xs
xsm
sm
md
lg

“มานิจ” ชี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ปลดนายกฯ ไม่ง่ายเหตุมีหลายเงื่อนไข

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มานิจ สุขสมจิตร (แฟ้มภาพ)
รองประธาน กมธ. ยกร่างฯ ระบุคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ปลดนายกฯค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เหตุมีหลายเงื่อนไขที่จะทำได้ ขณะที่ “พล.ท.นคร” มั่นใจร่างรัฐธรรมนูญ ผ่าน สปช. ฉลุยเกิน 200 เสียง

นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวยืนยันในหน้าที่พิเศษของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ในร่างรัฐธรรมนูญ ต่อประเด็นของการปลดนายกรัฐมนตรี กรณีที่เกิดภาวะรัฐล้มเหลวเหมือนเหตุการณ์ที่ผ่านมา ว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะนายกฯ คือ ผู้ที่มาจากการเลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน อีกทั้งตำแหน่งนายกฯ ถือเป็นตำแหน่งที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แต่ยอมรับว่าในที่ประชุม กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ช่วงที่พิจารณาเรื่องดังกล่าวมีผู้ที่ยกประเด็นซักถามว่าการเสนอให้ปลดนายกฯ ทำได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายว่าขั้นตอนการเสนอนั้นสามารถทำได้ แม้แต่ประชาชนเสนอก็สามารถทำได้ แต่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่ต้องพิจารณาบนเงื่อนไข ได้แก่

1. ความจำเป็นเรื่องรักษาความเป็นเอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน 2. ป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ และ 3. เกิดความขัดแย้งอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ซึ่งการดำเนินการปกติขอสถานบันทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญและคณะรัฐมนตรีไม่อาจดำเนินการเพื่อยุติได้ และต้องมีขั้นตอน คือ 1. เมื่อพิจารณาเข้าเงื่อนไข ต้อปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด 2. การลงมติเห็นชอบกับการดำเนินการต้องมีการลงมติจากคณะกรรมการ ซึ่งต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยก่า 2 ใน 3 ของกรรมการที่มีอยู่ด้วย ทั้งนี้ ยังมีมาตรการควบคุมการใช้อำนาจพิเศษ โดยรัฐสภา เพราะกำหนดให้เมื่อมีการใช้อำนาจพิเศษ จะถือเป็นการเปิดสมัยประชุมรัฐสภา และ ส.ส. หรือ ส.ว.สามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ได้ รวมถึงให้สิทธิในการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วย

นายมานิจ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ตามร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดอาจหน้าที่หลักที่สำคัญ คือการขับเคลื่อนการปฏิรูป ด้วยการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปฏิรูป นำข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบูรณาการให้สามารถพัฒนาประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน, ดำเนินการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ระหว่างคู่ขัดแย้ง, ตรวจสอบและไต่สวนการไม่ปฏิบัติตามแผนหรือขั้นตอนที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และเสนอเรื่องความพร้อมเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยการไม่ปฏิบัติตามแผน หรือขั้นตอนการปฏิรูป เป็นต้น

ด้าน พล.ท.นคร สุขประเสริฐ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเปิดโอกาสให้สมาชิก สปช.ที่เสนอคำแปรญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 8 กลุ่ม และ ครม. มารับฟังคำชี้แจงแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19 - 20 ส.ค. ที่ผ่านมา ว่า หลังจากที่ กมธ. ยกร่างฯ ได้ชี้แจงเหตุผลการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ ให้สมาชิก สปช. กลุ่มต่าง ๆ ที่ขอแปรญัตติแก้รัฐธรรมนูญฟังแล้ว ส่วนใหญ่เข้าใจเหตุผลของกมธ.ยกร่างฯ ทำให้มั่นใจว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบจาก สปช. ขณะนี้เชื่อว่า เสียง สปช. ที่จะสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญน่าจะมีเกิน 220 เสียงแล้ว จากเดิมที่มั่นใจว่า มี 200 เสียง


กำลังโหลดความคิดเห็น