“ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เข้าประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ร่วมกับ 10 ประเทศสมาชิก ที่มาเลเซีย เห็นพ้องภัยคุกคามรูปแบบใหม่ซับซ้อนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องร่วมมือกัน พร้อมร่วมลงนามรับรองปฏิญญาฯ ในหัวข้อ “การดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงและเสถียรภาพเพื่อประชาชนและโดยประชาชน”
วันนี้ (16 มี.ค.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กห. พร้อม พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัด กห. และคณะ ได้เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ร่วมกับประเทศสมาชิก 10 ประเทศ โดยมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ และ รมว.กห.มาเลเซีย เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และมุมมองความมั่นคงของภูมิภาคร่วมกัน โดยทุกประเทศเห็นร่วมกันว่า ภัยคุกคามของภูมิภาคในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนไปมาก โดยภัยคุกคามรูปแบบเดิมลดลง แต่ก็อาจมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ ส่วนภัยคุกคามรูปแบบใหม่มีความเชื่อมโยงและสลับซับซ้อนมากขึ้น อันได้แก่ ภาวะโลกร้อน ภัยคุกคามทางทะเล การก่อการร้าย อาชญกรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด โรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และภัยคุกคามจากไซเบอร์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเทศไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพัง จึงมีความจำเป็นที่ทุกประเทศสมาชิกต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา และกระชับความร่วมมือกันในภูมิภาคให้มากขึ้น การดำเนินการของประชาคมความมั่นคงอาเซียน ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าไปมาก สืบเนื่องจากกลไกความร่วมมือจากการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนที่มีมาเกือบ 10 ปี สามารถขยายความร่วมมือที่กว้างขวางสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันมากขึ้น นำไปสู่ความร่วมมือกันแก้ปัญหาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคร่วมกัน โดยเฉพาะสถานการณ์ภัยคุกคามทางธรรมชาติของภูมิภาคและอุบัติภัยที่เกิดขึ้นกับประเทศสมาชิกที่ผ่านมา ทุกประเทศได้ใช้ทรัพยากรทางทหารในการช่วยเหลือกันแก้ปัญหาและบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดจากความท้าทายของภูมิภาคร่วมกัน เรากำลังเข้าสู่ทางแยกที่สำคัญของการรวมเป็นประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ จึงมีความจำเป็นต้องแน่นแฟ้นและเป็นปึกแผ่น เพื่อเสริมสร้าง กระชับความร่วมมือในด้านต่างๆ ให้มากขึ้น ร่วมกันวางรากฐานความมั่นคง ความปรองดอง สร้างเสถียรภาพ และความปลอดภัยของภูมิภาค โดยใช้แนวทางสันติวิธี ดังนั้น ความร่วมมือระดับพหุภาคีและปฏิสัมพันธ์ทางทหารระหว่างประเทศสมาชิก ร่วมกับภาคประชาสังคม ร่วมกับการเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศเข้าร่วมโดยสมัครใจแและไม่มีข้อผูกมัด จึงมีความสำคัญ เพื่อรักษาสมดุลของอาเซียนกับภูมิภาคอื่น
จากความท้าทายจากภัยคุกคามที่เห็นร่วมกันดังกล่าว พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้เสนอถึงความจำเป็นที่ทุกประเทศสมาชิกต้องผลักดันให้มีการบูรณาการหน่วยงานรัฐในการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือทางทหารทั้งในและนอกภูมิภาค เพื่อเสริมความเข้มแข็งของภูมิภาค โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมโยงของทั้งภูมิภาคด้วยโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมควบคู่กับการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบร่วมกัน โดยประเทศไทยได้สร้างกลไกเชื่อมโยงความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 6 เขตรองรับ ซึ่งจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน และได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงถึงการดำเนินงานตามแผนงานของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยกลับสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์โดยเร็ว พร้อมทั้งได้เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Center of Military Medicine) ขึ้น ในประเทศไทยเพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของกิจการแพทย์ทหารในภูมิภาค ณ กรมแพทย์ทหารบก ประเทศไทย ซึ่งทุกประเทศสมาชิกได้ให้ความเห็นชอบและแสดงความชื่นชมต่อความคิดริเริ่มของไทยในครั้งนี้
โดยก่อนปิดการประชุมที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันรับรองเอกสารดังต่อไปนี้
1. เอกสารแนวความคิดว่าด้วยกองกำลังเตรียมพร้อมอาเซียนด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ
2. เอกสารแนวความคิดว่าด้วยแนวทางในการตอบรับคำร้องขอ เพื่อการพบปะหรือการประชุมอย่างไม่เป็นทางการจากประเทศคู่เจรจา ในกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา
3. เอกสารแนวความคิดว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ฝ่ายไทยริเริ่มเสนอ)
4. การรับรองระเบียบปฏิบัติประจำในการใช้ทรัพยากรทางทหาร ในด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (HADR) ภายใต้กรอบการทำงานตามมาตรฐาน วิธีการปฏิบัติและระบบเตรียมความพร้อมด้านการประสานงานการบรรเทาทุกข์และตอบโต้สถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินของอาเซียน
และท้ายที่สุดได้ลงนามรับรองในปฏิญญาร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ “การดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงและเสถียรภาพเพื่อประชาชนและโดยประชาชน”