xs
xsm
sm
md
lg

“หมอชูชัย” มั่นใจร่าง รธน.ผ่าน สปช. “เสรี” แนะวิธีพิจารณาก่อนตัดสินใจโหวต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ (แฟ้มภาพ)
รองประธาน กมธ. ยกร่างฯ เชื่อร่าง รธน. ผ่านมติ สปช. แน่ ด้าน “เสรี” แนะข้อควรพิจารณาก่อนตัดสินใจโหวตรับ ไม่รับ ขณะที่ “พล.ท.นาวิน” ระบุ ปลดนายกฯทำได้ยาก หากผิดเงื่อนไข คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯมีสิทธิถูกถอดถอน

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนญู คนที่ 6 และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า การชี้แจงคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต่อ สปช. ทั้ง 8 กลุ่ม และ 1 กลุ่ม จากคณะรัฐมนตรี ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยส่วนใหญ่เห็นว่าคำขอส่วนใหญ่ได้รับการแก้ไข อีกทั้ง ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ และ สปช. ได้ร่วมกันบัญญัติหมวดปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม จำนวน 4 มาตรา รวมถึงกำหนดรายละเอียดของการปฏิรูป 17 ด้าน อีก 29 มาตรา จนได้มติเห็นชอบร่วมกันอย่างเป็นเอกฉันท์ ทำให้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน ตนจึงมั่นใจได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับการปฏิรูปประเทศ จะได้รับการสนับสนุนจาก สปช. อย่างแน่นอน

นพ.ชูชัย กล่าวว่า หากพลเมืองไทย จากฐานล่างและทุกภาคส่วนในสังคมร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ไทยจะสามารถปฏิรูปประเทศให้น่าอยู่ที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช. และ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว “เสรี สุวรรณภานนท์” เรื่อง ประเด็นการพิจารณาเห็นควรรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญโดยเสรี ระบุว่า ในการจะพิจารณาว่าเห็นควรตัดสินใจลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ อย่างไรนั้น อย่างน้อย สปช. ควรมีเหตุผลในการพิจารณาเกณฑ์ประเด็นในการตัดสินใจว่า ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีเนื้อหาสาระที่พอจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นอย่างน้อยอย่างไร โดยควรพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

รูปแบบร่างรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาสาระเพราะ ยิ่งมีรายละเอียดมาก ยิ่งมีความขัดแย้งมาก, ร่างรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ พิจารณาที่มาของนายกรัฐมนตรี และเสถียรภาพรัฐบาล, ประชาชนเป็นใหญ่อย่างที่นำเสนอหรือไม่, การแก้ปัญหาการเลือกตั้งประเด็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ควรมีหรือไม่ องค์ประกอบคณะกรรมการ ที่มา และควรมีอำนาจหน้าที่ อย่างไร, ระบบการตรวจสอบอำนาจทางการเมือง เหมาะสมหรือไม่, แนวทางการปฏิรูปประเทศควรบัญญัติไว้ในลักษณะใด และการให้มีการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ให้ยั่งยืน ควรเป็นลักษณะใด, การแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และมีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็งอย่างไร, กระบวนการยุติธรรม การสร้างความเป็นธรรม การแก้ปัญหาสองมาตรฐานและการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ได้หรือไม่, ร่างรัฐธรรมนูญ สร้างความมั่งคั่งอย่างที่กล่าวอ้างหรือไม่, ตามบทเฉพะกาล มีการแก้ปัญหาประเทศในสถานการณ์ปัจจุบันได้หรือไม่ อย่างไร

ด้าน พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ โฆษก กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงอำนาจพิเศษของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติในร่างรัฐธรรมนูญ ต่อประเด็นของการปลด เปลี่ยนนายกฯ กรณีที่เกิดภาวะรัฐล้มเหลวเหมือนเหตุการณ์ที่ผ่านมา ว่า เป็นได้ยากที่จะมีการปลดหรือเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เพราะต้องผ่าน 1 ประธานศาลรัฐธรรมนู ญและประธานศาลปกครองสูงสุด และต้องได้รับมติเห็นชอบคณะกรรมการยุทธศาตร์ชาติ ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการที่มีอยู่ด้วย

ทั้งนี้ หากมีการใช้อำนาจพิเศษ จะถือเป็นการเปิดสมัยประชุมรัฐสภา และ ส.ส. หรือ ส.ว. สามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ได้ รวมถึงให้สิทธิในการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วย โดยหากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ทำผิดศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยความผิดได้ตามรัฐธรรมนูญ อาทิ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ มีสิทธิถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ส่วนการส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญแก่ สปช. ทาง กมธ. ยกร่างฯ มั่นใจทำเต็มที่และดีที่สุดสำหรับทุกคน เราเหมือนสถาปนิกออกแบบบ้านที่เหมาะสมแก่ทุกคนในบ้าน แต่จะให้ถูกใจทุกคนเป็นไปไมได้

นายสิระ เจนจาคะ สมาชิก สปช. กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (23 ส.ค.) เวลา 15.00 น. ตนจะนำร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับไปมอบให้กับพระพุทธอิสระ ที่วัดอ้อน้อย เพื่อให้ได้พิจารณาพร้อมกับประชาชน ภายในงาน “พุทธอิสระพบประชาชนโหวตร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งจะมีการสอบถามความพึงพอใจของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และสมควรรับร่างหรือไม่ ถ้าประชาชนเห็นด้วยเชื่อว่าการลงประชามติคงไม่มีปัญหา แต่ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย ตนในฐานะสมาชิก สปช. จะลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น