สปช.แถลงจัดงาน 13 ส.ค.สรุปผลงานปฏิรูปเร็ว แตกแขนงจากแนวปฏิรูป 11 ด้าน พร้อมส่งมอบผลงานนายกฯ ที่รับปากมาร่วมงาน “เทียนฉาย” เตรียมเปิดใจ ชี้คว่ำร่าง-แลกเก้าอี้สภาขับเคลื่อนไม่ถือเป็นกระแส เชื่อสมาชิกมีอิสระตัดสินใจ ค้านทำความเห็นประกอบการลงมติ อ้างบั่นทอนปชต. “บวรศักดิ์” ย้ำ รธน.ไม่ผ่านยุบทิ้ง สปช.-กมธ.ยกร่างฯ ไม่หนักใจคว่ำร่างรับได้
วันนี้ (10 ส.ค.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. พร้อมด้วยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คนที่ 1 และนางทัศนา บุญทอง รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คนที่ 2 ร่วมกันแถลงถึงการจัดงาน “สปช.รายงานประชาชน เรื่อง เปลี่ยนประเทศไทยกับ สปช.” ในวันที่ 13 ส.ค. ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ในเวลา 08.00 น.ถึง 15.30 น. เพื่อสรุปผลงาน สปช. ประกอบด้วยการปฏิรูปเร็ว หรือควิกวิน 9 เรื่อง, วาระการปฏิรูป 37 วาระ และ 6 วาระพัฒนา ซึ่งเป็นผลการศึกษาที่แตกแขนงออกมาจากแนวทางการปฏิรูปด้านต่างทั้ง 11 ด้าน ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนด โดยจะจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อนำเสนอต่อประชาชน และจะส่งมอบผลงานให้แก่คณะรัฐมนตรี โดยในวันดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบรับที่จะมาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย
สำหรับภายในงานมีสาระน่าสนใจ อาทิ ในช่วงเช้าจะมีการแสดงวีดิทัศน์เรื่อง ”เปลี่ยนประเทศกับสปช.” และการเปิดใจของนายเทียนฉายในหัวข้อ “จะปฏิรูปอะไร” ส่วนช่วงบ่ายมีการนำเสนอประเด็นปฏิรูปประเทศของสมาชิก สปช. โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามหัวข้อต่างๆ อาทิ ระบบการเลือกตั้งที่สุจริตยุติธรรม การเมืองเรื่องของประชาชน เป็นต้น ส่วนช่วงเย็นจะมีพิธีปิดส่งมอบผลงานให้แก่ ครม.โดยผ่านนายกรัฐมนตรี และถ่ายภาพหมู่ร่วมกันระหว่างแม่น้ำ 5 สายด้วย
นายเทียนกล่าวถึงกระแสการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นการแสดงความเห็นโดยบุคคลเพียงคนเดียว จึงไม่ถือว่าเป็นกระแส รวมถึงกระแสข่าวที่มีการแลกตำแหน่งในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้วย จึงเชื่อว่าสมาชิกจะมีเอกสิทธิ์และความเป็นอิสระที่จะตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของตนเอง โดยในระยะเวลา 15 วันนับแต่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ทาง สปช.จะไม่มีการจัดกิจกรรมใดๆ เพื่อให้สมาชิกใช้เวลาพิจารณา ส่วนจะมีการจับกลุ่มหารือกันก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ส่วนข้อเสนอให้สมาชิก สปช. ทำความเห็นส่วนตัวประกอบการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ตนมองว่าจะเป็นการสร้างความหวาดระแวงอันเป็นการบั่นทอนต่อประชาธิปไตย
ด้านนายบวรศักดิ์ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ โดยชี้แจงให้เห็นถึงการนำหลักการปฏิรูปของ สปช.ไปบัญญัติไว้ในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองไว้ทั้งหมด 4 มาตรา และนำรายละเอียดบัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ที่มีประมาณ 29 มาตรา แต่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงมติก็ต้องยุบทั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ และ สปช. โดยจะมีคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 21 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. มาทำหน้าที่แทน ซึ่งการจะบรรจุเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการทั้ง 21 คนที่มีขึ้นใหม่
ส่วนกระแสการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ตนไม่รู้สึกหนักใจกับกระแสข่าวที่เกิดขึ้น หากผ่านก็ไปทำประชามติ ไม่ผ่านก็ต้องปล่อยให้เป็นไปโดยธรรมชาติ ระบุไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญชั่วคราว กรรมาธิการยกร่างฯ ก็อยากให้ผ่าน แต่ถ้า สปช.ส่วนใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ควรผ่านก็เป็นสิ่งที่รับได้ไม่ใช่เรื่องเสียของ แต่ก็จะทำให้เวลายืดยาวออกไปอีก ที่สำคัญคือจะมีกรรมาธิการยกร่างฯ ใหม่ 21 คน มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ส่วนที่มีข้อเสนอให้สมาชิก สปช.ทำความเห็นส่วนตัวประกอบการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าควรคำถึงหลักการที่ควรเป็นไปตามประเพณีที่ให้ลงมติโดยเปิดเผยด้วยการขานชื่อว่าเห็นชอบหรือไม่ โดยไม่ต้องให้เหตุผลประกอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำกันตั้งแต่ปี 2547
“ถึงแม้ว่า สปช.จะหมดวาระไปแล้ว แต่การปฏิรูปยังไม่หมดไป เพราะในร่างรัฐธรรมนูญที่ยังร่างอยู่มีภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูป และว่าด้วยการสร้างความปรองดอง พร้อมนำหลักการสำคัญของงานปฏิรูป 11 ด้านที่ได้รับความเห็นชอบจากกรรมาธิการวิสามัญ18 คณะ สนช.ไปบัญญัติตามหลักการหัวใจไว้ 4 มาตรา พร้อมจัดทำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศประกอบด้วยมาตราต่างๆ 29 มาตรา ที่จะเสนอให้สภา สปช.เห็นชอบในเร็ววันนี้ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน สปช. ทุกอย่างก็จบลง ทั้งกรรมาธิการยกร่างฯ และ สปช. ก็ต้องรอให้กรรมาธิการยกร่างฯ ชุดใหม่ 21 คนมาพิจารณาว่าจะเอาอะไรที่ สปช.ทำอะไรไว้ เพื่อจะนำไปใส่ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่าน สปช.และประชามติก็ถือว่างานเกือบ 1 ปีของ สปช.จะต้องทำต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญนี้จะกำหนดหลักการที่เป็นหัวใจไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ โดยกำหนดให้ สนช.ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 90 วัน รวม 6 ฉบับ”