้ง หากจำเลยไม่สามารถมาศาลในนัดใด ให้จำเลยยื่นคำร้องแสดงเหตุจำเป็นต่อศาลพิจารณาเป็นครั้งคราวไป ขณะที่ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินออกจากศาลฎีกาฯ เพื่อมาขอบคุณประชาชนที่มารอให้กำลังใจอยู่บริเวณรอบนอก ขณะที่ประชาชนได้โห่ร้อง ให้ดอกไม้ ถ่ายรูป และสวมกอดน.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมตะโกนว่า "ยิ่งลักษณ์ สู้ๆ" จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางกลับด้วยรถตู้โฟล์ค เลขทะเบียน ฮน 333 โดยไม่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด
ด้านนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า กระบวนการหลังจากนี้เป็นที่ประจักษ์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ที่จะช่วยเหลือชาวนาพร้อมที่จะแสดงหลักฐานต่างๆต่อศาล ขณะที่กระบวนการพิจารณาของศาลเมื่อสักครู่นั้น ศาลได้อธิบายคำฟ้องให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ฟัง และถามน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า จะให้การปฏิเสธ หรือรับสารภาพ ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ปฏิเสธ โดยจะให้รายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 3 ก.ค.นี้ ศาลจึงได้มีการนัดตรวจพยานหลักฐานไว้ในวันที่ 21 และ 28 ก.ค. เวลา 09.30 น. โดยให้จำเลยมาศาลทุกนัด ซึ่งในวันดังกล่าวนางสาวยิ่งลักษณ์ จะเดินทางมาศาลด้วยตนเองอย่างแน่นอน แต่หากติดติดภารกิจไม่สามารถมาได้ก็จะแจ้งข้อขัดข้องต่อศาลเพื่อขอพิจารณาคดีลับหลัง ทั้งนี้ทีมทนายความได้ยื่นหลักทรัพย์ในการขอปล่อยชั่วคราว เป็นสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพจำนวน 30 ล้านบาท ซึ่งศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
ขณะเดียวกันศาลฎีกาฯ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวแจ้งการเลื่อนนัดวันพิจารณาคดีครั้งแรก คดีหมายเลขดำที่ อม.2/2558 ที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 4 คน เป็นจำเลยที่ 1-4 ความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ที่หน้าอาคารรัฐสภา โดยไม่เป็นไปตามหลักสากล ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย จากเดิมที่กำหนดวันที่ 21 พ.ค.2558 เวลา 09.30 น. โดยให้ยกเลิกวันนัดเดิมและนัดพิจารคดีครั้งแรกใหม่ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ เวลา 09.30 น. เนื่องจากองค์คณะผู้พิพากษาบางท่านติดราชการเดินทางไปต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถขึ้นนั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะในวันดังกล่าวได้