ที่ประชุม สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันตั้งครรภ์วัยรุ่น “หมอเจตน์” แจงแยกจาก พ.ร.บ.การอนามัยเจริญพันธุ์ ที่ยากต่อความเข้าใจ ยกต่างประเทศให้ความสำคัญ เสี่ยงทำแท้งอันตรายแม่ลูก มีปัญหาตามมา เสนอ กก.ป้องกันและแก้ไขปัญหา ทำแผนป้องกันเยียวยาวัยรุ่นตั้งท้อง แนะโรงเรียนใดไม่สอนเพศศึกษาผิดกฎหมาย รมช.สธ.รับเข้า ครม.พิจารณา ก่อนเสนอกลับรับหลักการ
วันนี้ (23 ก.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม มีวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. ... ซึ่งนำเสนอโดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. พร้อมด้วยสมาชิกร่วมลงชื่อ 54 คน เป็นวาระแรก
นพ.เจตน์ชี้แจงว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายที่แยกมาจาก พ.ร.บ.การอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นชื่อที่ยากต่อความเข้าใจของประชาชน ตนและเพื่อนสมาชิกเห็นความจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จึงเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาด้วยสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ล้วนให้ความสำคัญกับปัญหานี้ แม่วัยรุ่นสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การทำแท้ง ซึ่งนำไปสู่อันตรายจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ส่งผลกระทบต่อบุคคลถึงสองชีวิต ทั้งลูกเกิดมาด้วยความไม่พร้อม และแม่ก็ไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดู เสียโอกาสในการศึกษาและการทำงานที่ดี ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ นอกจากนี้ยังกระทบต่อปัญหาอื่นในขณะนี้คือ เด็กเกิดน้อย ผู้สูงอายุมาก หากเด็กเกิดน้อยแล้วยังด้อยคุณภาพก็น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศ เด็กเหล่านี้จะมีความเสี่ยงในการเกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติดและความรุนแรงอื่นๆ ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวมีการเพิ่มพูนมากขึ้นเนื่องจากสิ่งยั่วยุทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย สถานบันเทิงมากขึ้น สถาบันครอบครัวอ่อนแอ นำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยและการทำแท้ง หากปราศจากกฎหมายนี้ปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไขดังที่เป็นมาจนปัจจุบัน
ทั้งนี้ มีสมาชิกบางส่วนอภิปรายสนับสนุนและแสดงความเห็น เช่นประเด็นการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาที่เหมาะสมกับช่วงวัยที่ภาครัฐควรจะทำอย่างเข้มแข็ง และเพียงพอ เพราะบางโรงเรียนต้องช่วยเหลือตนเอง เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบ มีการตั้งห้องกุหลาบขาวให้นักเรียนเข้าไปศึกษาข้อมูลด้วยตนเอง ทางกระทรวงศึกษาธิการควรกลับไปพิจารณาดูว่าจะใช้เป็นต้นแบบผลักดันกับโรงเรียนอื่นได้หรือไม่ และควรจะมีการพิจารณาควบคู่ไปกับร่าง พ.ร.บ.อนามัยเจริญพันธุ์ และเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อให้ร่างกฎหมายนี้สามารถแก้ไขปัญหาระดับชาติที่เป็นอยู่ขณะนี้ได้อย่างจริงจัง
หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายประธานที่ประชุมได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า การเสนอ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการเสนอของสมาชิก สนช. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 14 วรรค 5 ซึ่งรัฐบาลอาจสามารถขอรับไปพิจารณาก่อน สนช. จะมีการลงมติพิจารณารับหลักการได้ ซึ่ง นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะรับร่างกลับไปพิจารณาในคณะรัฐมนตรีเป็นเวลา 20 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งและเสนอความเห็นกลับมายัง สนช. เพื่อพิจารณารับหลักการต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีทั้งหมด 28 มาตรา มีสาระสำคัญในการกำหนดให้มีคณะกรรมการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยมีรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่เสนอนโยบายและแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และเสนอนโยบายและแผนการส่งเสริมและคุ้มครองสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่นต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา เช่น กำหนดให้สถานศึกษาต้องจัดให้มีการเรียนการสอนเพศศึกษาและสุขภาวะทางเพศที่เหมาะสมกับวุฒิภาวะและวัยของนักเรียนและนักศึกษา พร้อมให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา และหากไม่ดำเนินการให้ถือว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กำหนดให้มีการเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และบุคคลที่ไม่ให้ความช่วยเหลือแก่วัยรุ่นที่ตกอยู่ในสภาวะอันตรายและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือไม่อำนวยความสะดวกให้กับเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ