ครม.สั่งต่ออายุ 3 ปี ลดภาษีหนุนกีฬาของชาติ ไม่แคร์เงินหด 1,200 ล้าน มีผลบังคับใช้สำหรับการบริจาคที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 พร้อม เว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับงานวิจัย-นวัตกรรม มีผล 5 ปี ชี้เป็นแรงจูงใจเอกชนไทยลงทุนด้านวิจัยและนวัตกรรมสูงและแข่งขันระยะยาว
วันนี้ (11 ส.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา และรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ตามที่กระทรวงการคลังเสนอและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งจะต่ออายุมาตรการดังกล่าวออกไปอีก 3 ปี ซึ่งทำให้รัฐสูญเสียรายได้ราว 1,200 ล้านบาท
กระทรวงการคลังรายงานว่า เนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬาตาม พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 559) พ.ศ. 2556 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 จึงเห็นควรให้มีการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวออกไปอีก 3 ปี โดยได้มีการกำหนดให้การบริจาคสามารถหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561
1. กำหนดให้บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกีฬาจังหวัดที่จัดตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นโดยได้รับอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทย กรมพลศึกษา กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 หรือสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยที่ได้รับการรับรองโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย สามารถหักเป็นค่าลดหย่อน 2 เท่าของจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการ ที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว
2. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกีฬาจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นโดยได้รับอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทย กรมพลศึกษา กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 หรือสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยที่ได้รับการรับรองโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย สามารถหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคแต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และรายจ่ายในการจัดสร้างและบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของราชการ หรือเอกชนที่เปิดให้ใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
3. ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกีฬาจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นโดยได้รับอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทย กรมพลศึกษา กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 หรือสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยที่ได้รับการรับรองโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล
4. การที่บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขคือ เป็นการสนับสนุนเงินหรือทรัพย์สินเพื่อนำไปใช้ในการจัดหาอุปกรณ์กีฬา การฝึกซ้อมหรือการแข่งขัน การจัดสร้างและพัฒนาสนามกีฬาหรือศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ การส่งเสริมสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬา หรือการพัฒนานักกีฬาและบุคลากรด้านกีฬา
เว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับงานวิจัย-นวัตกรรม มีผล 5 ปี
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. ยังอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้รับความเห็นของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประกอบการพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
“เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เอกชนไทยลงทุนด้านวิจัยและนวัตกรรมสูงขึ้น เพื่อเป็นการสร้างขีดความสามารถางการแข่งขันในระยะยาว” พล.ต.สรรเสริญกล่าว
กระทรวงการคลังชี้แจงว่า ได้กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ส่วนที่จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้แก่หน่วยงานของภาครัฐหรือเอกชนที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาเป็นจำนวน 3 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปจริง แต่จะต้องไม่เกินร้อยละของรายได้หรือยอดขายที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายใดในรอบระยะเวลาบัญชี ดังนี้ 1. ยอดรายได้หรือยอดขายไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกินร้อยละ 60 ของยอดรายได้หรือยอดขาย 2. ยอดรายได้หรือยอดขายเฉพาะส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกินร้อยละ 9 ของยอดรายได้หรือยอดขาย 3. ยอดรายได้หรือยอดขายเฉพาะส่วนที่เกิน 200 ล้านบาทให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกิน ร้อยละ 6 ของยอดรายได้หรือยอดขาย
ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ส่วนที่จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562