xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.จี้คลังจ่ายชดเชยแล้ง - “อุเทน” หยันกดค่าบาทไม่คุ้มเสีย แนะประหยัดงบ คุมราคาสินค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
เลขาฯ ประชาธิปัตย์ จี้นายกรัฐมนตรี สั่งคลังจ่ายชดเชยภัยแล้งให้เกษตรกร ส่วนเศษที่เหลือหักเป็นค่าประกันภัยพืชผล ด้าน หัวหน้าพรรคคนไทย บอกส่งออกไทยติดลบน่าห่วง แถมสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ปรับลดจีดีพี สะท้อนทีมเศรษฐกิจผิดพลาด หยันลดดอกเบี้ยกดค่าบาทอ่อนคิดตื้นไป ได้ไม่คุ้มเสีย แนะประหยัดงบแทน ควบคุมค่าสินค้าและบริการภายในประเทศ หนุนไม่ต่อรถเมล์ - รถไฟฟรี

วันนี้ (2 ส.ค.) นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาภัยแล้งของรัฐบาลว่า ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยปัญหาภัยแล้งให้กับชาวนาและเกษตรกร เนื่องจากกระทรวงการคลังมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้ง โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ ดังนั้น ตนจึงอยากเสนอให้ช่วยเหลือเกษตรกรเฉลี่ยคนละไม่เกิน 20 ไร่ตามเกณฑ์เดิม และจ่ายเงินชดเชยไร่ละ 1,000 กว่าบาท โดยเศษที่เหลือขอให้หักเป็นค่าประกันภัยพืชผล เพราะปีนี้ถือเป็นปีที่แล้งที่สุดในรอบ 36 ปี และหากปีหน้าเกิดน้ำท่วม ฝนแล้ง บริษัทประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนนี้ รัฐบาลจะได้ไม่ต้องกังวลในการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร เพราะมีเงินประกันความเสี่ยงให้เกษตรกรแล้ว ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่ประชานิยม และข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ทำให้เกษตรรู้จักกับการประกันความเสี่ยง

ด้าน นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงการที่กระทรวงพาณิชย์ ออกมาเปิดเผยตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน มิ.ย. 58 ติดลบ 7.87% ว่า น่าเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะตัวเลขการส่งออกที่ลดลงค่อนข้างสูง และยังเป็นการขยายตัวติดลบเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน รวมทั้งขยายตัวติดลบมากสุดในรอบ 3 ปี 6 เดือนอีกด้วย ขณะเดียวกัน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของปีนี้เหลือเพียง 3% จากที่ก่อนหน้านี้ก็เคยปรับลดมาแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลดำเนินนโยบายผิดพลาดมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายที่หวังให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เพื่อกระตุ้นยอดการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแนวคิดชั้นเดียว หรือตื้นเกินไป สุดท้ายก็ไม่ได้ผลตามที่คาดไว้ การส่งออกนอกจากไม่ดีขึ้นยังแย่กว่าเดิม ส่วนการท่องเที่ยวอาจจะดีขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไป เพราะในทางกลับกัน ทำให้ในภาคส่วนที่เกี่ยวกับการนำเข้าต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการนำเข้าพลังงานของภาครัฐที่ต้องใช้งบประมาณมากขึ้นอย่างมหาศาล

“ส่วนตัวได้มีโอกาสเดินทางไปในหลายประเทศ ทั้งในเอเชียและยุโรป ก็พบว่าส่วนใหญ่มีบรรยากาศไม่คึกคักเท่าที่ควร และจากการสอบถามก็ทำให้ทราบว่า การใช้จ่ายใช้สอยของทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวลดลง เมื่อสภาวะทั่วโลกเป็นเช่นนี้ และรัฐบาลก็มักอ้างว่าเศรษฐกิจโลกซบเซา จึงต้องตีโจทย์ให้แตก ว่า ไม่ใช่ว่าของจากประเทศไทยขายไม่ได้ แต่คนซื้อไม่มีเงินมาซื้อต่างหาก ดังนั้น ช่วงนี้ไม่ควรคิดแต่เรื่องสร้างรายได้จากการส่งออก หรือการท่องเที่ยว อย่างที่เป็นอยู่ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ ปรับนโยบายในการประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายมากกว่า” นายอุเทน กล่าว

นายอุเทน กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเคยเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ให้นำคนที่คิดได้และทำได้จริงเข้ามาทำงาน แต่เมื่อเห็นรายชื่อแคนดิเดตที่ออกมาในขณะนี้ ก็ไม่เชื่อว่าจะสามารถเข้ามากอบกู้วิกฤตได้ จึงอยากฝากไปถึงนายกฯ ว่า ต้องนำคนที่คิดได้ทำเป็น และคิดเป็นได้เข้ามา และหากมีการปรับตัวบุคคลแล้ว ก็จำเป็นต้องปรับแนวนโยบายควบคู่กันไปด้วย มิเช่นนั้น ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ที่ผ่านมา เห็นด้วยกับการที่นายกฯได้สั่งชะลอการใช้งบประมาณในหลายโครงการขนาดใหญ่ แต่ควรที่จะเน้นย้ำภาครัฐให้มีการพิจารณาการใช้งบประมาณอย่างถี่ถ้วนถึงประโยชน์ที่ได้กลับมา โดยเฉพาะในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงท้ายของปีงบประมาณ ไม่จำเป็นต้องเร่งรัดใช้จ่ายงบประมาณให้หมด โดยที่ผลตอบแทนที่ได้กลับมาไม่คุ้มค่า เรื่องใดไม่จำเป็นก็ให้ชะลอไว้ เพื่อไปดำเนินการในช่วงที่มีความพร้อมมากกว่านี้ งบประมาณที่เหลือก็นำไปสมทบกับงบประมาณในปีหน้าได้

นายอุเทน กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากการประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว รัฐบาลควรหันมาให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิต ต้นทุนสินค้า และบริการภายในประเทศด้วย ซึ่งจะช่วยประชาชนในแง่ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน อีกทั้งยังจะแก้ไขปัญหารายได้ของการท่องเที่ยวที่ลดลงด้วย เนื่องจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ มองว่า ค่าบริการ และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงเกินความเป็นจริง จนมีความรู้สึกว่าถูกเอารัดเปรียบ หรือมีการค้ากำไรเกินควร จึงเลือกที่จะไม่ใช้จ่ายมากเท่าที่ควร รัฐบาลจึงต้องเข้ามาควบคุม เริ่มจากต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตลาดโลกลดลง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สินค้าและบริการที่เกี่ยวกับภาคขนส่งในประเทศกลับไม่ลดลงเลย หากรัฐบาลเอาจริงในการควบคุม หรือทำให้ปรับลดราคาลงได้ ก็เชื่อว่า จะทำให้มีการหมุนเวียนของเงินในระบบมากขึ้น ตลอดจนอัตราค่าโดยสารแท็กซี่สาธารณะที่กำลังจะเพิ่มขึ้นตามระเบียบใหม่ ยิ่งไม่สะท้อนข้อเท็จจริงของปัญหา เพราะการที่ผู้ประกอบการ หรือคนขับแท็กซี่ ประสบปัญหาขาดทุน ไม่ใช่เพราะรายได้ที่น้อยลง แต่เป็นเพราะจำนวนรถแท็กซี่ที่มากเกินไป ปล่อยให้รถเก่าและไม่ได้มาตรฐานออกมาวิ่ง โดยขาดการควบคุมจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ

“นายกฯ ต้องคิดเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ให้เหมือนกับค่าใช้จ่ายในบ้าน ที่ต้องไม่ใช่เงินเกินตัว สิ่งไหนไม่จำเป็นก็ต้องตัดไปก่อน และเลือกใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นในสิ่งที่จะได้ประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญ ต้องเอาจริงกับการควบคุม และลดต้นทุนการผลิตในประเทศ ซึ่งจะเป็นทางรอดของวิกฤตในตอนนี้ ทั้งยังช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้ด้วย” นายอุเทน ระบุ

นายอุเทน ยังได้กล่าวถึงมติ ครม. ที่ให้ขยายเวลาโครงการให้บริการรถไฟ - รถเมล์ฟรี แก่ประชาชนออกไปอีก 3 เดือนระหว่างวันที่ 1 ส.ค.- 31 ต.ค. นี้ ด้วยว่า ในความเป็นจริงโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนในระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือน - 1 ปี แต่ปัจจุบันมีการดำเนินการมาแล้วกว่า 8 ปี สร้างความเสียหายให้แก่หน่วยงานทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นอย่างมาก แม้จะมีเงินอุดหนุนจากทางรัฐบาลก็ตาม จึงขอสนับสนุนรัฐบาลในการที่จะไม่ขยายมาตรการนี้ต่อไปอีก และกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะโดยสารฟรีให้ชัดเจน ซึ่งหากเป็นตามประเทศอื่น ๆ ก็ควรจำกัดเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ และนักเรียน นักศึกษา เท่านั้น เพราะสามารถแสดงบัตรประชาชน หรือบัตรนักศึกษาได้เลย ส่วนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยนั้น ก็ควรได้รับประโยชน์ แต่การแสดงสถานะอาจทำได้ยาก อีกทั้งการออกแบบระบบสมาร์ทการ์ดก็อาจจะทำให้สูญเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะสิ้นสุดการขยายเวลาในรอบนี้ เพราะเมื่อพ้นปีนี้ไปที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) หากรัฐบาลยังคงมาตรการนี้อยู่โดยไม่จำกัดขอบเขตให้ชัดเจน ก็จะไม่สามารถควบคุมผู้ที่แฝงเข้ามาใช้ประโยชน์จากการโดยสารรถสาธารณะฟรีได้ จะยิ่งสร้างความเสียหายให้กับภาครัฐ ในการรับภาระเรื่องสวัสดิการให้แก่บุคคลสัญชาติอื่น ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของโครงการไปอย่างสิ้นเชิง


กำลังโหลดความคิดเห็น