xs
xsm
sm
md
lg

ลั่นซื้อเรือดำน้ำยุคบิ๊กตู่-งบปี59 ทหารเรือเอาแน่ USAป้ายสีค้ามนุษย์ทุบศก.-EUจ่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน- ทร.เร่งแจกเอกสารทำความเข้าใจซื้อเรือดำน้ำ ย้ำต้องมีเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางทะเลของชาติมูลค่า24 ล้านล.ต่อปี วอนทุกฝ่ายช่วยหนุน ยันจะทำให้ทันในครม.ชุดนี้ และงบประมาณปี 59 นี้ นายกฯเชื่ออันดับค้ามนุษย์ของไทยจะดีขึ้นจาก"เทียร์ 3"ในคราวหน้า มั่นใจไม่ถึงขั้นคว่ำบาตร ด้าน ผบ.ทร. เชื่อไม่กระทบเรื่องประมงของอียู "จตุพร"เชื่อปม "อุยกูร์-รัฐประหาร" ทำไทยยังค้างอยู่เทียร์ 3 ด้านอธ.อัยการต่างประเทศ โพสต์ซัดมะกันต้องการทุบศก.ไทย หักหน้ารัฐบาลจีน จับตาเปิดทางมิตรUSAบีบไทยต่อ ด้านอุปทูตสหรัฐ ระบุ การคว่ำบาตรยังมีอยู่

วานนี้ (28 ก.ค.) ที่หอประชุมกองทัพเรือ พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ (ผช.ผบ.ทร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการจัดหาเรือดำน้ำ กล่าวถึงความคืบหน้า การจัดทำเอกสารชี้แจงต่อสาธารณชนต่อกรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำ ภายหลังจากที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม สั่งการให้กองทัพเรือเร่งทำความเข้าใจกับสาธารณชน ว่า ในรายละเอียดของเอกสาร จะมีจำนวน 2 แผ่น ขนาด เอ 4 โดยจะชี้แจงเหตุผลความจำเป็นว่า ทำไมกองทัพเรือต้องมีเรือดำน้ำ รวมถึงความคุ้มค่าในการจัดซื้อเรือดำน้ำ เพื่อเผยแพร่เป็นความรู้และสร้างความรับรู้ต่อสาธารณชน โดยหลังจากนี้กองทัพเรือ จะทยอยชี้แจงต่อสื่อมวลชน และเผยแพร่ในเวทีการบรรยายต่างๆ ตามนโยบายของ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)

อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกฝ่ายช่วยสนับสนุนกองทัพเรือด้วย เพราะเรือดำน้ำถือเป็นยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ ส่วนแนวโน้มจากกระแสด้านต่างๆ ตนเห็นว่าขณะนี้ก็เริ่มดีขึ้น

เมื่อถามว่า คิดว่าจะทันต่อการพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้ หรือไม่ พล.อ.ร.ณรงค์พล กล่าวว่า คาดว่าจะทันต่อการพิจารณาของครม.ชุดนี้ และน่าจะทันในช่วงปีงบประมาณนี้ด้วย กองทัพเรือซื้อเรือดำน้ำ เพราะจำเป็น และต้องเริ่มปีนี้ เนื่องจากกว่าจะได้เรือดำน้ำมาใช้ก็ต้องรออีก 6 ปี ไม่ใช่ซื้อปุ๊บได้ปั้บ รวมถึงต้องฝึกคนด้วย ทั้งการใช้เรือดำน้ำ และการรบตามภารกิจของเรือดำน้ำ รวมแล้วคาดว่าจะใช้เวลาทั้งหมด 8 ปี ถึงจะสัมฤทธิ์ผล

"หากเรายิ่งช้า ทุกอย่างก็จะช้าไปอีกเรื่อยๆ รวมทั้งค่าเงินก็จะเปลี่ยนไป เปลี่ยนมา เราไม่รู้สถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปหรือจะมีอะไรเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ตอนนี้เรามีผลประโยชน์ทางทะเล มูลค่า 24 ล้านล้านบาทต่อปี และเชื่อว่าต่อไปจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นเราต้องมีเรือดำน้ำ" พล.ร.อ.ณรงค์พล กล่าว

***นายกฯมั่นใจอันดับค้ามนุษย์ไทยจะดีขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงกรณีทางการสหรัฐฯ ยังคงให้ไทยอยู่ใน"เทียร์ 3" ของการจัดอันดับด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ ว่า เราจะทำงานต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องของกฎ กติกาสากล ซึ่งเราก็ต้องทำ เพราะที่ผ่านมามีปัญหามาก ซึ่งเราต้องแก้ไขในทุกมิติ ทั้งด้านกฎหมาย วิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ และการลงโทษต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด โดยมีการจดทะเบียนแรงงาน พิสูจน์สัญชาติ ดูเรื่องของผู้ประกอบการว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือไม่ รัฐบาลดูทุกมิติอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามทางสถานทูตสหรัฐฯ ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวเพิ่มเติมว่า เห็นความตั้งใจในการดำเนินการของไทย แต่ช่วงที่มีการประเมินกระบวนการนั้นเพิ่งเริ่ม จึงต้องเสนอความคิดเห็นออกมาตามนั้น และหลังจากนั้นสหรัฐฯ ก็เห็นความตั้งใจของเรา ซึ่งคิดว่าจะดีขึ้นในโอกาสหน้า

"ขอให้ใจเย็นๆ อย่าไปกังวล ถ้าเราทำความดีแล้ว ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าเราแก้ไข วันนี้เราไม่ได้แก้เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เราแก้เพื่อประเทศไทยของเรา เช่นให้การประมงของเราถูกกฎหมาย จะได้ไม่เป็นคดีความกับประเทศโน้นประเทศนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ รักษาทรัพยากรธรรมชาติของเราไว้ให้นานที่สุด อย่างทรัพยากรสัตว์น้ำทางประมง เพราะมันถูกจับมากเกินไปหรือเปล่า โดยการใช้อุปกรณ์ที่ผิดกฎหมายหรือไม่"

**มั่นใจ สหรัฐฯไม่คว่ำบาตร

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จะไม่มีผลกระทบโดยตรงสืบเนื่องมาจาก เทียร์ 3 เพราะ 1 ปี ที่ผ่านมา ก็ไม่มีผลกระทบ และเชื่อว่า 90 วันหลังจากนี้ ที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ จะต้องส่งรายงานให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พิจารณาว่า จะคว่ำบาตรไทยหรือไม่นั้น ตนพูดได้อย่างชัดเจน จะไม่มีการคว่ำบาตรไทย

เมื่อถามว่าการจัดอันดับค้ามนุษย์ครั้งนี้ จะมีผลต่อกรณีที่ สหภาพยุโรป (อียู) เตรียมจะประเมินเรื่องการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ตามกฎระเบียบว่าด้วยการป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมายไร้การควบคุม หรือกฎระเบียบ (ไอยูยู) หรือไม่ นายดอน กล่าวว่า ที่จริงแยกกัน อาจจะมีอะไรโยงกันเล็กน้อย แต่ว่าต่างมีข้อพิจารณาของตัวเอง ไม่ได้นั่งรวมกันเพื่อมาพิจารณาเรื่องของเรา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผลกระทบจากIUU จะมีมากกว่า เทียร์ 3 แต่ที่ผ่านมาเรื่องการแก้ไขปัญหาประมง เราทำอย่างแน่วแน่ ตั้งใจแก้ปัญหา คิดว่าเพียงพอที่จะให้เราผ่านได้

** จี้ "มะกัน" ชี้แจงวิธีเก็บข้อมูล

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จุดยืนที่ชัดเจนของไทยคือ การไม่ยอมให้ผู้ใดใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน หรือเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ และผู้กระทำผิดต้องได้รับการลงโทษ ส่วนรายงานผลการประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่ออกมานั้น ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ออกรายงาน ที่จะชี้แจงต่อประชาคมโลกให้ชัดเจนว่า เก็บรวบรวมข้อมูลจากส่วนใด และใช้หลักเกณฑ์ใดในการประเมิน เพื่อให้รายงานมีความน่าเชื่อถือและมีมาตรฐานที่ยอมรับได้อย่างแท้จริง และเพื่อยืนยันว่าเป็นการดำเนินการบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง โดยปราศจากวาระซ่อนเร้นอื่นใด" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

**ผบ.ทร.เชื่อไม่กระทบเรื่องประมงของอียู

พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอดูว่าทางสหรัฐฯ จะออกมาตรการอย่างไรต่อไปอีกในช่วง 90 วัน แต่ในส่วนของ สหภาพยุโรป (อียู) ที่กองทัพเรือดูแล เรื่องการทำประมงผิดกฎหมายนั้น ขณะนี้เรายังดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีแรงงานประมงที่ผิดกฎหมายแล้ว ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับเรื่องการค้ามนุษย์

" เทียร์ 3 น่าจะไม่มีปัญหาในส่วนการเรื่องการทำประมงนั้น เรายืนยันว่ามาตรการทั้งในเรื่องกฎหมาย และการปฏิบัติการตรวจสอบและติดตาม น่าจะตอบได้ว่า เรื่องของประมงไม่ใช่เรื่องของเทียร์ 3 แน่นอน ที่ผ่านมาการประชุม ศปมผ. เราได้ทำเอกสารทั้งหมด รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติก็ทำเอกสารให้กับอียู ในเดือนก.ย.นี้ เราจะไปคุยกับอียูอีกครั้ง เพราะเขาจะมาตรวจสอบเราในเดือนต.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม เรายังแสดงเจตจำนงและมีแผนงานการปฏิบัติชัดเจน" ผบ.ทร.กล่าว

เมื่อถามว่าปัจจัยที่ยังทำให้ติดอยู่ที่เทียร์ 3 เพราะเรื่องการเมืองภายในประเทศของเรามีส่วนหรือไม่ ที่ทางสหรัฐฯ พยายามกดดันให้ไทยมีการเลือกตั้งโดยเร็ว พล.ร.อ.ไกรสร กล่าวว่า เรื่องนี้แล้วแต่มุมมอง เพราะกระจกมีหลายด้าน แล้วแต่ใครจะมองด้านไหน

** ชี้ปม"อุยกูร์-รัฐประหาร"คืออุปสรรค

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่ม นปช. กล่าวผ่านรายการมองไกลเชื่อว่า การส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปประเทศจีน เป็นหนึ่งในเกณฑ์การตัดสินของสหรัฐฯ ที่ยังคงไทยไว้ในอันดับเดิม แม้ก่อนหน้านี้จะมีการแก้ไขปัญหาเรื่องชาวโรฮีนจา แบบเป็นรูปธรรม

ดังนั้น หลังจากนี้รัฐบาลต้องคิดว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอะไรหลังจากนี้ และขอให้ออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ พร้อมทั้งขอให้นายกรัฐมนตรี หันกลับมามองที่ต้นเหตุของปัญหา อย่าทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน แก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ เชื่อว่า ปัญหานี้เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร ที่ทำให้นานาชาติพุ่งเป้าจับผิดทุกการบริหารงานของรัฐบาล

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย และ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า จากนี้ต้องเตรียมใจรับกับการประเมินของสหภาพยุโรป (อียู) เรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) เอาไว้ด้วย เพราะหากศึกษาจากรายงาน TIP Report ก็จะเห็นเค้ามูลได้

***แฉ!จนท.รัฐทำงานพลาด ออกเอกสารผิด

น.ส.โรยทราย วงศ์สุบรรณ ที่ปรึกษาเครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐของไทย ในเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก เพราะแม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีคำสั่งให้เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จหรือ One Stop Service ในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติคือ พม่า ลาว และกัมพูชา แต่เนื่องจากข้อมูลและแนวทางปฏิบัติยังไม่ได้รับการเผยแพร่ มีความเข้าใจไม่ชัดเจนทั้งตัวเจ้าหน้าที่รัฐและแรงงานข้ามชาติ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจับกุมแรงงานข้ามชาติที่จะเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อดำเนินการตรวจสัญชาติ

***วิจารณ์ขรม!สหรัฐฯ เอาอะไรชี้วัด?

ส่วนสื่อนอก ระบุว่า การที่มาเลเซียและคิวบาได้รับการปรับจากเทียร์ 3 ขึ้นไปอยู่ใน “กลุ่มเฝ้าระวัง เทียร์ 2” ก็ทำให้นักวิจารณ์ บางคนอดคิดไม่ได้ว่า รัฐบาลบารัค โอบามากำลังแทรกแซงการจัดอันดับเพื่อ “ตบรางวัล” ให้แก่ประเทศที่อเมริกาพอใจ

ด้านสมาพันธ์เพื่อการยุติระบบทาสและการค้ามนุษย์ (Alliance to End Slavery and Trafficking) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ก็กล่าวหารัฐบาลโอบามาว่าเอาผลประโยชน์ทางการค้ามาอยู่เหนือหลักสิทธิมนุษยชน และเลื่อนขั้นให้มาเลเซียอย่างไม่เป็นธรรม

ขณะที่ ไทยซึ่งเป็นมิตรเก่าแก่ของอเมริกาถูกจัดอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 มาแล้ว 2 ปีซ้อน ซึ่งรายงานของสหรัฐฯ ชี้ว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยมีต้นตอจากธุรกิจค้ากามซึ่งมีชาวเมียนมา ลาว และกัมพูชาจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ รวมถึงการล่วงละเมิดแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมประมง

โดยกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ออกคำแถลงตอบโต้ว่า การจัดอันดับของสหรัฐฯ ไม่สะท้อนอย่างถูกต้องต่อความพยายาม และความก้าวหน้าหลายๆ ด้านในการดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทยที่เกิดขึ้นจริงในช่วงปีที่ผ่านมา.

***ซัดมะกันเอาการเมืองทุบศก.ไทย

วานนี้ (28 ก.ค.) นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการค้ามนุษย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ตอนนี้ เป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว สหรัฐฯต้องการกดดันไทยต่อไปทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ เพราะรัฐบาลนี้ได้ทำทุกอย่างที่จะทำได้อย่างเต็มที่แล้ว แต่การพิจารณาไม่ได้ทำกันอย่างตรงไปตรงมาตามเนื้อหา ซึ่งสหรัฐฯใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำลายเศรษฐกิจไทยต่อไป แล้วจะตามมาด้วย EUในเรื่องประมง IUU รวมทั้งเรื่องมาตรฐานการบินสหรัฐฯและยุโรปต้องการกดดันการส่งออกของไทยให้ถึงที่สุด เป็นการแซงชั่นรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ นอกเหนือจากการตัดGSP การไม่เจรจาทำข้อตกลงทางการค้าการจัดเป็น tier 3 เพื่อให้ประเทศสหรัฐฯและยุโรปรณรงค์ไม่ให้ประชาชนซื้อสินค้าไทย ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะแก้เกมอย่างไรจะพึ่งจีนคงไม่ไหว เพราะจีนก็เอาเปรียบชนิดพม่ากับลาวยังถอยหนีและจีนกำลังทำสงครามเศรษฐกิจกับสหรัฐฯอยู่อย่างรุนแรง

ทั้งนี้ สหรัฐต้องการทุบเศรษฐกิจไทย เพราะ1. เรามีรัฐบาลที่มาจากปฏิวัติ 2. เราหันไปพึ่งพิงทางเศรษฐกิจจากจีนมากขึ้น สหรัฐต้องการแสดงให้เห็นว่า จีนไม่สามารถช่วยเราได้ 3. การส่งพวกอุยกูร์กลับจีนก็มีส่วนด้วยเช่นกัน

" การจัดอันดับประเทศไทยอยู่ในอันดับ 3 จะเปิดโอกาสให้ยุโรป และพรรคพวก อ้างเป็นเหตุไม่ซื้อสินค้าไทย เพื่อทำลายอุตสาหกรรมประมง และลามปามไปสินค้าอื่นๆ ด้วย คิดประเมินความเสียหายไว้ประมาณ สองแสนล้านบาท การส่งออกจะตกต่ำไปเรื่อยๆ ต่อเนื่องสหรัฐโจมตีการส่งออก เพราะรู้ว่าเราพึ่งพิงการส่งออกมาก เป้าคือให้เศรษฐกิจตกมากๆ ให้ประชาชนเดือดร้อนแล้วลุกฮือต่อต้านรัฐบาล เพราะเดือดร้อนทางเศรษฐกิจรัฐบาลจะอยู่ยาก"

อีกส่วนที่กำลังโจมตีคือ เรื่องมาตรฐานการตรวจสอบการบิน อันนี้เป็นอีกเรื่องที่เรามีจุดอ่อน เป็นการทำลายการเป็นศูนย์กลางการบินของไทยในระยะยาวทำลายสายการบินต่างๆ ของไทย และเป้าหมายสุดท้ายคือทำลายการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นเส้นเลือดหลักอีกเส้นของไทยทำนายได้เลยว่า เรื่องการบิน ไทยจะถูกใบแดงทั้งจากยุโรปและสหรัฐ การบินไทยเจ๊งแน่ๆ รวมทั้งสายการบินสัญชาติไทยด้วย

****อุปทูตสหรัฐ เชื่อผลการประเมินรอบใหม่ น่าจะดีขึ้น

วานนี้ (27 ก.ค.) นายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐอเมริกา เดินทางเข้าเยี่ยมคาราวะ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม โดยนายแพทริค กล่าวว่า สำหรับประกาศรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2558 พบว่า ความพยายามของประเทศไทย ยังไม่เข้าขั้นถึงมาตรฐานปกติ ที่จะสามารถยกระดับขึ้นไปได้ แต่ขณะนี้ได้ยินกระแสในทางบวก โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ออกแถลงการณ์ว่ายังคงทำงานเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมทั้งร่วมมือกับนานาชาติ แก้ไขปัญหาเรื่องนี้

เมื่อถามถึงกรณีการยกระดับ ประเทศ คิวบาร์ และมาเลเซีย จาก เทียร์ 3 เป็น เทียร์ 2 แต่ประเทศไทย กลับไม่ได้ถูกยกระดับด้วยนั้น นายแพทริค กล่าวว่า เกี่ยวกับรายงานของแต่ละประเทศ ได้รับการประเมิน โดยการทำงานของประเทศนั้นๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างในประเทศไทย ขึ้นอยู่กับการทำงานการแก้ไขปัญหาของไทยเอง ในกรณีมาเลเซีย ที่ได้รับการยกระดับ ซึ่งเป็นการพัฒนาการที่ดีขึ้น จากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2 แต่ แม้ว่าจะอยู่ในเทียร์ 2 มาเลเซียก็ยังมีปัญหาใหญ่ ที่ยังต้องแก้ไขอยู่

ถามว่าผลการจัดอันดับของไทย อยู่ระดับเทียร์ 3 จะทำให้สหรัฐคว่ำบาตร หรือ กีดกันทางการค้า กับประเทศไทย หรือไม่ อุปทูตสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ตามกฎหมายของสหรัฐ การคว่ำบาตรยังมีอยู่ สำหรับประเทศที่ตกอยู่ใน เทียร์ 3 แต่กฎหมายนั้น ก็ขึ้นอยู่ประธานาธิบดีที่มีอำนาจตัดสินใจ ถ้าประเทศที่อยู่ในเทียร์ 3 มีความสำคัญกับสหรัฐ และมีองค์ประกอบอื่นๆ ก็จะให้เวลา 90 วัน ที่ประธานาธิบดีจะตัดสินใจว่าจะใช้มาตรการอะไร หรือไม่ใช้มาตรการอะไร แต่ทั้งนี้ ตนขอขอบคุณรัฐบาลไทย ซึ่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านนั้น ทำได้ดี เชื่อว่าการประเมินรอบใหม่ ผลการประเมินน่าจะดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น