ประกาศนโยบายมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว สำหรับโครงการดาต้า เซ็นเตอร์แห่งชาติ โครงการเพื่อลดงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ด้านไอที ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ เพื่อสร้างดาต้า เซ็นเตอร์ของตนเอง โดยให้ภาครัฐหันมาเช่าใช้ดาต้า เซ็นเตอร์ ของภาคเอกชนที่จะลงทุนบนพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศแทน โดยมีคำสั่งให้ทุกหน่วยงานราชการ ยกเว้น กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม เพราะเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคง ยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างในการทำดาต้า เซ็นเตอร์เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการ
***เอกชนแห่สนใจโครงการ 22 บริษัท
1-2 เดือนที่ผ่านมา นับว่าโครงการนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากบริษัททั้งในและนอกประเทศที่แสดงความสนใจมาแล้วถึง 22 บริษัท โดย 'ศักดิ์ เสกขุนทด' ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA กล่าวว่า ในจำนวนบริษัทที่สนใจนี้ยังไม่ใช่บริษัทที่จะเข้าร่วมโครงการแต่อย่างใด เพราะในเบื้องต้นต้องการทราบความสนใจของบริษัทต่างๆก่อนว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด
ดังนั้นบริษัทที่สนใจยังสามารถแสดงความสนใจเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงเดือน ต.ค.นี้ถึงจะเปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เริ่มตอกเสาเข็มสร้างดาต้า เซ็นเตอร์แห่งชาติกระจายไปยังสถานที่ต่างๆ กว่า 20 แห่ง ทั่วประเทศได้ภายในเดือน ม.ค.ปีหน้า และใช้เวลาในการสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน เพื่อให้สามารถเปิดใช้งานได้ภายใน10 เดือน นับจากโครงการเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนในช่วง1-2ปีแรกประมาณ 30,000 -40,000ล้านบาท
ในเบื้องต้นเอกชนที่สนใจลงทุนต้องมีมาตรฐานดาต้า เซ็นเตอร์ในระดับ 3 (Tier 3) ขึ้นไป มีพื้นที่สำหรับให้บริการศูนย์ข้อมูล ระหว่าง 2,000-3,000 ตารางเมตร และมีค่าประสิทธิผลการใช้ไฟฟ้าภายในศูนย์ข้อมูล (Power Usage Effectiveness : PUE) ไม่เกิน 1.9 เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพในการให้บริการ และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมศูนย์ข้อมูลอีกด้วย โดยบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี รับประกันการใช้งานจากภาครัฐ8ปี อย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า
'ด้วยสิทธิประโยชน์ที่จูงใจดังกล่าวทำให้มีทั้งบริษัทไทยและต่างชาติแสดงความสนใจ โดยในจำนวนกว่า 20 รายนี้ มีต่างชาติถึง 4-5 ราย แต่ท้ายที่สุดแล้วจะมีผู้สนใจสมัครลงทุนจริงๆเท่าไหร่นั้นต้องขึ้นอยู่กับมาตรฐานที่เราจะกำหนดด้วย ซึ่งหากโครงการสำเร็จ จะช่วยลดงบประมาณภาครัฐได้มหาศาล ยกตัวอย่างที่เราสำรวจหน่วยงานรัฐ 83 หน่วยงาน พบว่ามีดาต้า เซ็นเตอร์ทั้งสิ้น 143 แห่ง ซึ่งมีอายุเกิน 7 ปี จำนวน 96 แห่ง หรือคิดเป็น 67% ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการบริหารจัดการสูงถึง 6,714 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว'
***เร่งสำรวจข้อมูลให้เสร็จภายใน 1-2 เดือน
ถามว่าระหว่างนี้โครงการมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ศักดิ์ เล่าว่า ขณะนี้ได้ทำงานควบคู่กันไประหว่างการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับดาต้า เซ็นเตอร์ ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจากการสำรวจสถานภาพดาต้า เซ็นเตอร์ ล่าสุด ณ วันที่ 12 มิ.ย. 58 ที่มีการสอบถามไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสิ้น 300 หน่วยงาน ได้รับการตอบกลับแล้ว 198 หน่วยงาน ยังคงเหลือที่ยังไม่ตอบกลับอีก 102 หน่วยงาน ซึ่งทาง EGA จะติดตามข้อมูลมาให้ครบถ้วน ภายใน 1-2 เดือนนี้ เมื่อทราบสถานภาพแล้ว หน่วยงานนั้นๆก็ต้องจำแนกข้อมูลออกมาด้วยว่ามีอะไรบ้าง เพื่อให้ทราบถึงประเภทข้อมูลว่ามีส่วนไหนบ้างที่เกี่ยวกับความมั่นคง หรือ ข้อมูลส่วนไหนเปิดเผยได้ เพื่อให้ทราบความต้องการใช้งานของภาครัฐอย่างแท้จริงอันเป็นการสร้างความมั่นใจแก่เอกชนที่จะมาลงทุน
เบื้องต้นคณะทำงานได้แบ่งประเภทตามความสำคัญของระบบงานและกำหนดผู้รับผิดชอบในการดำเนินการศูนย์ข้อมูลที่แตกต่างกัน 3 ประเภท ได้แก่ 1. ระบบข้อมูลด้านความมั่นคงของประเทศ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง ทะเบียนราษฎร์ เป็นต้น ดำเนินการโดยหน่วยงานเจ้าของข้อมูล เป็นหลัก 2. ระบบข้อมูลสำคัญ เช่น ระบบภายในหน่วยงาน (เงินเดือน การประเมินผลงานพนักงาน) ทะเบียนพาณิชย์ สาธารณสุข ประกันสังคม เป็นต้น ดำเนินการโดยหน่วยงานกลาง คือ EGAเป็นหลัก และ 3. ระบบข้อมูลทั่วไป เช่น ระบบบริการประชาชน เว็บไซต์ภาครัฐ เป็นต้น ดำเนินการโดยภาคเอกชน
***เตรียมประชาพิจารณ์มาตรฐานไม่เกิน ส.ค.-รับสมัคร ต.ค.
ขณะที่การเตรียมความพร้อมในการสร้างดาต้า เซ็นเตอร์ ก็ต้องทำควบคู่ไปด้วย นั่นคือการกำหนดมาตรฐานของดาต้า เซ็นเตอร์ เนื่องจากมาตรฐานของดาต้า เซ็นเตอร์ทั่วโลกมีหลายมาตรฐานไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานจากยุโรป หรือ อเมริกา ดังนั้นคำถามคือประเทศไทยจะใช้มาตรฐานตัวไหนที่เหมาะสมกับประเทศมากที่สุด เพราะบางมาตรฐานเราก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากบางมาตรฐานต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่รับรองซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายเป็นหลักแสน
ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จก่อนเดือน ต.ค.นี้คือการหามาตรฐานที่เหมาะสม ซึ่งต้องมีการระดมความคิดเห็นจากบริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อหามาตรฐานที่เหมาะสม จากนั้นภายในสิ้นเดือน ก.ค.หรือ ต้นเดือน ส.ค. นี้ ต้องนำมาตรฐานที่กำหนดในเบื้องต้นเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) อีกครั้งหนึ่ง
นอกจากมาตรฐานแล้ว เรื่องของพื้นที่ในการสร้างดาต้า เซ็นเตอร์ ก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยพื้นที่ที่สร้างนั้นต้องมีพลังงานไฟฟ้าที่เสถียร ดังนั้นจึงต้องหารือกับกระทรวงพลังงานในการให้ข้อมูลของพื้นที่ที่เหมาะสมดังกล่าวด้วย ไม่เช่นนั้นผู้ลงทุนก็จะกังวล ไม่กล้าลงทุน
เมื่อมาตรฐานพร้อม พื้นที่ในการสร้างพร้อมทุกอย่างก็สามารถนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในเดือนก.ย.นี้ จากนั้นจะเปิดรับสมัครผู้สนใจอย่างเป็นทางการในเดือน ต.ค.จากนั้นคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย กรรมการจากหน่วยงานอื่นๆร่วมด้วย ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม มหาดไทย สาธารณสุข คมนาคม แรงงาน อุตสาหกรรม สภาความมั่นคงแห่งชาติ กลาโหม สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
นอกจากนี้ยังประกอบด้วย ชิต เหล่าวัฒนา ,พล.ต.พิเชษฐ์ คงศรี ,ไชยเจริญ อติแพทย์ ,รอม หิรัญพฤกษ์ ,ทวีป อัศวแสงทอง โดยมีผู้อำนวยการEGAทำหน้าที่เลขานุการ และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เป็นประธาน จะคัดเลือกบริษัทที่ตรงตามความต้องการและเตรียมการสร้างได้ทันทีตามแผนในเดือน ม.ค.2559