ประธาน กมธ.ยกร่างฯ รับภาพรวม รธน.มีทั้งพอใจ-ไม่พอใจ เปรียบดูนางงามต้องดูทั้งหมด ไม่ใช่ไม่พอใจ 2-3 เรื่องแล้วบอกไม่ได้ แนะดูว่าเหมาะสังคมไทย ปชช.ได้ประโยชน์หรือไม่ แจงมี 2 ส่วนแก้ปัญหาอดีตที่ขัดแย้ง ปฏิรูปไปในอนาคต ขออย่าเชื่อการชักนำ น้อมรับคำตัดสิน ปชช. ยกประชามติคือคำพิพากษาสูงสุด ชี้อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านเป็น ปชต.เต็มที่ เล็งทำรายงานเผยประเด็นใน รธน.ที่ทำตาม ปชช.
วันนี้ (21 ส.ค.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวผ่านรายการมองรัฐสภา ทางสถานีโทรทัศน์รัฐสภา ถึงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญที่มีทั้งผู้พอใจและไม่พอใจกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญว่า เมื่อพิจารณาอะไรต้องพิจารณาบูรณาการทั้งหมด เหมือนกับดูนางงามจักรวาลที่ต้องดูทั้งหมดจึงจะเห็นความสวย แต่หากผ่าเอาลำไส้ หัวใจ หรือหนองของนางงามจักรวาลมาดูจะสวยอย่างไร ดังนั้น คิดว่าสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่จะลงมติรับหรือไม่รับ และคนส่วนใหญ่ที่จะลงประชามติ ต้องดูภาพรวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ไปได้ในทัศนะของท่าน งามพอที่จะรับได้หรือไม่ ไม่ใช่ว่าไม่พอใจ 2-3 เรื่อง แล้วก็บอกว่าไม่ได้ เพราะ 65 ล้านคนมี 65 ล้านความคิด
“หากนำทั้งหมดมาเขียนเป็นรัฐธรรมนูญคงได้หลายเล่มสมุดไทยทีเดียว ดังนั้นต้องใช้วิจารณ์ญาณดูภาพรวมว่า 1. คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่เหมาะกับสังคมไทยหรือไม่ มีปัญหาของบ้านเมืองแล้วพยายามแก้ไขปัญหาหรือไม่ และ 2. มีสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน และบ้านเมืองหรือไม่ซึ่งเราต้องมองอดีตและอนาคตด้วย เพราะคนที่อยู่กับอดีตแล้วจะแก้แต่ปัญหาในอดีตก็ไปไม่รอด แต่ปัญหาที่เกิดในอดีตแล้วไม่แก้ บ้านเมืองก็ไปไม่ได้” นายบวรศักดิ์กล่าว
ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้มี 2 ส่วน คือ 1. การแก้ปัญหาในอดีต เช่น ความขัดแย้ง โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ที่ร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจกำกับการปฏิรูป เพราะหากไม่มีคนดูแล พรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง พอเลือกตั้งเสร็จก็ทำตามนโยบายของเขาไม่สนใจปฏิรูป นอกจากนั้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต้องการความปรองดองใครจะทำหากรัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง และหากเกิดขัดแย้ง วางระเบิดหลายจุด มีชุมนุม มีจลาจล ซึ่งรัฐบาลดูแลไม่ได้ก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ ถ้าไม่ฉีกจะมีกลไกอะไรมาดูแล เราคิดว่ากรรมการยุทธศาสตร์ฯ นั้นจะมาดูแล และ 2. และไปในอนาคต การปฏิรูปบ้านเมืองจำเป็นมากทั้งระบบราชการ การศึกษา พลังงาน การเมือง สิ่งเหล่านี้คือการสร้างอนาคตให้ลูกหลานทั้งหมด
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ดังนั้นการดูร่างรัฐธรรมนูญต้องดูเหมือนดูนางงาม อย่าไปผ่าท้องเอาไส้มาดู หรือหากดูป่าด้วยการดูต้นไม้ทีละต้นไม่ดูทั้งป่า ไม่ดูความอุดมสมบูรณ์ก็จะเห็นแต่รายละเอียด ดังนั้น รัฐธรรมนูญก็ต้องดูภาพรวมว่าแก้ปัญหาในอดีตได้หรือไม่ แผ้วถางทางสร้างอนาคตหรือไม่ หากดูครบแล้ว แม้มีบางประเด็นที่ไม่เห็นด้วย หนักหนาสาหัสถึงขนาดไม่รับหรือไม่ อย่าไปเชื่อการชักนำของคน ควรฟังทุกฝ่าย แล้วอ่านตัวร่างรัฐธรรมนูญเอง ตัดสินด้วยตนเองว่าเอาหรือไม่เอา เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินร่างรัฐธรรมนูญในกระบวนการลงมติ เป็นสัญญาประชาคมจากประชาชนที่แท้จริง
“ผมน้อมรับคำตัดสินของประชาชน และเชื่อว่านักการเมืองที่พูดและอ้างประชาชนตลอดเวลาต้องรับคำตัดสินของประชาชนด้วยเช่นกัน เพราะผลประชามติคือคำพิพากษาที่สูงสุดสำหรับประเทศ ประชามติจะทำให้รัฐธรรมนูญสิ้นผลหรือมีชีวิต ประชามติจะทำให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เป็นสัญญาประชาคมของคนไทย ไม่ได้ลอกฝรั่ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบตะวันตก ไม่ต้องมานั่งพูดกันเลย เพราะประชาธิปไตยแบบนั้นเราผ่านมาในปี 40 และ 50 แล้วก็รู้ว่าเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันการปกครองอย่างวันนี้ ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ไม่เป็นที่ยอมรับ แต่เราอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยเต็มที่มาเป็นรัฎฐาธปัตย์ ขณะนี้เราจะเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยเต็มที่ จะเอาตรงกลางฉบับเปลี่ยนผ่าน ในบทเฉพาะกาลคือฉบับเปลี่ยนผ่านใช้เวลาไม่เกิน 5 ปี” นายบวรศักดิ์กล่าว
ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวด้วยว่ากำลังจะทำรายงานฉบับหนึ่ง โดยมีนางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ร่างฯ เป็นผู้จัดทำ โดยจะนำรายละเอียดผลการสำรวจความเห็น และความเห็นของประชาชนที่เสนอเกี่ยวกับการเขียนรัฐธรรมนูญ มาระบุไว้เพื่อให้ประชาชนเห็นว่ามีประเด็นใดบ้างที่เป็นข้อเสนอของประชาชน แล้ว กมธ.ยกร่างฯ รับมาบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ