ศาลปกครองสูงสุดยกคำร้องเพิกถอนมติ ครม.ยกเลิกองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แต่สั่งเพิกถอนมติ ครม.ที่ให้ บมจ.ทีโอที ใช้ประโยชน์บนที่ดินราชพัสดุ และที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่า
วันนี้ (24 เม.ย.) ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษามีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2545 เฉพาะในส่วนที่ให้ บมจ.ทีโอที ใช้ประโยชน์บนที่ดินราชพัสดุ และที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยมิได้มีการจ่ายค่าตอบแทน โดยให้ ครม.ดำเนินการให้กระทรวงการคลังกำหนดค่าตอบแทน และให้ บมจ.ทีโอที จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายได้แผ่นดินตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ในคดีที่นายชัยพฤกษ์ สิทธิศักดิ์ กับพวกซึ่งเป็นพนักงาน บมจ.ทีโอที และผู้ใช้โทรศัพท์ทีโอที รวม 11 คน ยื่นฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และ รมว.ไอซีที รวม 5 คน ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2549 โดยขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 โดยให้ บมจ.ทีโอที กลับคืนฐานะนิติบุคคล องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497
ทั้งนี้ นายชัยพฤกษ์ สิทธิศักดิ์ กับพวกทั้ง 11 คน ฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่สำนักนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และ รมว.ไอซีที รวม 5 คน ร่วมกันตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2545 เป็นต้นไป แต่การตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และระเบียบคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2543
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อปรากฏว่า บมจ.ทีโอที ได้รับโอนทรัพย์สิน สินทรัพย์ และสิทธิขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมาทั้งหมด และบริษัทดังกล่าวได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยไม่ปรากฏว่ามีการจ่ายค่าตอบแทน ทั้งยังปรากฏว่ามีการทำสัญญายินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ที่ดินที่ทำภายหลังได้จดทะเบียนจัดตั้ง บมจ.ทีโอที เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2545 แล้ว และไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นรายได้แผ่นดินตามที่กระทรวงการคลังกำหนด จึงขัดกับความในวรรคสี่ของมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ดังนั้น การดำเนินการของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทที่มีมติเห็นชอบการโอนทรัพย์สินทั้งหมดขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย รวมทั้งทรัพย์สินจากการร่วมการงานไปเป็นของ บมจ.ทีโอที โดยให้คงเงื่อนไขของสัญญาเดิม ซึ่งมีผลทำให้ บมจ.ทีโอที ใช้ประโยชน์ในที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน ตามที่กำหนด และเสนอผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการ นโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเสนอต่อ ครม.เพื่ออนุมัติตามลำดับ โดย ครม.มีมติเห็นชอบตามที่เสนอมา และไม่ดำเนินการให้กระทรวงการคลังกำหนดค่าตอบแทนและให้ บมจ.ทีโอทีจ่ายค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
และการที่คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท เสนอให้บริษัทดังกล่าวใช้ประโยชน์บนที่ดินเหล่านี้ได้ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ โดยคงเงื่อนไขสัญญา ค่าเช่า ค่าตอบแทนการใช้ที่ดินไว้ตามเงื่อนไขที่ได้ให้ไว้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเสนอต่อ ครม. โดย ครม.มีมติเห็นชอบตามที่เสนอมา ถือเป็นการดำเนินการแยกทรัพย์สิน และสิทธิของรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 แล้ว แต่บกพร่องในส่วนที่มิได้กำหนดค่าตอบแทนเป็นรายได้แผ่นดินเท่านั้น ดังนั้นมติของ ครม.ดังกล่าวจึงมีความบกพร่องในส่วนที่มิได้กำหนดค่าตอบแทนเป็นรายได้แผ่นดินเท่านั้น จึงไม่อาจถือได้ว่ามีผลทำให้การดำเนินการที่ผ่านมาแล้วเสียไปทั้งหมด และไม่เป็นเหตุถึงขั้นที่จะเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545
ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2545 เฉพาะในส่วนที่ให้ บมจ.ทีโอที ใช้ประโยชน์บนที่ดินราชพัสดุและที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยมิได้มีการจ่ายค่าตอบแทน โดยให้ ครม.ดำเนินการให้กระทรวงการคลังกำหนดค่าตอบแทนและให้ บมจ.ทีโอที จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายได้แผ่นดินตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก