กองทัพบก - ผลการประชุมหน่วยขึ้นตรงทหารบกวาระพิเศษ ประจำเดือน พ.ค. 58 ให้ทุกหน่วยสานต่อสร้างความเข้าใจสถานการณ์ของประเทศ และการบริหารงานรัฐบาล เร่งรัดนโยบาย 12 ประการ สานต่อกองทัพมิตรประเทศ พร้อมชื่นชมกำลังพลไปช่วยเหลือแผ่นดินไหวเนปาล สั่งป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ ด้านโฆษก กอ.รมน. เผยไฟใต้ยังมีก่อเหตุต่อเนื่อง ฝากดูแลสถานการณ์ใกล้ชิด จัดเวทีปรองดอง 116 เวที เรียกแกนนำสีเสื้อปรับทัศนคติ 13 จังหวัด 723 คน กำชับแก้โรฮีนจาตาม พ.ร.บ. ค้ามนุษย์
วันนี้ (8 พ.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า วันนี้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก ครั้งที่ 5/2558 (วาระพิเศษ) ประจำเดือนพฤษภาคม โดยการประชุมวันนี้ เป็นการประชุมเพื่อมอบแนวทางการทำงานให้กับผู้บังคับหน่วยจนถึงระดับกองพันที่เพิ่งมีการปรับเปลี่ยนและรับตำแหน่งใหม่ โดยมีการกำชับให้ผู้บังคับหน่วยกำกับดูแลในหลายเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ ให้ทุกหน่วยยังคงสานต่อการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในสถานการณ์ของประเทศและการแก้ไขปัญหาและความคืบหน้าในการบริหารงานของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความเข้าใจในทุกเรื่องอันจะนำมาซึ่งความร่วมมือต่อการเดินหน้าของประเทศไทยไปตามทิศทางที่ทุกฝ่ายคาดหวัง
พร้อมกันนี้ ให้ทุกหน่วยเร่งดำเนินงานให้เกิดความก้าวหน้าตามนโยบายเร่งด่วน 12 ประการ ที่ผู้บัญชาการทหารบกกำหนดไว้ ส่วนการบริหารจัดการภายในหน่วยงานเป็นเรื่องที่ผู้บังคับหน่วยต้องให้ความสำคัญและกำกับดูแลให้เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งการปฏิบัติภารกิจนอกหน่วยที่ได้รับมอบหมาย เพื่อช่วยรัฐบาลดูแลประชาชน อีกทั้ง ต้องระมัดระวังและกำชับดูแลการฝึกของหน่วยในทุกระดับ โดยเฉพาะการฝึกทหารใหม่ ป้องกันการเจ็บป่วยจากความร้อน และมิให้มีการปฏิบัติใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการดูแลทหารใหม่
นอกจากนี้ ให้ทุกหน่วยสานต่อความสัมพันธ์กับกองทัพมิตรประเทศ ทั้งการเยือนของผู้นำกองทัพและการตกลงความร่วมมือทางทหารระหว่างกันในด้านการฝึก การแลกเปลี่ยนผู้ชำนาญการ การจัดตั้งคณะกรรมการร่วม การลงนามในร่างขอบเขตการปฏิบัติงานร่วมกัน รวมทั้งให้หน่วยขึ้นตรงของกองทัพบก ได้เตรียมความพร้อมในการเป็นหน่วยจัดการสาธิตหรือให้การต้อนรับผู้นำกองทัพต่างๆ ที่มาเยือนกองทัพบกด้วย เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกองทัพบกและประเทศไทย
สำหรับภารกิจของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงต่อไป ให้เพิ่มเติม การสนับสนุนงานของรัฐบาลที่สำคัญได้แก่ โครงการมูลพันธุ์กันชนรับซื้อยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ ให้เป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนด คือ รับซื้อยางพาราจากเกษตรกรโดยตรง ตามมาตรการที่เหมาะสม รวมทั้งการให้การสนับสนุนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการทางการปกครองต่อพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกปลูกยางพารา ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดไว้ในปี 2558 รวมทั้งการดูแลที่ดินที่ราชพัสดุที่กองทัพบกขอใช้ประโยชน์และมีการบุกรุก
ผู้บัญชาการทหารบก ยังได้กล่าวขอบคุณและชมเชยกำลังพลที่ไปช่วยเหลือแผ่นดินไหวเนปาลที่ทำหน้าที่ในนามประเทศไทยได้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งความรวดเร็วในการจัดทีมช่วยเหลือ ได้กำชับให้มีการเตรียมทีมบรรเทาสาธารณภัยในลักษณะนี้ พร้อมการจัดทำคู่มือปฏิบัติงานในลักษณะดังกล่าว ทั้งก่อน - ระหว่าง - หลัง ครอบคลุมทั้งด้านการแพทย์ การค้นหา งานช่างฟื้นฟู และการประสานกับส่วนต่างๆ
นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารบกยังได้มอบให้ศูนย์เทคโนโลยีทางทหารกองทัพบกได้ดำเนินการสกัดกั้นและป้องกันภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งให้หน่วยทหารสร้างกำลังพลและเครือข่ายรองรับต่อการปฏิบัติการด้านไซเบอร์ให้มีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมงานด้านความมั่นคง และการดูแลประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
ด้าน พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยว่า กอ.รมน. ได้กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คาดว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงดำรงความพยายามก่อเหตุอย่างต่อเนื่อง จึงขอฝากแม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ควบคุมดูแลสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด การปฏิบัติทางยุทธวิธีให้นำยุทโธปกรณ์พิเศษที่ได้รับมอบมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในการติดตามจับกุมตามกฎหมาย รวมทั้งให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมรับรู้รับทราบ จนเกิดการยอมรับตั้งแต่ต้นเพื่อป้องกันการร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนในภายหลัง
ด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัจจุบันศูนย์ปฏิบัติการอำเภอทั้ง 37 อำเภอ ได้ขับเคลื่อนการใช้ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ในการคุ้มครองเส้นทางและรักษาความปลอดภัยครู เฉลี่ยวันละ 32,000 คน ด้านการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ขอเน้นย้ำให้ยึดหลักความมีเอกภาพเชิงนโยบายอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
การดำเนินงานของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ในห้วงเดือนที่ผ่านมา ได้เปิดเวทีให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ตามโครงการคนไทยหัวใจเดียวกัน 116 เวที ผู้เข้าร่วมกิจกรรม 11,600 คน และการป้องกันแก้ไขไม่ให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นมาใหม่ตามโครงการสร้างความเข้มแข็งสู่การปฏิรูปสังคม ได้จัดเวทีและเชิญแกนนำกลุ่มต่างๆ มาพบปะเสริมสร้างความเข้าใจ 13 ครั้ง ในพื้นที่ 13 จังหวัด ผู้เข้าร่วมกิจกรรม 723 คน
สำหรับการแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮีนจาและการค้ามนุษย์นั้น ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้กำชับให้ทุกส่วนราชการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันโดยใช้อำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ตลอดจนกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมดให้เกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งเน้นการดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้นำพาและนายทุน การจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน การเสริมสร้างเครือข่ายภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติงาน พร้อมกับให้แจ้งกระทรวงการต่างประเทศทราบ เพื่อเป็นข้อมูลในการนำไปชี้แจงให้ต่างประเทศเข้าใจแนวทางการแก้ไขปัญหาของไทยต่อไป