นายกรัฐมนตรีรับยังห่วงสถานการณ์น้ำแม้ฝนตก แต่น้ำในเขื่อนยังน้อย อย่าเพิ่งประมาท หวังเก็บให้ถึงปีหน้า ให้มหาดไทยใช้งบจังหวัดละ 10 ล้าน จ้างงานสร้างสิ่งที่จะเกิดประโยชน์ บอกประกันภัยนาข้าวให้ได้ตามกฎหมาย ขอ 5 พันต่อไร่ ไม่รู้จะเอาเงินจากไหน เหตุงบมีจำกัด มีปัญหาการเงิน พร้อมช่วยลดต้นทุนผลิต จ่อปรับโครงสร้างใหม่ให้สะท้อนความเป็นจริง ลั่นเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แต่ต้องตีกรอบให้ชัด ตรงไหนได้ไม่ได้ ส่วนงบเบิกจ่ายเกินเป้า แต่มีหลายโครงการทำสัญญาไม่ทัน จ่อฟื้นบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน
วันนี้ (11 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.40 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ยังเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์น้ำ แม้ว่าจะมีฝนตกลงมาก็มีปริมาณน้ำเพิ่มมาในเขื่อนอีกไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนยังมีน้อยอยู่ อย่าเพิ่งประมาท ยังเป็นห่วงเรื่องการเพาะปลูก การทำนาปรังในรอบหน้า อยากให้มีการเก็บน้ำให้ถึงปี 2559 และขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศ และการชี้แจงสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ขณะที่การพิจารณาการช่วยเหลือเบื้องต้น ในส่วนกระทรวงมหาดไทย จะใช้งบประมาณจังหวัดละ 10 ล้านบาท ในการจ้างงานเพื่อให้เกิดรายได้และสร้างสิ่งที่จะเกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคต เช่น แหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก
นายกฯ กล่าวอีกว่า ในส่วน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะสนับสนุนเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปลูกพืช เพื่อให้มีการเรียนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปในวันหน้า และวันนี้ได้พิจารณาและให้หลักการ การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่จะเป็นคนละเรื่องกับการประกาศภัยแล้ง เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับ โดยขณะนี้เราจะช่วยเหลือ คือ การประกันภัยนาข้าวในราคา 1,113 บาท, มาตรการการสมทบเงินโดยร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้เงินสมทบเพิ่มเป็น 2 เท่า ในรอบต่อไป ขณะนี้เรื่องการประกันภัยนาข้าว ประกันราคาข้าวมีคนสนใจมากกว่าปี 2556 - 2557 เราคงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องชาวไร่ชาวนา เพราะรัฐบาลจะสามารถให้เงินได้ตามกฎหมายกำหนดไร่ละ 1,113 บาทต่อไร่ และไม่เกิน 30 ไร่ แต่จะมาขอไร่ละ 4 - 5 พันบาท รัฐบาลไม่รู้จะเอาเงินจากไหนมา ตอนนี้งบประมาณรัฐบาลมีจำกัด การเงินของเรามีปัญหาพอสมควร ส่วนการขยายพื้นที่ประกันภัยนาข้าวในพื้นที่แล้งซ้ำซากนั้นของเดิมมีอยู่แล้ว แต่มีการขยายพื้นที่และวงเงินให้เอกชนที่รับประกันภัยมาร่วมด้วย ถ้าทุกคนเพิ่มเงินประกันตรงนี้ น่าจะสามารถเพิ่มได้อีกส่วนหนึ่ง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ รัฐบาลจะช่วยเรื่องการลดต้นทุนการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย ยา เครื่องมือการทำเกษตรกรรมแผนใหม่ พร้อมทั้งจะลดค่าเช่านา ทั้งหมดนี้เราต้องการสร้างระบบ ปรับโครงสร้างการเกษตรใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของน้ำที่เรามีอยู่ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน และในยามที่น้ำน้อยก็ต้องปลูกพืชใช้น้ำน้อย จากที่ตนได้รับทราบจากการรายงาน และอ่านจากหนังสือพิมพ์ พบว่า มีเกษตรกรหลายรายที่ช่วยตัวเอง ทั้งด้านการลงทุน การปรับวีธีการปลูก เช่น การปลูกมันสำปะหลัง แล้วได้ผลผลิต รายได้เพิ่มขึ้นหลายตัว เรื่องแบบนี้ตนอยากให้ช่วยกันขยายผล
“มาตรการการช่วยเหลือรัฐบาลอยากทำให้ แต่ยังติดขัด ไปทำมากไม่ได้ เพราะตอนนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ไม่ใช่ภัยแล้งทั้งประเทศ เดี๋ยวจะผิดกฎหมาย แต่การช่วยเหลือจะมี คือ 1. สำหรับผู้ที่ได้ไม่เชื่อฟังแต่ดำเนินการปลูกจนเกิดความเสียหาย 2. ที่เชื่อฟังพร้อมกับเลื่อนการปลูกพืชตามนโยบายของรัฐบาล และ 3. การปลูกข้าวนาปรังที่ทำยาก ทำไม่ได้ เพราะจะเสียหาย หากใครทำก็รับผิดชอบเอาเอง ดังนั้น หากใครจะปลูกอะไรขอให้รวมตัวกันมาขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ เพื่อที่จะได้หาทางช่วยเหลือ และสนับสนุนได้ถูก อย่างไรก็ตาม ในปีต่อไปรัฐบาลจะช่วยเหลือตามกติกาเดิม หากรัฐต้องเอาเงินไปโปะให้ต้องเสียเงินไปอีกเท่าไหร่ ถ้าล้มไปจะทำยังไง เห็นใจระบบการเงินการคลังบ้าง ทุกอย่างใช้กฎหมายปกติ ไม่ใช่ใช้แต่มาตรา 44 ทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมายเถอะ รัฐบาลพยายามไม่ไปหลีกเลี่ยงกฎหมาย ท่านไปคาดหวังรัฐบาลหน้าเอาเอง ที่ผ่านมาผมไม่พูด” นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรมีทั้งตกต่ำ และสูงขึ้น เพราะขึ้นอยู่กับตลาดโลก ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินภัยน้ำท่วมว่าจะเกิดที่ไหนอย่างไร และในแต่ละประเทศมีปริมาณข้าวที่เก็บไว้เท่าไหร่ เพราะจะเป็นตัวกำหนดราคาข้าวว่าจะขึ้นหรือลง เราโชคดีที่ประสบปัญหาน้ำท่วมน้อย ซึ่งการช่วยเหลือข้อมูลที่ไปสำรวจแต่ละหน่วยงานต้องตรงกัน ประชาชนต้องเข้าใจ หากเรียกร้องทั้งหมด ทุกอย่างที่สร้างวันนี้จะพัง อนาคตก็ไม่เกิด วันหน้าก็กลับมาที่เดิมอีก ความขัดแย้งก็อยู่ ถูกชักจูงไปทางการเมืองบ้างอะไรบ้าง ที่สำคัญ ประชาชนต้องเข้มแข็งด้วยตัวเอง เพื่อให้กำหนดอนาคตประเทศได้ ไม่ใช่ให้ใครมากำหนด เพราะความขัดแย้งไม่สามารถทำให้ประเทศเดินหน้าได้
“ตั้งแต่ผมเข้ามามีการใช้งบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชน ทั้งเรื่องจำนำข้าว แก้ปัญหาภัยแล้ง และเรื่องอื่น ๆ โดยใช้งบไปแล้วกว่า 5.7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนของข้าวกว่า 3 แสนล้านบาท ทุกวันนี้ยังต้องจ่ายงบประมาณสำหรับค่าเช่าโกดังเก็บข้าวเดือนละ 200 กว่าล้าน ซึ่งลดลงจากเดิม เพราะมีการขายข้าวออกไปบ้างแล้ว ซึ่งต่อไปต้องดูแลกันต่อ สานต่อให้ได้ ใครสานต่อไม่ดีก็มีหลักประกันอยู่แล้ว ถ้าทำให้ข้าวเสียหายเขาก็ต้องชดใช้ ซึ่งกำลังดูทั้งหมด ไม่ใช่เอากันง่าย ๆ หาคนมาลงโทษ มาฟ้องศาลก็จบ มันไม่ใช่ และข้าวที่เก็บอยู่ก็เสื่อมสภาพได้ แต่จะขายเร็วก็ไม่ได้ เพราะราคามันเพี้ยน หลายคนอาจโทษรัฐบาลนี้ทำไมไม่ขายข้าวเร็ว ๆ ถ้าขายไปก็ขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งต้องไปหาเอาว่าใครผิด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีจะมีการทบทวนการตั้งเขตเศรษฐกิจหรือไม่ว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ก็ประกาศไป ใครจะลงตรงไหน แต่ต้องกำหนดกรอบการลงทุนให้ชัดเจน ว่าจะลงพื้นที่ไหน จะได้สิทธิประโยชน์อย่างไร ถ้าไม่ตีกรอบแล้วตั้งตรงไหนก็ได้ มันไม่ได้ และที่สำคัญเราส่งเสริมธุรกิจในพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งดีกับคนในพื้นที่ และในพื้นที่ใครจะขยายกิจการก็เสนอเข้ามา เราจะให้สิทธิประโยชน์เหมือนตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย ซึ่งไม่น่าจะมีใครเสียหาย และยังสามารถใช้แรงงานต่างด้าวในพื้นที่ชายแดน เขาจะได้ไม่เข้ามา ซึ่งมีส่วนช่วยเรื่องความมั่นคงและสังคมอีกด้วย และเราก็ต้องเตรียมคนของเราในการทำงานส่วนกลางด้วย เพราะต่อไปทุกประเทศจะมีการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน และเรียกคนงานของเขากลับไป แล้วเมืองไทยจะมีใครทำงานหรือไม่ ก็ไม่มี ก่อสร้างยังไม่มี ไปทำงานต่างประเทศ 3 ล้านกว่าคน ถ้าแรงงานกลับประเทศจะทำอย่างไร
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการใช้จ่ายงบประมาณในปี 57 - 59 ว่า ตอนนี้ผลการเบิกจ่ายเกินเป้าหมายคือมากกว่าปีที่แล้ว แต่ก็ยังมีหลายโครงการที่ทำสัญญาไม่ทัน ในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งอาจจะเป็นการติดขัดขั้นตอนอย่าง เช่น ผลสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อม การประท้วง ไม่ใช่การเบิกจ่ายงบช้า ซึ่งก็เรียกคืนงบส่วนนี้มา 7 พันกว่าล้าน ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องการเสียค่าปรับโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียแต่อย่างใด อย่าไปพูดว่าไปตัดตรงโน้น ตรงนี้มา เขียนกันเองหมด ตนก็หารือกับ ครม. และฝ่ายกฎหมาย อยู่ดี ๆ จะใช้อำนาจพิเศษไม่ทำตามคำสั่งศาลได้ที่ไหน แต่ก็ต้องว่ากันไปว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่นั้นสามารถใช้ได้ขึ้นมา ต่อไปรีบิ้วขึ้น เพราะลงทุนไปตั้ง 2 หมื่นล้านบาท เสียค่าปรับอีก 9 พันล้านบาท ตนจึงให้ประเมินในขั้นต้นว่า หากจะรีบิ้วขึ้นมาให้ใช้งานได้ 8 พันล้าน ถึง 1 หมื่นล้านบาท มันต้องทำ แต่จะทำยังไง ไปหาคนที่ทำให้เกิดปัญหา ใครก็ไม่รู้ รัฐบาลนี้ก็มาแก้ทุกวัน แล้วง่ายหรืออย่างไร ที่สั่งแล้วได้ปุ๊บ เงินไม่ใช่ว่าจะพิมพ์มือซ้ายจ่ายมือขวาหรือยังไง คนอื่นเขาคิดแบบนี้หรือเปล่า