ป้อมพระสุเมรุ
หวือหวาดูมีอาญาสิทธิ์ขึ้นมาทีเดียว สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. … ฉบับที่“อาจารย์ปื๊ด”บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กับชาวคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กำลังประดิดประดอยปรุงแต่งรสชาติกันอยู่ ในประเด็นคุณสมบัติผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว.
ตามคิวที่“36 อรหันต์”บรรจงจัดเครื่องปรุง คุณสมบัติต้องห้ามของบุคคลที่จะมาเป็นผู้ทรงเกียรติลงไปในหม้อแกงส้มว่า "บุคคลเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ว่ากระทำการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือไม่เที่ยงธรรม เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง เพราะเหตุที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม"
พูดง่ายๆว่า ไม่มีโอกาสก้าวเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองอีกแล้ว
ทำเอาหลายคนตาโต เพราะคุณสมบัติดังกล่าวจัดว่า “เขี้ยวลากดิน”พวกมีมลทินเรื่องทุจริต หมดสิทธิ์เข้ามากอบโกยผลประโยชน์เข้าตัว ประหนึ่งว่า ต่อไปนี้คนที่จะเข้ามามีตำแหน่งแห่งหน จะต้องเป็นบุคคลที่ใสสะอาด ไม่คดโกง และมีคุณธรรม จริยธรรมสูงส่ง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในทางปฏิบัติแล้วมันกลับเป็นได้แค่ “เหมือนจะดี”เท่านั้น เพราะบุคคลต้องห้าม ตามร่างรัฐธรรมนูญเจาะจงไปที่เรื่องทุจริต ไม่ได้รวมคดีการเมืองอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จึงทำให้นักการเมืองน้ำเสียหายไปเพียงไม่กี่คน ชนิดแทบจะนับนิ้วได้ ขณะเดียวกัน วงศาคณาญาติและสมุนลิ่วล้อของ“นายใหญ่”พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังเหลืออีกเป็นกุรุส ๆ ไม่สะท้านสะเทือนอะไรเลยด้วยซ้ำไป
อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย หรือ“บ้านเลขที่ 111”หรือ อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน อดีตกรรมการบริหารพรรคชาติไทย อดีตกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย หรือ “บ้านเลขที่ 109”ซึ่งอุดมไปด้วยนักการเมืองที่เขี้ยวเล็บโง้งง้าว หลายคนโปรไฟล์เรื่องคอร์รัปชันติดลบ รอดคมดาบได้เพราะเล่ห์เหลี่ยม ทั้งที่เห็นตำตาว่ามีเอี่ยวกับโครงการทุจริตหลายโครงการ กลับไม่ได้อยู่ในข่ายตามบทบัญญัติดังกล่าวเลย
ดังนั้น หากจะบอกว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือ“กลั่นกรอง”เอาเฉพาะบุคคลน้ำดีเข้าสู่การเมือง จึงไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม และไม่ถูกสักเท่าใดนัก เพราะเป็นแค่บางเสี้ยว บางส่วนเท่านั้น
ไล่ดูเฉพาะบุคคลที่เคยถูกถอดถอนคดีทุจริต ในอดีตไม่เคยปรากฏว่า เคยมีสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาชุดใดสามารถถอดถอนบุคคลใดได้แม้แต่คนเดียว ยกเว้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดที่มี “พรเพชร วิชิตชลชัย”มือกฎหมายคนสนิทของ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเท่านั้น ที่จารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ได้
นักการเมืองและข้าราชการระดับสูง ที่ถูก สนช.ถอดถอน ก็มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ประกอบด้วย “หญิงปู”ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีละเว้น ไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวจนก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ “บุญทรุด”บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ และ มนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กรณีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ยังมีเพียง 4 หน่อ
ส่วน 248 อดีต ส.ส. กรณีร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว.มิชอบ ที่ สนช. เตรียมจะยกมือลงมติหรือไม่นั้น โอกาสจะได้เห็นการล้างบางแทบเกิดขึ้นยาก เพราะข้อหาของอดีต ส.ส.เหล่านี้ เป็นข้อหาเดียวกับอดีต 38 ส.ว. ที่เพิ่งรอดคมดาบไปก่อนหน้านี้แล้ว หากปล่อยกลุ่มหนึ่งและไม่ปล่อยกลุ่มหนึ่ง ทั้งที่เป็นข้อกล่าวหาเดียวกัน สนช.คงต้องตอบสังคมให้ได้ว่า เพราะอะไร ดังนั้น โอกาสรอดจึงสูงลิ่ว
ขณะที่บุคคลที่เคยโดนตัดสินว่า ทุจริตการเลือกตั้งนั้น หรือถูกแจก “ใบแดง” ก็พบว่า มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น คือในรายของ “ยุทธ ตู้เย็น” ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ตัดสินว่า ทุจริตการเลือกตั้งที่ จ.เชียงราย หรือ ในราย มณเฑียร สงฆ์ประชา อดีตกรรมการบริหารพรรคชาติไทย ที่ถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินว่า ทุจริตการเลือกตั้งที่ จ.ชัยนาท หรือแม้กระทั่งในรายของ “จอมถีบ” การุณ โหสกุล อดีต ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ที่ถูกศาลฎีกาฯให้ “ใบแดง”กรณีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 53 (5)
นอกจากนี้ ยังรวมถึง “นายใหญ่”พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กรณีทุจริตซื้อที่ดินรัชดา วัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย กรณีทุจริตที่ดินคลองด่าน และ ประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย กรณีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือ ดับเพลิงของกทม. แต่กระนั้นอย่างไรเสีย บุคคลเหล่านี้ก็ไม่สามารถกลับมาประเทศไทยได้อยู่แล้ว ซึ่งแทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย ต่อคนพวกนี้
เป้าใหญ่ๆ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากสังเกตดูจะเห็นว่า ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองในซีกของพรรคเพื่อไทยแทบทั้งสิ้น ขณะที่ของพรรคประชาธิปัตย์ แทบจะไม่มีเลย ยกเว้นกรณีขอถอดถอน“พระสุเทพ ปภากโร”หรือ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กรณีสร้างที่ทำการตำรวจ หรือ โรงพักทดแทน จำนวน 396 แห่ง ที่อยู่ระหว่างแก้ข้อกล่าวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ และน่าจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้
แต่ถ้าโดน ก็โดนเพียง “พระสุเทพ”คนเดียว ซึ่งไม่น่าจะมีผลกระทบเท่าไร อีกเช่นกัน เพราะเจ้าตัวเคยประกาศเอาไว้
แล้วว่า จะเลิกเล่นการเมือง และหันไปเคลื่อนไหวในภาคประชาชนแทน กับอีกกรณีหนึ่งคือ ขอให้ถอดถอน และดำเนินคดีอาญากับ“เดอะมาร์ค”อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีมีคำสั่งให้สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ช่วงระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคมปี 2553 ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ข้อกล่าวหาในชั้น ป.ป.ช. เช่นเดียวกัน
จะเห็นว่า เนื้อหาที่ดูเหมือนเข้มข้นนั้น แทบจะไม่มีผลใดๆ ต่อพรรคเพื่อไทยเลย เพราะตัวละครในกระดานของ“นายใหญ่”ยังโลดแล่นได้อย่างสบายใจเฉิบ
สิ่งเดียวที่เกิดขึ้นครั้งนี้คือ การทำให้เห็นว่า ฝ่ายมีอำนาจในปัจจุบัน พยายามจะกลั่นกรองบุคคล โดยเฉพาะพวกที่มีมลทิน เรื่องทุจริตคดโกง ไม่ให้เข้ามาป้วนเปี้ยนอีกเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้ทำ“สุดซอย”แต่แค่ “ต้นซอย”ให้เห็นแค่ว่า“ทำแล้ว”
ต่อให้มีการไคลแมกซ์ไปที่“ยิ่งลักษณ์”ซึ่งอาจจะสร้างความสะใจให้กับกองเชียร์ฝ่ายตรงข้ามไม่น้อย แต่อย่าลืมว่า“เบี้ย”ในกระดานของ“นายใหญ่”ยังมีอีกหลายคน ที่พร้อมจะสถาปนาเป็น “นอมินี”คนใหม่ การกำจัด“ยิ่งลักษณ์”ได้ก็เท่านั้น
การใส่ส่วนผสมชิ้นนี้ลงไปในหม้อแกงส้ม จึงแค่ทำให้ดูน่ากิน จนน้ำลายสอ แต่เมื่อลองชิมไปแล้ว รสชาติกลับไม่อร่อยถูกใจ เหมือนกับ