ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - หน่วยงาน 2 จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน ร่วมประชุมหาทางออกแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งถือเป็นวัยที่ยังไม่พร้อมและมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น ระบุทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกันสอดส่องเพื่อลดปัญหาให้ได้มากที่สุด
วันนี้ (21 ก.ย.) ที่โรงแรมเดอะปาร์ค อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายชนะ แพ่งพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเปิดการประชุมสรุปผล โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในวัยที่มีอายุน้อยลง ถือว่าเป็นวัยที่ยังขาดความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ และวุฒิภาวะ การป้องกันและการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจึงเป็นภารกิจที่สำคัญ โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจึงถือเป็นโครงการในการสร้างรูปแบบที่เน้นการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนและการทำงานตามยุทธศาสตร์ระดับประเทศและระดับจังหวัด โดยรวมเอาภาครัฐ ชุมชน และเครือข่ายครอบครัว เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง
ด้าน น.ส.ราณี วงศ์ประจวบลาภ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำพูน กล่าวว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นถือว่าเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า เมื่อปี 2555 ประเทศไทยมีอัตราการคลอดบุตรของหญิงสาวในช่วงอายุ 15-19 ปี มีอยู่ถึง 120,000 ราย ถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก และในปัจจุบันอัตราการตั้งครรภ์ของหญิงสาวในช่วงอายุ 15-19 ปี มีอยู่ร้อยละ 49.9 ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประชากรในวัยเดียวกัน
ดังนั้น การป้องกันและการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจึงเป็นภารกิจสำคัญในช่วงที่สังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเมื่อมีอัตราส่วนและจำนวนผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่อัตราการเกิดของประชากรลดลงและมีแนวโน้มประชากรไทยจะเริ่มลดลงในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า “ทำให้มีการเกิดน้อยด้อยคุณภาพ”
การเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นปีละ 1 แสนคน ส่งผลกระทบหลายด้าน อาทิ เด็กแรกเกิดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์, การทำแท้ง (การยุติการตั้งครรภ์), การขาดโอกาสทางการศึกษา, เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวอายุต่ำกว่า 15 ปี เพิ่มขึ้น และแม่วัยรุ่นที่ไม่มีรายได้หรือรายได้ต่ำ
น.ส.ราณีกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2555 หลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินยุทธศาสตร์ในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยได้วางยุทธศาสตร์ไว้ทั้งหมด 6 ด้าน คือ 1. การเสริมสร้างทักษะชีวิตในเรื่องเพศให้กับเยาวชน ดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการ 2. การส่งเสริมบทบาทของครอบครัวและชุมชนในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ดำเนินการ 3. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพทางเพศ มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ 4. ระบบการช่วยเหลือและคุมครองสวัสดิการเด็กและเยาชนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ดำเนินการ
5. การส่งเสริมการสื่อสารความเข้าใจในเรื่องสุขภาวะทางเพศให้แก่สังคม ในส่วนนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมและสำนักงานประชาสัมพันธ์ ในข้อนี้ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องของการสื่อสารต่อสาธารณะเพื่อให้สังคมได้เข้าใจถึงปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
และยุทธศาสตร์สุดท้าย คือ กลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยจะขอความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญและต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการก้าวข้ามปัญหาไปด้วยกัน และถือว่าเป็นความท้าท้ายของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาและการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นต่างๆ ที่จะต้องสอดส่องดูแลสมาชิกในชุมชนของตนให้จำนวนการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นให้น้อยลง