xs
xsm
sm
md
lg

ปลดอดีต “ผู้ว่าฯ บึงกาฬ” เอี่ยวโกงยาฆ่าเพลี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เวปไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี  เรื่อง ให้ข้าราชการพลเรือนพ้นจากตําแหน่ง ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้มีคําสั่งลงโทษปลด นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา ข้าราชการ พลเรือนสามัญ ตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สํานักงานปลัดกระทรวง ออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่  23 มิถุนายน 2558
ปลด “สมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา” อดีตผู้ว่าฯ บึงกาฬ พ้นผู้ตรวจราชการมหาดไทย เอี่ยวทุจริตการใช้งบประมาณเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน และการใช้งบประมาณสารปราบศัตรูพืช เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เมื่อปี 54-55 ในขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ

วันนี้ (28 ก.ค.) มีรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ข้าราชการพลเรือนพ้นจากตําแหน่ง ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้มีคําสั่งลงโทษปลด นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา ข้าราชการ พลเรือนสามัญ ตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สํานักงานปลัดกระทรวง ออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2558 และได้นําความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตําแหน่งต่อไปแล้ว

“บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2558 ประกาศ ณ วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี”

มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มีมติปลดนายสมพงษ์ อรุณโรจน์ปัญญา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ และนายอำเภอทุกอำเภอจำนวน 8 อำเภอ กรณีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างสารป้องกันเชื้อรา หรือเพลี้ย (คาร์เบนดาซิม หรือแมนโดแซน) ในปี 2554

ทั้งนี้ ภายหลังที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้ว่ามีความผิดในลักษณะที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบทำให้เกิดความเสียหายหรือมีการทุจริตหรือไม่

มีรายงานว่า สำหรับเอกสารคณะกรรมการ ป.ป.ช.คำสั่งที่ 571/ 2557 ระบุฐานความผิดถึงกรณีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างสารป้องกันเชื้อรา หรือเพลี้ย (คาร์เบนดาซิม หรือแมนโดแซน) ในปี 2554 ว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 สำหรับในกรณีดังกล่าวมีข้าราชการเกี่ยวข้องทั้งหมด 37 คน โดยมีข้าราชการระดับสูงอย่าง ผู้ว่าฯ-ปลัดจังหวัด รวมถึงนายอำเภอ และปลัดอำเภอหลายแห่ง ขณะที่มีเอกชนผู้เกี่ยวข้อง 4 แห่ง

โดยนายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ได้มีประกาศจังหวัดบึงกาฬ เรื่อง ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (โรคระบาดในนาข้าว) ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 และวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 โดยประกาศแยกเป็นรายอำเภอ ทั้งที่มิได้เกิดโรคระบาด หรือเกิดความเสียหายรุนแรงจนเกษตรกรต้องการความช่วยเหลือหรือมีภัยพิบัติฉุกเฉินจริง

ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 นายสมพงศ์ แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง สารเคมีคาร์เบนดาซิม ประกอบด้วย นายอรรถนนท์ โนสุวรรณ ปลัดจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานกรรมการ นายเฉลิมพล เขตบุรี รักษาการเกษตรจังหวัดบึงกาฬ เป็นกรรมการ และนายปริญญา สายสุพรรณ์ รักษาการป้องกันจังหวัดบึงกาฬ เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการกำหนดราคากลางดังกล่าว กำหนดราคากลางที่ควรจัดซื้อผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช (คาร์เบนดาซิมหรือแมนโคเซน) 50% ระหว่าง 400-500 บาท/250 ซีซี หรือ 1,600-2,000 บาท/1,000 ซีซี ซึ่งมีนายสมพงศ์เห็นชอบตามราคาที่เสนอ ทั้งที่ราคาดังกล่าวสูงเกินจริง

มีรายงานว่า ที่ประชุมอนุกรรมการข้าราชพลเรือน (อ.กพ.) กระทรวงมหาดไทย มีมติให้ลงโทษ (วินัยร้ายแรง) ปลดออกจากราชการ ดังนี้อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ปลัดจังหวัดและป้องกันจังหวัด รวมถึงนายอำเภอ 8 อำเภอ ขณะที่โทษลดเงินเดือน (วินัยไม่ร้ายแรง) ได้แก่ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และเสมียนตราอำเภอ 8 เภอ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม อ.กพ.มท.ยังได้ระบุอีกว่า เมื่อผู้ถูกลงโทษไม่เห็นด้วยกับโทษดังกล่าวสามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม (ก.พ.ค.) ภายใน 30 วัน หากมีผลวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วไม่เห็นด้วยสามารถนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้

ในกรณีการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว ได้มีข้าราชการหลายกระทรวงในระดับสูงและระดับรองๆ ลงมาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตมีจำนวนเกือบ 4,000 คน โดยบางส่วนยังคงรอผลการสอบสวนจากองค์กรอิสระ อาทิ สตง. และ ป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวนอยู่ หากผลการดำเนินการแล้วเสร็จเร็วจะทำให้มีข้าราชการถูกดำเนินการลงโทษเป็นจำนวนมากในประวัติศาสตร์
นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา
กำลังโหลดความคิดเห็น