xs
xsm
sm
md
lg

นักเศรษฐศาสตร์เห็นใจบิ๊กตู่ ทำเต็มที่แต่เศรษฐกิจไม่ฟื้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็น นักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 27 แห่ง จำนวน 63 คน เรื่อง “ความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยทำไมยังไม่ฟื้น”โดยเก็บข้อมูลระหว่าง วันที่ 3-14 กรกฎาคม 58 ที่ผ่านมา พบว่า
นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 74.6 เห็นว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นในปัจจุบันคือ เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้น หรือฟื้นไม่เต็มที่ ส่งผลต่อการส่งออก รองลงมาเป็นขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยที่ลดลง (ร้อยละ 46.6) ราคาสินค้าเกษตรหลายๆชนิดที่ตกต่ำ (ร้อยละ 32.3) และหนี้ภาคครัวเรือนที่ส่งผลต่อการบริโภคของคนในประเทศ (ร้อยละ 31.2)
เมื่อถามว่า“คิดเห็นอย่างไรกับผลงานการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.4 เห็นว่า รัฐบาลทำดีที่สุดแล้วภายใต้ข้อจำกัดและปัจจัยต่างๆ ที่กระทบ รองลงมาร้อยละ 36.5 เห็นว่า รัฐบาลน่าจะทำได้ดีกว่านี้ และร้อยละ 7.9 บอกว่าน่าผิดหวัง มีเพียงร้อยละ 3.2 ที่เห็นว่า ดีกว่าที่คาดหวังไว้
สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าในตอนนี้ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 71.4 เสนอว่า รัฐบาลต้องเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ อย่างเร่งด่วนเป็นพิเศษ รองลงมาร้อยละ 61.9 เสนอให้เร่งช่วยเหลือเกษตรกร/แก้ปัญหาภัยแล้ง และร้อยละ 52.4 เสนอให้เร่งกระตุ้นกำลังซื้อ/กระตุ้นการบริโภค

ด้านนายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงการที่ กระทรวงพาณิชย์ ออกมาเปิดเผยตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน มิ.ย.58 ติดลบ 7.87 % ว่า น่าเป็นห่วงภาวะศก.ของไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะตัวเลขการส่งออกที่ลดลงค่อนข้างสูง และยังเป็นการขยายตัวติดลบเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน รวมทั้งขยายตัวติดลบมากสุดในรอบ 3 ปี 6 เดือนอีกด้วย ขณะเดียวกัน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของปีนี้ เหลือเพียง 3% จากที่ก่อนหน้านี้ ก็เคยปรับลดมาแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลดำเนินนโยบายผิดพลาดมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ที่หวังให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เพื่อกระตุ้นยอดการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแนวคิดชั้นเดียว หรือตื้นเกินไป สุดท้ายก็ไม่ได้ผลตามที่คาดไว้ การส่งออกนอกจากไม่ดีขึ้นยังแย่กว่าเดิม ส่วนการท่องเที่ยวอาจจะดีขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไป เพราะในทางกลับกันทำให้ในภาคส่วนที่เกี่ยวกับการนำเข้าต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการนำเข้าพลังงานของภาครัฐที่ต้องใช้งบประมาณมากขึ้นอย่างมหาศาล
" รัฐบาลก็มักอ้างว่า เศรษฐกิจโลกซบเซา จึงต้องตีโจทย์ให้แตกว่าไม่ใช่ว่าของจากประเทศไทยขายไม่ได้ แต่คนซื้อไม่มีเงินมาซื้อต่างหาก ดังนั้นช่วงนี้ ไม่ควรคิดแต่เรื่องสร้างรายได้จากการส่งออก หรือการท่องเที่ยวอย่างที่เป็นอยู่ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ ปรับนโยบายในการประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายมากกว่า" นายอุเทน กล่าว
นายอุเทน กล่าวว่า ตนเคยเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปรับครม. โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ให้นำคนที่ดิดได้ และทำได้จริงเข้ามาทำงาน แต่เมื่อเห็นรายชื่อแคนดิเดตที่ออกมาในขณะนี้ ก็ไม่เชื่อว่าจะสามารถเข้ามากอบกู้วิกฤติได้ จึงอยากฝากไปถึงนายกฯ ว่า ต้องนำคนที่คิดได้ ทำเป็น และคิดเป็น ได้เข้ามาและหากมีการปรับตัวบุคคลแล้ว ก็จำเป็นต้องปรับแนวนโยบายควบคู่กันไปด้วย มิเช่นนั้นก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
ที่ผ่านมาตนเห็นด้วยกับการที่นายกฯ ได้สั่งชะลอการใช้งบประมาณในหลายโครงการขนาดใหญ่ แต่ควรที่จะเน้นย้ำภาครัฐ ให้มีการพิจารณาการใช้งบประมาณอย่างถี่ถ้วน ถึงประโยชน์ที่ได้กลับมา โดยเฉพาะในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงท้ายของปีงบประมาณ ไม่จำเป็นต้องเร่งรัดใช้จ่ายงบประมาณให้หมด โดยที่ผลตอบแทนที่ได้กลับมาไม่คุ้มค่า เรื่องใดไม่จำเป็นก็ให้ชะลอไว้เพื่อไปดำเนินการในช่วงที่มีความพร้อมมากกว่านี้ งบประมาณที่เหลือก็นำไปสมทบกับงบประมาณในปีหน้าได้
นอกเหนือจากการประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว รัฐบาลควรหันมาให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิต ต้นทุนสินค้า และบริการภายในประเทศด้วย ซึ่งจะช่วยประชาชนในแง่ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน อีกทั้งยังจะแก้ไขปัญหารายได้ของการท่องเที่ยวที่ลดลงด้วย เนื่องจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ มองว่า ค่าบริการ และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงเกินความเป็นจริง จนมีความรู้สึกว่าถูกเอารัดเปรียบ หรือมีการค้ากำไรเกินควร จึงเลือกที่จะไม่ใช้จ่ายมากเท่าที่ควร รัฐบาลจึงต้องเข้ามาควบคุม เริ่มจากต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตลาดโลกลดลง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สินค้าและบริการที่เกี่ยวกับภาคขนส่งในประเทศกลับไม่ลดลงเลย หากรัฐบาลเอาจริงในการควบคุม หรือทำให้ปรับลดราคาลงได้ ก็เชื่อว่าจะทำให้มีการหมุนเวียนของเงินในระบบมากขึ้น ตลอดจนอัตราค่าโดยสารแท็กซี่สาธารณะที่กำลังจะเพิ่มขึ้นตามระเบียบใหม่ ยิ่งไม่สะท้อนข้อเท็จจริงของปัญหา เพราะการที่ผู้ประกอบการหรือคนขับ
แท็กซี่ประสบปัญหาขาดทุน ไม่ใช่เพราะรายได้ที่น้อยลง แต่เป็นเพราะจำนวนรถแท็กซี่ที่มากเกินไป ปล่อยให้รถเก่าและไม่ได้มาตรฐานออกมาวิ่ง โดยขาดการควบคุมจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ
" นายกฯต้องคิดเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ให้เหมือนกันค่าใช้จ่ายในบ้าน ที่ต้องไม่ใช่เงินเกินตัว สิ่งไหนไม่จำเป็นก็ต้องตัดไปก่อน และเลือกใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นในสิ่งที่จะได้ประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญต้องเอาจริงกับการควบคุม และลดต้นทุนการผลิตในประเทศ ซึ่งจะเป็นทางรอดของวิกฤติในตอนนี้ ทั้งยังช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้ด้วย" นายอุเทน ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น