xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ทุ่ม7พันล้านลงหมู่บ้าน เร่งจ้างงานเกษตรกร-คนจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (4 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งว่า ครม.ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 7 พันล้านบาท ที่จะต้องดูแลในเรื่องของการจ้างงาน และเรื่องการช่วยเหลือให้ความเข้มแข็งขึ้น ซึ่งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องช่วยกัน ดูแลเรื่องภัยแล้ง และการเตรียมปลูกพืชรอบใหม่ ในเรื่องของการจ้างงานได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยทางกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานมาว่า ได้ผลดี ทั้งนี้ จากการที่ตนได้ปรับแก้จากครั้งที่แล้ว ว่าการจ้างงานเป็นรายบุคคล อาจจะได้น้อย เพราะทุกคนไม่ได้รวมกันมา วันนี้เป็นการเหมาจ่าย ทำเป็นโครงการที่สามารถให้คนทั้งหมู่บ้านมาช่วยกันได้ ก็จะทำให้เขามีรายได้เพิ่ม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตอนนี้ตนเป็นห่วงเรื่องวาตภัย ซึ่งพายุเริ่มเข้ามาตามลำดับ เป็นห่วงเรื่องน้ำท่วม ตอนนี้ท่วมกับแล้งผสมกันไปรัฐบาลก็ต้องดูแล ที่เป็นห่วงคือ เราจะอยู่กันอย่างไร อยากให้ดูว่ารอบบ้านเราเป็นอย่างไร วันนี้น้ำท่วมที่ไหนบ้าง ทั้งที่ประเทศเวียดนาม และประเทศพม่า เป็นแสนคนได้รับความเดือดร้อน มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก เราต้องไปช่วยเขา ซึ่งได้บริจาคเงินไปช่วยส่วนหนึ่งตามหลักมนุษยชน และจะมีการส่งสิ่งของไปดูแลเขาด้วย เขาย้ายคนทั้งรัฐแสนกว่าคน ของเราวันนี้น้ำท่วมที่ จ.บึงกาฬ จ.ภูเก็ต บางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางจังหวัดในภาค เหนือ ตอนนี้ตนห่วงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะระดับน้ำในแม่นำโขงสูงขึ้น เมื่อสูงขึ้นก็ดันแม่น้ำเรา และท่วมฝั่งเรา ซึ่งต้องฝากเตือนทุกจังหวัดการที่จะมุ่งระบายน้ำออกอย่างเดียวก็จะมีปัญหา
" ครั้งที่แล้วผมก็แก้ปัญหาน้ำท่วมในรัฐบาลก่อนแล้ว น้ำท่วมเสร็จ ก็ภัยแล้งต่อ น้ำเยอะแยะ แต่ไม่มีน้ำเก็บไว้เลย ผมก็บอกให้ไปเร่งรัดการระบายน้ำออกในพื้นที่ที่ควรจะต้องเก็บไว้บ้าง จากการประเมินล่วงหน้า ฝนจะมีการทิ้งช่วงอีก เพราะเอลนีโญ ซึ่งวันนี้ทุกคนต้องอยู่กับข้อมูลที่ทันสมัย เราจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ ที่ต้องอาศัยธรรมชาติ รอเมื่อไหร่ว่าฝนจะตก จะทำการเกษตรแบบนี้ไม่ได้แล้ว จะต้องเป็นเกษตรกรที่เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ จะต้องเรียนรู้ เปิดในเน็ต เปิดในโทรศัพท์ดูบ้าง อย่างแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการเกษตร ซึ่งได้ใส่เรื่องฝน การแนะนำเรื่องน้ำ เรื่องที่ดินและเรื่องปลูกพืชลงไป ด้วย " พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันแถลงภายหลังประชุมครม. ถึงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดย พล.อ.อนุพงษ์ แถลงว่า ครม.ได้อนุมัติแผนงานโครงการ"ช่วยเหลือเกษตรกร และคนยากจน ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน" โดยนายกรัฐมนตรี มีความต้องการให้มีแผนงานดังกล่าว ลงไปถึงเกษตรกรทุกประเภท ไม่ว่าจะเกี่ยวกับพืช หรือสัตว์ มีจุดมุ่งหมายให้เขามีความเข้มแข็ง รวมถึงมีความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
"ท่านนายกฯบอกว่า ให้เขารวมกลุ่มกันมา ภายใต้ในชื่อองค์กรเกษตรกร จะไปใช้กลุ่มเกษตร หรือศัพท์อื่นๆ ทางกฎหมายมันจะไปซ้ำซ้อนกัน ขอให้เป็นองค์กรเกษตรกร ไม่เป็นนิติบุคคลก็ได้ รวมกลุ่มกันมา เราก็จะทำแผนงานโครงการ" รมว.มหาดไทย กล่าว
สำหรับงบประมาณในแผนงานดังกล่าว เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 6,541 ล้านบาทเศษ โดยใช้งบฯกลางปี 2558 แบ่งเป็น 9 กลุ่มใหญ่ มีกิจกรรมต่างๆ ประมาณ 6,740 กิจกรรม จะมีผลต่อเกษตรทั้งหมด 2 ล้านกว่าครัวเรือน คิดเป็น 4 คนต่อ 1 ครัวเรือน จะส่งผลประมาณ 10 ล้านคน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทั้งหมด จะเริ่มทันทีหลังจากผ่านมติครม. และจะต้องดำเนินการผูกพันให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายนนี้ คาดหวังว่า เกษตรกรสามารถที่จะมีความเข้มแข็งขึ้น มีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้เขาเพิ่มเติม รวมทั้งเป็นการลดต้นทุนการผลิต และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต พัฒนาศักยภาพในการทำการเกษตร หรืออาชีพ โครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร พร้อมทั้งสนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น โอทอป
"เป็นความต้องการของประชาชนที่รวมกลุ่มกันมา เขาก็ทำแผนงานกิจกรรมขึ้นมา ว่าอยากได้ หรืออยากทำอะไร แต่ต้องรวมกลุ่มกันมา และมีหลักการ จะทำอย่างไรในทุกๆ ด้าน ผ่านการกลั่นกรองของระดับจังหวัดขึ้นมา ถึงกระทรวงมหาดไทย แล้วจะทำเรื่องประชุม หารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วน 6,740 กิจกรรม ได้มีการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว รอเพียงความเหมาะสมให้เต็มพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นไปตามที่ต้องการ ทั้งเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพของเกษตรกร รวมถึงเป็นความต้องการของเขาอีกด้วย ขณะที่การปฏิบัติ ทางสำนักงบประมาณ กำหนดไว้ว่า จะต้องมีคณะกรรมการระดับจังหวัด ทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย พร้อมหน่วยอื่นๆ เช่น คสช. คือทหารในพื้นที่ การบริหารดำเนินการเป็นไปตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีทุกประการ และจะต้องมีการประเมินผล" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่า เกษตรกรที่รวมกลุ่มกันมา มีความพร้อมหรือยัง พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ตอนแรกใช้คำว่า กลุ่ม แต่ในที่ประชุมครม.ค้าน กลัวจะไปซ้ำซ้อนกับกลุ่มเกษตรเดิม จึงมีมติให้เรียกเป็น “องค์กรเกษตรกร”ตามพื้นฐาน ที่คนตั้งแต่ 2 คน มารวมกัน ถือเป็นการจัดตั้ง ก็ได้เสนอไปแล้ว และเตรียมพิจารณากลั่นกรองถึงความเป็นไปได้ เหมาะสม แม้แต่งบฯ ที่ใช้ เช่น พื้นที่หนึ่งขอชนิดเดียวกัน แต่ราคาไม่เท่ากัน ก็จะมีการปรับงบประมาณให้อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน โดยได้ผ่านขั้นตอนไปแล้ว เข้าครม. เหลือเพียงแต่การนำลงไปปฏิบัติ จะหนักที่ผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการ ต้อง
ดำเนินการให้เรียบร้อย
เมื่อถามว่า แต่ละองค์กรเกษตรกร เสนอตั้งงบประมาณมาประมาณเท่าไร รมว.มหาดไทย แจงว่า ไม่เท่ากัน แล้วแต่กิจกรรม บางแห่งขอฝึกอบรมก็มี ขอเปลี่ยนยางถ้วยเป็นยางรีด ก็ไม่เท่ากัน เป็นความต้องการของเกษตรกร ไม่ใช่เราจับยัดลงไป
เมื่อถามว่าการประเมินผล จะมีขั้นตอนเป็นอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ ตอบว่า เป็นข้อกำหนดของสำนักงบประมาณ ตามแผนงานโครงการมีวัตถุประสงค์ และเกิดผระโยชน์อย่างไร ก็ต้องประเมินผลให้ได้
เมื่อถามว่า งบประมาณจำนวนดังกล่าว จะรวมไปถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ด้วยหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่รวม เรื่องภัยแล้งทางระดับจังหวัดยังไม่ได้มีการสำรวจ
" เรื่องภัยแล้งเดี๋ยวเขาก็คงจะเริ่มสำรวจ บางทีมันลำบาก บางส่วนที่แล้ง ไม่ได้แล้ง เพราะฝนก็มี ที่ประกาศเขตไปก็มีผล ส่วนที่แล้งฝน เราก็ช่วยส่งน้ำเข้าไป บางที่ก็ฟื้น เอาตามความเป็นจริง เพราะจะต้องมีกรรมการเซ็นรับรองว่า ถูกต้อง จึงจะมีการสำรวจ กระทรวงเกษตรฯ จะทำหน้าที่นี้ตามกฎหมายกำหนด" รมว.มหาดไทย กล่าว
ด้านนายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ทางจังหวัดได้มีการเตรียมความพร้อมมาเป็นเวลานาน เพราะฉะนั้นทางกระทรวงมหาดไทย จึงได้ข้อสรุปโครงการทั้งหมด คือ 4,966 โครงการ มีกิจกรรม 6,740 กิจกรรม ใช้เงินทั้งหมด 6,541 ล้านบาท และที่สำคัญ จะต้องทำการผูกพันงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง จัดระบบเงินให้เสร็จภายในเดือนกันยายน ขณะนี้สิ่งที่กำลังทำคือ การช่วยเกษตรกร และคนยากคนจน ในหมวดที่สำคัญคือ หมวดอาชีพ หมวดเรื่องพืช หมวดเรื่องสัตว์ หมวดเรื่องประมง หมวดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หมวดเรื่องปัจจัยการผลิต หมวดเรื่องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ หมวดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในการเกษตร และหมวดเรื่องการทำสาธารนูปโภค แม้กระทั่งเรื่องการต่อไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรในชนบท
"สาระสำคัญจริงๆ คือเม็ดเงิน 6,541 ล้านบาท ต้องไปเร็ว และไปตามโครงการที่ได้วางไว้ ระเบียบที่ใช้บังคับกับเรื่องนี้คือระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างที่เตรียมไว้ตั้งแต่ต้นปี พยายามที่จะปรับปรุงโครงการให้เป็นโครงการจากข้างล่างขึ้นมาข้างบน เป้าหมายจะอยู่ที่องค์กรเกษตรกร เพราะคิดว่าถ้าเอากลุ่มเกษตรกร ก็จะไปล็อกอยู่เฉพาะเกษตรกร โดยตามพ.ร.บ.สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ก็เป็นเพียงกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในกฎหมายฉบับนั้น เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ เราจะกระจายไปสู่เกษตรกรที่รวมกันเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมร่วมกัน หรือกลุ่มที่มีความชัดเจนในเป้าหมายที่ทำร่วมกัน ถ้าผ่านจากอำเภอไปจังหวัดแล้วก็ขึ้นมา" นายอำนวย กล่าว และว่า ถัดจากนี้ไปเหลือเวลาอีก 2 เดือน หลังจากมติครม.อนุมัติออกไปแล้ว ก็จะได้จัดสรรงบพวกนี้ออกไปที่จังหวัด เพื่อดำเนินการ ถือเป็นการขับเคลื่อนเม็ดเงินสู่ชนบท และเกษตรกร เพื่อช่วยบรรเทา เพิ่มรายได้ และสร้างขีดความสามารถขององค์กรเกษตรกร ขณะที่เศรษฐกิจในชนบท ก็จะหมุนเวียนฟื้นตัวขึ้นมาได้ในส่วนหนึ่งสำหรับสัดส่วนในการพิจารณางบประมาณของภาค และจังหวัดจะใช้ตัวงบประมาณที่จัดไปเพื่อกิจกรรมการเกษตรและชนบท ก็อาศัยพื้นฐานเดิมที่จัดงบประมานเรื่องนี้ ส่วนจำนวนของเกษตรกร ที่เข้าโครงการมีทั้งหมด 2,187,000 ครัวเรือน หรือ ประมาณ 10 ล้านคน ที่เสนอโครงการอยู่ในกลุ่ม และระบบที่เคยดูแลกันอยู่ในชนบทและพื้นที่
กำลังโหลดความคิดเห็น