xs
xsm
sm
md
lg

Focus : วิจารณ์ขรม! สหรัฐฯ ปรับ “มาเลเซีย-คิวบา” ขึ้นเทียร์ 2 ค้ามนุษย์-เอาอะไรชี้วัด?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - หลังจากที่สหรัฐฯ คงอันดับไทย-รัสเซียอยู่ในขั้น “เทียร์ 3” ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ปี 2015 โดยอ้างถึงความล้มเหลวในการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดเพื่อแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ในขณะที่มาเลเซียและคิวบากลับได้รับการเลื่อนขึ้นไปอยู่ “เทียร์ 2” ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือผลการตัดสินที่เป็นธรรม หรือว่าสะท้อนเบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับ “การเมืองและผลประโยชน์” ที่อเมริกาจะได้รับ

รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ ปี 2015 (Trafficking in Persons - TIP) ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่ในวันจันทร์ (27 ก.ค.) ยังคงจัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม “เทียร์ 3” ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุดเช่นเดียวกับอิหร่าน ลิเบีย เกาหลีเหนือ เอธิโอเปีย ซีเรีย เยเมน รัสเซีย และชาติอื่นๆ ที่ล้วนถูกกล่าวหาว่าเพิกเฉยต่อสิ่งที่วอชิงตันให้คำจำกัดความว่า “ทาสยุคใหม่”

รายงานความยาว 382 หน้ากระดาษที่เผยแพร่โดยรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ ระบุว่า เทียร์ 3 หมายถึงกลุ่มประเทศซึ่งรัฐบาลยังไม่เคารพกฎหมายและหลักปฏิบัตินานาชาติที่ว่าด้วยการค้ามนุษย์ และ “ไม่พยายามที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง”

อย่างไรก็ดี การที่มาเลเซียและคิวบาได้รับการปรับจากเทียร์ 3 ขึ้นไปอยู่ใน “กลุ่มเฝ้าระวัง เทียร์ 2” ก็ทำให้นักวิจารณ์บางคนอดคิดไม่ได้ว่า รัฐบาลบารัค โอบามากำลังแทรกแซงการจัดอันดับเพื่อ “ตบรางวัล” ให้แก่ประเทศที่อเมริกาพอใจ

เป็นที่รู้กันอยู่ว่า มาเลเซียคือหนึ่งในประเทศริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อเข้าร่วมเขตการค้าเสรีที่สหรัฐฯ เป็นโต้โผใหญ่ ส่วนรัฐคอมมิวนิสต์คิวบาเองก็เพิ่งรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ หลังจากที่เป็นอริกันมานานกว่า 50 ปี

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การที่มาเลเซียกำลังเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) กับสหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่ช่วยให้กัวลาลัมเปอร์ได้ “เลื่อนขั้น” มาอยู่เทียร์ 2 ใช่หรือไม่ ซาราห์ ซีวอลล์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการสิทธิมนุษยชน ก็รีบปฏิเสธทันทีว่า “ไม่ ไม่ ไม่ใช่เลย”

รายงาน TIP อ้างว่า รัฐบาลมาเลเซียได้ใช้ “ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญ” ในการต่อสู้ปัญหาการค้ามนุษย์

ซีวอลล์ยอมรับว่า การค้นพบหลุมฝังศพหมู่ในรัฐปะลิสใกล้ชายแดนไทยซึ่งคาดว่าเกี่ยวข้องกับแก๊งค้ามนุษย์ในมาเลเซีย เป็นสิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ “กังวลอย่างยิ่ง” ทว่าข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยหลังจากที่กระบวนการทบทวนอันดับ TIP เสร็จสิ้นไปแล้วในเดือนมีนาคม
จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ หลายคนแสดงความเป็นห่วงผลการจัดอันดับ TIP ปีนี้ที่ดูจะมีการเมืองเคลือบแฝงอยู่ไม่น้อย

“พวกเขากำลังเอาการเมืองมานำหน้าหลักสิทธิมนุษยชน” โรเบิร์ต เมเนนเดซ ส.ว.พรรคเดโมแครต กล่าว พร้อมเตือนว่า การที่สหรัฐฯ ยอมผ่อนปรนให้มาเลเซียและคิวบาเท่ากับ “ตีตรารับรองแก่ประเทศที่ยังคงล้มเหลวในการกระทำขั้นพื้นฐานเพื่อให้คู่ควรต่อการปรับอันดับ”

ด้านสมาพันธ์เพื่อการยุติระบบทาสและการค้ามนุษย์ (Alliance to End Slavery and Trafficking) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ก็กล่าวหารัฐบาลโอบามาว่าเอาผลประโยชน์ทางการค้ามาอยู่เหนือหลักสิทธิมนุษยชน และเลื่อนขั้นให้มาเลเซียอย่างไม่เป็นธรรม

รัสเซียซึ่งมีแรงงานต่างชาติอยู่มากถึง 12 ล้านคน ถูกวอชิงตันจัดเข้ากลุ่มเทียร์ 3 มาตั้งแต่ปี 2013

“แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องเผชิญการเอารัดเอาเปรียบ และสภาพการทำงานที่เลวร้ายไม่ต่างจากเหยื่อค้ามนุษย์ เช่น ถูกยึดเอกสารประจำตัว ไม่ได้รับค่าตอบแทนในการทำงาน ถูกทำร้ายร่างกาย หรือไม่ก็มีคุณภาพชีวิตที่ต่ำมาก” รายงานของสหรัฐฯ เผย

วอชิงตันระบุด้วยว่า รัฐบาลมอสโกไม่มีแผนปฏิบัติการแห่งชาติและกองทุนสำหรับปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ “อีกทั้งการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดก็อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับขอบเขตปัญหาค้ามนุษย์ในรัสเซีย”

จีนถูกปรับอันดับขึ้นมา 1 ขั้นอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังเทียร์ 2 เมื่อปี 2014 และยังคงสถานะเดิมในปีนี้ ส่วนคิวบาซึ่งติดกลุ่มเทียร์ 3 มานานถึง 12 ปีเต็มได้รับการอัปเกรดขึ้นมาอยู่เทียร์ 2 โดยสหรัฐฯ อ้างว่า กรุงฮาวานามี “ความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง” เพื่อดำเนินคดีและเอาผิดกับเครือข่ายค้ามนุษย์ทางเพศ
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก แห่งมาเลเซีย
ประเทศตะวันตกโดยเฉพาะในโซนยุโรปและออสเตรเลีย รวมไปถึงอิสราเอล ไต้หวัน และอาร์เมเนีย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเทียร์ 1 ซึ่งมีการสกัดกั้นขบวนการค้ามนุษย์อย่างได้ผล และปฏิบัติตามมาตรฐานนานาชาติ

ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระบุว่า ธุรกิจค้ามนุษย์มีมูลค่าสูงถึง 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแต่ละปี โดยกว่าครึ่งมาจากการค้ากามซึ่งทำเงินมากถึง 99,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

วอชิงตันประเมินว่า ปัจจุบันมีประชากรโลกราว 20 ล้านคนที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

ไทยซึ่งเป็นมิตรเก่าแก่ของอเมริกาถูกจัดอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 มาแล้ว 2 ปีซ้อน ซึ่งรายงานของสหรัฐฯ ชี้ว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยมีต้นตอจากธุรกิจค้ากามซึ่งมีชาวเมียนมา ลาว และกัมพูชาจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ รวมถึงการล่วงละเมิดแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมประมง

“เจ้าหน้าที่รัฐไทยบางคนมีส่วนพัวพันกับการค้ามนุษย์ อีกทั้งการทุจริตคอร์รัปชันก็เป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการปราบปรามธุรกิจมืดเหล่านี้”

กระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ออกคำแถลงตอบโต้ว่า การจัดอันดับของสหรัฐฯ ไม่สะท้อนอย่างถูกต้องต่อความพยายาม และความก้าวหน้าหลายๆ ด้านในการดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทยที่เกิดขึ้นจริงในช่วงปีที่ผ่านมา

“แม้ยังคงอันดับเดิม แต่ไทยยังคงมุ่งมั่นดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อไป เพื่อความมั่นคงและมนุษยธรรม พร้อมกับเพิ่มพูนความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ตลอดจนขยายความร่วมมือกับประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่อไป”

กำลังโหลดความคิดเห็น