xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.สั่งเดินหน้าติดตั้ง “ซีซีทีวี” ให้เสร็จใน 30 ก.ย.งงเปิดซองทุกเขตผ่าน บ.เดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สพฐ. สั่ง 12 เขตพื้นที่ฯเดินหน้าติดตั้งซีซีทีวี จี้ตรวจสอบกระบวนการโปร่งใส 3 ขั้นตอน ย้ำดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 ก.ย. เผยพบปัญหาเปิดซองเทคนิคทุกเขตฯ ผ่านเพียงบริษัทเดียว พร้อมเตรียมหารืออัยการสูงสุด ตรวจสอบ 3 เขตฯ ทำสัญญาถูกต้องหรือไม่ ยกเลิกได้หรือไม่

วันนี้ (21 ก.ค.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มธรรมาภิบาลร้องเรียนต่อ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ตรวจสอบพฤติการณ์กลุ่มนายทหารอ้างเป็นคนสนิท รมช.ศธ. แทรกแซงคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดให้โรงเรียนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการ Safe Zone School (CCTV) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยเลือกบริษัทที่เป็นพรรคพวกให้ได้รับงาน ว่า โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณปี 2557 ยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แต่การดำเนินการกำหนดสเปกของแต่ละพื้นที่การศึกษามีความล่าช้า สพฐ. จึงกำหนดสเปกกลาง โดยใช้สเปกของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และสำนักงบประมาณ ส่งให้ 12 เขตพื้นที่การศึกษานำไปปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่ตัวเองและกำหนดราคากลาง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ก็ยังไม่มีการลงนามในสัญญาจ้างอีก เพราะมีการร้องเรียนมาเป็นระยะ ว่า มีการกำหนดสปกเอื้อให้กับบางบริษัท หรือเรียกเพียงบางบริษัทมายื่นซองประกวดราคา จึงได้สั่งชะลอการดำเนินการเมื่อ พ.ค. 2558

นายกมล กล่าวอีกว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ รมช.ศธ. ลงพื้นที่ภาคใต้และย้ำชัดเจนแล้วว่าไม่มีใครได้ประโยชน์จากโครงการนี้ หากมีการอ้างชื่อใครก็ไม่เป็นความจริง และสั่งให้ทั้ง 12 เขตพื้นที่ฯ ดำเนินการต่อ โดยยึดความโปร่งใส เป็นธรรมตามระเบียบราชการ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สพฐ. ได้มีหนังสือสั่งการให้ 12 เขตพื้นที่ฯเริ่มดำเนินการต่อ พร้อมมอบแนวปฏิบัติ 3 ขั้นตอนเพื่อนำไปตรวจสอบว่าขั้นตอนใดที่ไม่ถูกต้อง ก็ให้เริ่มทำในขั้นตอนนั้นใหม่ ได้แก่ 1. ตรวจสอบสเปกและราคากลางเหมาะสมหรือไม่ 2. การตั้งคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างที่เดิมกำหนดให้มีฝ่ายความมั่นคงมีความจำเป็นหรือไม่ และ 3. ประกาศประกวดราคาการจัดซื้อจัดจ้างให้สาธารณชนรับทราบเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่

ที่ผ่านมามีปัญหาในขั้นตอนการยื่นซอง ที่บริษัทจะต้องยื่นซองเทคนิคและซองราคา แต่ขั้นตอนการยื่นซองเทคนิค พบว่า ทุกเขตพื้นที่ฯ มีบริษัทผ่านเพียงแห่งเดียว ทำให้ไม่มีการเปิดซองราคาเพราะไม่มีคู่แข่ง ซึ่ง สพฐ. เห็นว่า ไม่น่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะโดยปกติการยื่นซองประมูลจะต้องเปิดโอกาสให้มีหลายบริษัทเข้ามาแข่งขัน แต่ที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้เพียง 4 บริษัทที่ฝ่ายความมั่นคงแนะนำว่ามีความเชี่ยวชาญการทำงานในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้น่าจะเปิดโอกาสให้บริษัททุกแห่งเข้ามาแข่งขัน และต้องให้ดำเนินการตามระเบียบราชการ โปร่งใส และเป็นธรรมเพราะหากเกิดปัญหาไม่มีใครช่วยใครได้และต้องเร่งทำให้เสร็จภายใน 30 ก.ย. นี้" เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

นายกมล กล่าวว่า สำหรับ 3 เขตพื้นที่ฯ ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ปัตตานี เขต 1 สพป.นราธิวาส เขต 2 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 16 ที่ได้ทำสัญญาไปก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งชะลอการดำเนินการนั้น สพฐ. ไม่มีอำนาจไปสั่งการให้ยกเลิกสัญญาได้ เพราะฉะนั้น จะทำหนังสือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อหารือว่าการทำสัญญาดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่และกระบวนการดำเนินการถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้องจะสามารถยกเลิกสัญญาได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น ระหว่างนี้ 7 เขตพื้นที่ฯ ที่เหลือก็ต้องดำเนินการต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น