ผบ.สส.พม่าเยี่ยมคารวะ “ประยุทธ์” เชื่อประชุม คกก.ระดับสูงของสองชาติประสบความสำเร็จกระชับสัมพันธ์สองกองทัพทุกระดับ เสียใจเหตุอุทกภัย พม่าขอบคุณอยู่เคียงข้างช่วงลำบาก ซาบซึ้งพระมหากรุณาธิคุณ ย้ำสัมพันธ์ทวิภาคีสองชาติใกล้ชิดทุกระดับร่วมมือต่อเนื่อง พัฒนา ศก.ตามชายแดน จี้ขึ้นทะเบียนแรงงาน แนะมีสายด่วนคุยระหว่างผู้นำ ฝากดูแลนักลงทุนไทย พร้อมแก้หนีเข้าเมือง ยาเสพติด จุดการค้า
วันนี้ (27 ส.ค.) พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสเดินทางเยือนไทยในฐานะแขกของกองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการระดับสูงไทย-พม่า ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 27-29 ส.ค.2558 ภายหลังการหารือ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า ในโอกาสเดินทางมาเยือนไทย และเชื่อมั่นว่าการประชุมคณะกรรมการระดับสูงไทย-พม่าจะประสบความสำเร็จและช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพทั้งสองให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความเสียใจกรณีอุทกภัยในภาคตะวันตกของพม่า โดยภายหลังเกิดเหตุการณ์นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดส่งความช่วยเหลือ ทีมแพทย์ เวชภัณฑ์และสิ่งของบรรเทาทุกข์ต่างๆ ไปให้อย่างเร็วที่สุด
ขณะที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ได้กล่าวแสดงความขอบคุณที่ไทยอยู่เคียงข้างพม่าในช่วงที่ประสบกับความยากลำบาก ตลอดจนรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อช่วยเหลือในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยพม่าได้รับความช่วยเหลือจากไทยรวมทั้งสิ้นในขณะนี้เป็นเงิน 18 ล้านบาท โดยกองบัญชาการกองทัพไทยยังได้ส่งนายทหารจำนวน 50 นายเข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนพม่าในพื้นที่ประสบภัยด้วย ด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีนั้นทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความใกล้ชิดในทุกมิติและทุกระดับ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการประชุมภายใต้กลไกความร่วมมือทวิภาคี โดยไทยยืนยันที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมืออันใกล้ชิดกับพม่าอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางที่ได้หารือกับประธานาธิบดีพม่า
นอกจากนี้ ไทยจะเร่งพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดนที่สามารถเชื่อมโยงกับพม่าและประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงโครงการทวายซึ่งทางฝ่ายพม่ากล่าวว่าต้องการสนับสนุนให้โครงการนี้เกิดขึ้นโดยเร็วเช่นกัน เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ความร่วมมือด้านแรงงาน นายกรัฐมนตรีได้แสดงความประสงค์ที่จะเร่งรัดกระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงาน เพื่อที่รัฐบาลไทยจะได้ดูแลแรงงานเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึงและเพื่อป้องกันการโดนเอารัดเอาเปรียบของแรงงานพม่า ซึ่งพม่ารับที่จะไปเร่งรัดหน่วยงานที่ทำหน้าที่พิสูจน์สัญชาติให้ดำเนินงานให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีการลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อรองรับสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีจัดทำสายด่วน (hotline) ระหว่างผู้นำในระดับต่างๆ เพื่อให้ไทยและพม่าสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
ด้านการค้าการลงทุน นายกรัฐมนตรีเห็นว่าปัจจุบันมีนักธุรกิจไทยสนใจเข้าไปลงทุนในพม่ามากขึ้น จึงฝากให้รัฐบาลพม่าช่วยดูแลนักลงทุนชาวไทย ฝ่ายพม่าเองกล่าวว่าต้องการสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติเช่นกัน และได้ออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติด้วย โดยยืนยันที่จะให้การดูแลนักลงทุนไทยเป็นอย่างดีไทยอย่างดี
ด้านความร่วมมือทางทหาร นายกรัฐมนตรียืนยันที่จะสนับสนุนการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจกับกองทัพพม่าในทุกระดับ เพื่อสร้างความปรองดองและการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-พม่าซึ่งมีชายแดนติดต่อกันเป็นทางยาว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรึกษาหารือกันอยู่เสมอๆ รวมถึงการประชุมคณะกรรมการต่างๆ ในกรอบเรื่องชายแดนเพื่อจะได้ใช้เป็นเวทีในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ และขยายความร่วมมือในด้านที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมกันสร้างความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดน เช่น การแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง การแก้ไขปัญหาผู้หนีภัย การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และการให้ความร่วมมือในการเปิดจุดการค้าชายแดนในทุกพื้นที่
ในตอนท้าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่าได้กล่าวถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และแสดงความเชื่อว่าภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศและมีความสงบเรียบร้อย