ผ่าประเด็นร้อน
ถ้าบอกว่า “ไม่เหนือความคาดหมาย” หากพิจารณาจากปฏิกิริยาของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อประเทศไทย หลังการเกิดขึ้นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา กับการที่เมื่อค่ำวันที่ 27 กรกฎาคม (เวลาของสหรัฐฯ) โดยกระทรวงการต่างประเทศของเขาประกาศคง “ระดับเทียร์ 3” หรือคงระดับต่ำสุดของการจัดการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ หรือที่เรียกว่า “การค้าทาสยุคใหม่” ที่น่าสนใจก็คือ ประเทศไทยกำลังถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ล้าหลังพร้อมๆ กับอีกหลายประเทศ ทั้งในเอเชีย แอฟริกาและยุโรปบางประเทศที่เป็นคู่อริกับสหรัฐฯ
ทั้งนี้ จากรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ ปี 2015 (Trafficking in Persons - TIP) ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่ในวันจันทร์ (27 ก.ค.) ยังคงจัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม “เทียร์ 3” ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุดเช่นเดียวกับอิหร่าน ลิเบีย เกาหลีเหนือ เอธิโอเปีย ซีเรีย เยเมน รัสเซีย และชาติอื่นๆ ที่ล้วนถูกกล่าวหาว่าเพิกเฉยต่อสิ่งที่วอชิงตันให้คำจำกัดความว่า “ทาสยุคใหม่”
รายงานความยาว 382 หน้ากระดาษที่เผยแพร่โดยรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ ระบุว่า เทียร์ 3 หมายถึงกลุ่มประเทศซึ่งรัฐบาลยังไม่เคารพกฎหมายและหลักปฏิบัตินานาชาติที่ว่าด้วยการค้ามนุษย์ และ “ไม่พยายามที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง”
อย่างไรก็ดี การที่มาเลเซีย และคิวบา ได้รับการปรับจากเทียร์ 3 ขึ้นไปอยู่ใน “กลุ่มเฝ้าระวัง เทียร์ 2” ก็ทำให้นักวิจารณ์บางคนอดคิดไม่ได้ว่า รัฐบาลบารัค โอบามากำลังแทรกแซงการจัดอันดับเพื่อ “ตกรางวัล” ให้แก่ประเทศที่อเมริกาพอใจ
เป็นที่รู้กันอยู่ว่า มาเลเซีย คือหนึ่งในประเทศริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อเข้าร่วมเขตการค้าเสรีที่สหรัฐฯ เป็นโต้โผใหญ่ ส่วนรัฐคอมมิวนิสต์คิวบาเองก็เพิ่งรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ หลังจากที่เป็นอริกันมานานกว่า 50 ปี
นั่นเป็นเสียงวิจารณ์ของสื่อต่างประเทศโดยอ้างความเห็นจากบรรดานักการเมืองคนสำคัญ โดยเฉพาะจากฝั่งพรรคริพับลิกัน ที่มองว่ารัฐบาลโอบามากำลังกำลังแทรกแซงการจัดอันดับดังกล่าวจากผลประโยชน์ทางการค้าและทางการเมือง มากกว่าการพิจารณาตามความเป็นจริง
อย่างไรก็ดี หลังมีคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ออกมา ทางอุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยก็ออกมาแสดงความเห็นว่า ผลที่ออกมาแบบนี้เป็นเพราะการพิจารณาจากข้อมูลเก่าก่อนเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และหวังว่าในปีหน้าอันดับของประเทศไทยคงจะดีกว่านี้หลังจากที่ไทยมีมาตรการในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนว่าเมื่อไทยถูกสหรัฐอเมริกาจัดอันดับในชั้นต่ำสุดแบบนี้จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ มากน้อยแค่ไหน แต่ก็เชื่อว่าคงมีผลในด้านการถูกตรวจสอบมากขึ้นกว่าเดิม
แต่ที่น่าเจ็บปวดไปกว่านั้นก็คือ มันทำให้เรารู้สึกโกรธขึ้นมา และมองเหมือนว่าเรา “ถูกกระทำ” อย่างไม่เป็นธรรม ราวกับว่านี่คือการ “ชี้ชะตา” จากประเทศที่มีศักยภาพเหนือกว่าเป็นคนกำหนดได้ทุกอย่าง จนบางครั้งเราไม่มีทางโต้แย้งอะไรได้เลย แม้ว่าสิ่งที่เขาตำหนิมาในเรื่อง “การค้ากาม” การเอาเปรียบแรงงานต่างด้าว การทุจริตของข้าราชการไทยในเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องจริง แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับบางประเทศที่ได้รับการเลื่อนอันดับขึ้นมา โดยที่เราอยู่ระดับเดียวกับอีกหลายประเทศถูกมองในกลุ่มประเทศป่าเถื่อนล้าหลัง แบบนี้มากกว่าที่ทำให้เราต้องหันมาทบทวนตัวเองกันครั้งใหญ่เหมือนกันว่าความสัมพันธ์ในลักษณะแบบนี้จะต้องคงอยู่แบบเดิมต่อไปหรือไม่
ที่น่าจับตาก็คือ กรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) ขีดเส้นให้เราแก้ปัญหาเรื่องการทำประทงผิดกฎหมาย คาดว่าเตรียมที่จะประกาศผลภายในเดือนตุลาคมนี้ หากผลออกมาในทางลบก็มีสิทธิ์ที่จะถูกคว่ำบาตรทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าด้านอาหารทะเลที่มีมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปี เมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์ในช่วงที่ผ่านมาหลังจากมี คสช. และยิ่งมีการประกาศ “เทียร์ 3” จากสหรัฐฯ นำร่องมาแบบนี้มันก็มีแนวโน้มน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้เตือนให้ภาคเอกชนไทยเตรียมรับมือกับปัญหาในอนาคตแล้ว!