xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ คาดสัปดาห์นี้รู้ ส.ว.สรรหาหมดหรือไม่ เร่งวางรูปแบบ กก.ยุทธศาสตร์ - สภาขับเคลื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คาดได้ข้อสรุป ส.ว.สรรหาหมดหรือผสมผสานสัปดาห์นี้ ยันไม่มีแรงกดดันจาก คสช. เผย กมธ.อยากได้พหุนิยม ให้แตกต่างจาก ส.ส. ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูป ไม่เกี่ยวกับสภาขับเคลื่อนฯ ระบุไม่อยากให้เป็นกลไกที่อยู่เหนือใคร ดีเดย์เห็นร่างฯ แน่ 23 ส.ค.

วันนี้ (6 ส.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญว่า ภายในสองสัปดาห์นี้อะไรที่เป็นปัญหาต้องตัดสินใจให้ได้ทั้งหมด โดยวางว่าจะเริ่มพิจารณาในวันที่ 10 และ 11 สิงหาคมนี้ เป็นหลัก เช่นเรื่องที่มาของ ส.ว.ว่าจะมาจากสรรหาอย่างเดียว หรือแบบผสมผสาน ต้องหารือกันและคาดว่าน่าจะได้บทสรุป พร้อมกับยืนยันว่าไม่มีแรงกดดันจาก คสช.ให้ที่มา ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด

นายคำนูณกล่าวว่า กรรมาธิการฯ ต้องการให้ที่มา ส.ว.เป็นแบบพหุนิยม คือ มาจากหลากหลายอาชีพซึ่งไม่มีโอกาสเข้ามาจากการเลือกตั้ง จึงออกแบบให้มีการสรรหา 123 คน ส่วนเรื่อง ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งก็เป็นตัวแทนจังหวัดมีเสียงเรียกร้องว่า ควรมีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งด้วย แต่ก็มีความเห็นแตกต่างจากหลายฝ่ายว่าในส่วนสรรหาควรจะมีรูปแบบอย่างไรจากที่กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา 4 ชุด ก็ยังมีวิจารณ์ว่าไม่เหมาะก็คงต้องมาพิจารณาอีกที ดังนั้น เรื่องหลักการ “พหุนิยม” คือมี ส.ว.ทั้งจากสรรหาและเลือกตั้งไว้ เพราะถือว่าเป็นเจตนมรมณ์หลักให้มีความแตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎร โดยให้สะท้อนความหลากหลายของสังคม แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนเรื่องวิธีการสรรหา

นายคำนูณกล่าวด้วยว่า ประเด็นสำคัญที่จะมีการพิจารณา คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูป เพราะไม่เคยมีมาก่อน แต่คณะกรรมการชุดนี้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับสภาขับเคลื่อนฯ ตามที่มีการแก้ไขในรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยต้องมีการระบุในบทเฉพาะกาลว่าจะทำหน้าที่เท่ากับวาระของ สปช.เดิม ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องคิดต่อ คือ สภาขับเคลื่อนฯ ที่จะตั้งใหม่ในรัฐธรรมนูญใหม่ควรจะเป็นอย่างไร รวมถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งจะใช้ตัวแบบคำแก้ไขของ ครม.ขอมา 20 คน ก็บวกลบประมาณนื้ โดยไม่อยากให้เป็นกลไกให้อยู่เหนือใครทั้งสิ้น เพราะจะมีนายกรัฐมนตรีและประธานสภาฯรวมอยู่ด้วย ไม่ให้ใครมีอำนาจอยู่เหนือใคร เพราะมีเสียงสะท้อนว่ากลไกนี้จะกลายเป็นการสร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐจึงอาจปรับเปลี่ยนเพื่อให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมแต่จะออกแบบอย่างไร มีวิธีการทำงานแบบใด ยังต้องหารือในที่ประชุมให้ได้ข้อสรุปก่อน

นายคำนูณ กล่าวว่า สำหรับร่างสุดท้ายจะเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้หลังวันที่ 23 สิงหาคม หลังจากส่งให้ สปช.ในวันที่ 22 สิงหาคม โดยยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุด น้อมรับผลที่ออกมาทุกประการ

ด้าน นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่2 เปิดเผยว่า การประชุม กมธ.ยกร่างฯในวันที่ 10 - 11 ส.ค.นี้จะประชุมลับเพื่อพิจารณาเรื่องที่ค้างการพิจารณาโดยเฉพาะเรื่องที่มา ของ ส.ว. ซึ่งจะดูในส่วนของเนื้อหาและบทเฉพาะกาล โครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองประเด็นปัญหาที่ขอให้ทบทวนการใช้ภาษีบาปโดยตรงของสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.)โดยกมธ.ยกร่างฯกำหนดจะส่งร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ เพื่อให้สมาชิกนำไปศึกษาใน15วันก่อนลงมติ ทั้งนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะมีทั้งหมด 285 มาตราหรือไม่ เพราะการพิจารณาในช่วง 1 - 2 วันนี้ เชื่อว่าเลขมาตราน่าจะเคลื่อนไปอีก เพราะมีบางมาตราได้นำไปไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่จำเป็น

นายมานิจ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีสมาชิก สปช.ออกมาขู่จะลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนตัวเชื่อว่าสมาชิก สปช.จะใช้วิจารณญาณและวุฒิภาวะในการตัดสินใจลงมติ โดยไม่กังวลแม้ผลออกมาจะว่าไม่เห็นชอบ เพราะตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2558 แก้ไขเพิ่มเติมก็ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)แต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คนขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญและเชื่อว่าจะนำข้อเสนอขอ สปช.มาพิจารณาในร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนกมธ.ยกร่างฯจะมีการแถลงเนื้อหาภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายหรือไม่นั้น ก็คิดว่าจะสามารถทำได้ โดยหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจาก สปช.ทางกมธ.ยกร่างฯก็จะต้องชี้แจงให้ประชาชนรับทราบก่อนออกเสียงประชามติ


กำลังโหลดความคิดเห็น