xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” วอนคนเมืองประหยัดน้ำ หวังยื้อถึง ส.ค. - ขอภาค ปชช.ลดต้านเมกะโปรเจกต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” โววางกลไกปราบโกงเบ็ดเสร็จ ย้ำคนโดน ม.44 เด้ง หากสอบแล้วไม่ผิดได้กลับที่เดิม ลั่นไล่สอบภาษีพวกทุจริตทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ - เอกชน แจงแก้ภัยแล้งเต็มที่ แต่ติดน้ำน้อย - ฝนไม่ตก วอนคนเมืองช่วยประหยัดน้ำ หวังยื้อได้ถึง ส.ค. แต่ถ้าฝนไม่ตกอีกก็มีปัญหา สั่ง 5 กลุ่มงานส่งการบ้านเดือน ก.ย. นี้ เพื่อวางแผนดำเนินการต่อ โอดเมกะโปรเจกต์ไม่คืบหน้า เศรษฐกิจขับเคลื่อนยาก ขอภาคประชาชนลดดีกรีคัดค้านเพื่อประโยชน์ส่วนรวม อ้างผุดโครงการช่วยสร้างงานให้คนในพื้นที่ หากเกิดผลกระทบพร้อมเยียวยาเต็มที่

เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ว่า เรื่องการต่อต้านการทุจริตถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาล และ คสช. ให้ความสำคัญ ซึ่งการที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยการปลูกฝังจิตสำนึกและค่านิยมให้กับประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนให้เห็นว่าการโกงเป็นเรื่องน่ารังเกียจ คนโกงต้องไม่มีที่ยืนในสังคม และเป็นรากฐานสำคัญเพื่อทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ ยืนยันว่า รัฐบาลนี้มีความจริงจังที่จะดำเนินการลงโทษคนที่ทุจริตอย่างเป็นรูปธรรมตามขั้นตอนของกฎหมาย

พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวถึงมาตรการต่างๆในการแก้ไขปัญหาการทุจริตด้วยว่า รัฐบาลได้ปฏิรูปการให้บริการภาครัฐเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมความเข้มแข็ง ให้เข้าถึงบริการภาครัฐ ให้ “เร็วขึ้น ง่ายขึ้น แต่ถูกลง” โดยได้ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. นี้ โดยหน่วยงานภาครัฐจะต้องจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนที่อธิบายรายละเอียดของการบริการไว้ หากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐไม่เป็นไปตามคู่มือฯ ก็แสดงถึงการส่อทุจริต หรือไม่มีประสิทธิภาพ ก็สามารถร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรม - ศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียน พร้อมทั้งยกระดับการบังคับใช้มาตรการทางปกครองทางวินัยอย่างเด็ดขาด ซึ่งที่ผ่านมามาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้ถูกนำมาใช้เพื่อเข้าไปบริหารดำเนินการและสนับสนุนการทำงานของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

“สำหรับผู้ที่ถูกปรับย้ายออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้มีการสอบสวน โดยเรายังถือว่าไม่มีความผิดใดๆ เมื่อสอบสวนเสร็จมีความผิดจริงก็ต้องรับโทษทั้งทางวินัยและทางอาญา แต่หากไม่ผิดก็สามารถกลับมารับราชการได้เหมือนเดิม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกฯกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ รัฐบาลได้ใช้มาตรการทางภาษีเป็นเครื่องมือการตรวจสอบเชิงรุกสำหรับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการทุจริต ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหา หรือในส่วนของเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการกระทำผิด จะมีการตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และตามประมวลรัษฎากรตรวจสอบบุคคลผู้มีเงินได้เสียภาษีว่าครบถ้วน - ถูกต้อง หรือไม่ พร้อมทั้งปรับปรุง แก้ไข และยกระดับกฎระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้างเดิมมีเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ให้เป็น พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และป้องกันการทุจริต ไม่ให้นักการเมืองทุจริต หรือข้าราชการคอร์รัปชัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งว่า แม้เราจะวิกฤตน้ำ แต่เชื่อว่าคนไทยเราไม่เคยแล้งน้ำใจ วันนี้เป็นโอกาสที่เราจะได้ร่วมมือกัน แสดงให้เห็นถึงความรักความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมที่จะเสียสละแบ่งปันกันเพื่อส่วนรวม ไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้ต้นทุนน้ำเรามีน้อยมาก ฝนก็ไม่ตก น้ำในเขื่อนก็น้อยมาก เราก็จำเป็นต้องมีการประหยัดน้ำ เพราะฉะนั้นคนเมือง ชุมชนก็ต้องช่วยกันประหยัดน้ำ จนถึงเกษตรกรที่เราไม่สามารถส่งน้ำให้ได้ เนื่องจากต้องเก็บน้ำเอาไว้อุปโภคบริโภค ต้องใช้น้ำให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด รักษาน้ำให้ได้ไปถึงเดือนสิงหาคม ถ้าฝนไม่ตกอีกก็จะเป็นปัญหาต่อไป ก็ขอให้ฟังแล้วก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ ผู้ที่เสียหายก็กำลังหาทางพิจารณาดูแล คาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้การเดินหน้าของรัฐบาล และ คสช.ได้เดินหน้ามาสู่ระยะที่ 2 เหลือระยะที่ 3 ที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งเป็นเรื่องของการมีรัฐบาลในโอกาสต่อไป เมื่อมีความพร้อมของรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ และการเลือกตั้งก็เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้แล้วเดิม อย่าให้มีความขัดแย้งกันอีกต่อไป ในเรื่องของโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลในเรื่องเศรษฐกิจการลงทุนของประเทศ อยากให้รัฐมนตรี ข้าราชการทุกกระทรวงทุกฝ่ายได้ไปเร่งรัดการดำเนินการ ที่ผ่านมานั้นเราได้แก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ทันสมัย ลดขั้นตอนลดระยะเวลาต่าง ๆ ไปเรียบร้อยหมดแล้ว วันนี้ก็ต้องมาจับต้องว่ากิจกรรมที่สั่งไปแล้วทั้ง 5 กลุ่มงานคืบหน้าถึงไหน ภายในเดือนกันยานนี้ต้องรายงานให้ตนทราบ เพื่อพิจารณาการดำเนินการในระยะต่อไป

นายกฯกล่าวฝากไปถึงภาคประชาชนและภาคประชาสังคมด้วยว่า วันนี้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ค่อนข้างจะทำได้ยาก ในส่วนของโครงการที่มีขนาดใหญ่ และมีผลในเรื่องของการลงทุน เช่น การบริหารจัดการพลังงาน, ขยะ, โรงไฟฟ้า หรือท่าเรือ ซึ่งอาจมีผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ แต่หากโครงการเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ การจ้างงานสร้างอาชีพก็เกิดไม่ได้ ถ้าโครงการเหล่านี้เกิดได้ในพื้นที่ ก็ได้สั่งการไปแล้วว่าขอให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ก่อน จะมีการดูแลเยียวยาให้เหมาะสม เมื่อใดก็ตามที่มีประโยชน์เกิดขึ้นอยู่ตรงนั้น ประชาชนเหล่านั้นจะต้องได้รับประโยชน์เป็นอันดับแรก มีสิทธิต่าง ๆมากกว่าคนอื่นในการที่จะได้รับผลตอบแทน หรือจะประกอบการอะไรต่าง ๆ

“หลายเรื่องเราต้องทำนะครับ ถ้าไม่ทำวันนี้ วันหน้าก็เกิดขึ้นไม่ได้ วันนี้ทุกคนก็บ่นว่า เศรษฐกิจมันไม่ดี การลงทุนมันไม่เกิด ก็วันนี้ผมไล่ดูแล้ว ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่งบประมาณอย่างเดียว งบประมาณจัดไปแล้ว แต่มันทำไม่ได้ การทำประชาพิจารณ์ก็ไม่ผ่าน EIA EHIA จะทำยังไง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ โรงไฟฟ้า โรงงานขยะ แล้วก็ในส่วนของการลงทุนสาธารณูปโภคต่าง ๆ ถนนหนทาง เพราะฉะนั้นขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ต้องเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่ใช่บอกว่ามันเกิดตรงนี้พื้นที่เดือดร้อน แต่ตรงนี้ต้องเกิดประโยชน์กับทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

คำต่อคำ : รายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" วันที่ 17 กรกฎาคม 2558

สวัสดีครับพ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน พรุ่งนี้วันที่ 18 กรกฎาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคตครบ 20 ปี ของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ของปวงชนชาวไทย ผู้ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะสูงในการทำงานเพื่อประโยชน์ของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นโครงการหน่วยแพทย์อาสา สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี (พอ.สว.) โครงการมูลนิธิขาเทียม และโครงการพัฒนาดอยตุง ทรงมีส่วนร่วมและช่วยให้ชาวเขาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางภาคเหนือ ได้เลิกการทำไร่เลื่อนลอย ทั้งการปลูกฝิ่น เปลี่ยนมาปลูกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่ ผมอยากเชิญชวนให้พวกเราทุกคนได้ร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน อยากให้ผู้ใหญ่ได้เล่าให้เด็กๆ ฟัง ที่อาจจะเกิดไม่ทัน ได้ทราบถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย มีความสุข และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามตามรอยพระองค์ท่าน

ทั้งนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะจัดงาน 20 ปี เราไม่ลืม เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และสนองพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อราชเลขานุการในพระองค์ และเลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ว่าทำอย่างไรอย่าให้คนลืมแม่ โดยจะมีกิจกรรมต่างๆ ตลอดปี ทั่วประเทศ เช่น กิจกรรมเผยแพร่พระสาทิสลักษณ์ ที่ จ.เชียงราย ที่ได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยมีเพลงเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า ที่คุณบอยด์ โกสิยพงศ์ ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง แต่งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อโอกาสนี้ และอีกมากมาย รายละเอียดติดตามได้ในเพจเฟซบุ๊ก สมเด็จย่า

สำหรับพี่น้องชาวมุสลิม เดือนรอมฎอนได้ผ่านพ้นไปแล้วเมื่อวานนี้ วันที่ 16 กรกฎาคม 2558 พร้อมกับการเฉลิมฉลองวันอิดิลฟิตรี ฮิจเราะห์ศักราช 1436 ตลอด 1 เดือนเต็ม พี่น้องชาวมุสลิมได้ร่วมกันปฏิบัติศาสนกิจตามแบบของศาสดา ด้วยการถือศีลอด ดำเนินศาสนกิจด้วยความมุ่งมั่น และจิตใจอันเปี่ยมไปด้วยศรัทธา มุ่งแสวงหาความดีงามตามแนวทางศาสนาอย่างเข้มแข็ง ในโอกาสนี้ ผมในนามของรัฐบาล ขอส่งความปรารถนาดีมายังพี่น้องชาวมุสลิมที่รักทุกท่าน ขออำนาจในองค์พระผู้บริวาร ได้ประทานความสุขความเจริญ และสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ มีจิตใจที่มั่นคง เพื่อดำรงไว้ซึ่งความดีความงาม และปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างสมบูรณ์ บำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์สุขต่อสังคมตลอดไป

เมื่อวันพุธที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสต้อนรับคณะผู้แทนนักกีฬาผู้พิการทางสติปัญญาทีมชาติไทย จำนวน 53 คน ก่อนเดินทางไปแข่งขัน The Special Olympic World Summer Games 2015 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในห้วงวันที่ 21 กรกฎาคม ถึง 4 สิงหาคม 2558 ผมถือว่าทรัพยากรนั้น เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดของชาติ และการกีฬาเป็นเครื่องมือเพื่อจะฝึกฝนร่างกาย และจิตใจให้ทุกคนเข้มแข็ง นักกีฬาทุกคนนั้นถือเป็นตัวแทนประเทศ เป็นทูตพิเศษนะครับ ในการที่แสดงศักยภาพของประเทศด้านการกีฬา รัฐบาลให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ผมขอให้ทุกท่านได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ ประสบความสำเร็จ สมที่มุ่งหวังไว้ทุกคนนะครับ

ในเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องต่อต้านการทุจริต ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาล และ คสช.ให้ความสำคัญ เนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่เรื้อรังของประเทศที่คอยทำลายสังคมไทยของเรา เป็นปัญหาที่สะท้อนถึงวิกฤตด้านคุณธรรม จริยธรรมของคนในสังคม ส่งผลกระทบในทางลบในทุกแวดวง ทั้งราชการ เอกชนนะครับ ซึ่งการที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยปลูกฝังจิตสำนึก และค่านิยมให้กับประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนให้เห็นว่าการโกงนั้นเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ คนโกงต้องไม่มีที่ยืนในสังคม ไม่ยอมรับพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชัน และการโกงทุกรูปแบบ

ผมเชื่อว่าการสร้างค่านิยมที่ถูกต้องนี้ จะเป็นรากฐานที่สำคัญ เพื่อให้เด็กได้เจริญเติบโตขึ้น เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และเป็นการป้องกันแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่น่าจะได้ผลที่สุดนะครับ โดยเมื่อเร็วๆ นี้คณะดำเนินการโครงการโตไปไม่โกง ได้เริ่มโครงการฝึกอบรมในการใช้เครื่องมือในการเรียนการสอน หลักสูตรโตไปไม่โกง ซึ่งเป็นครั้งแรกในปีนี้ เพื่อให้การอบรมครูทั่วประเทศกว่า 600 คน ซึ่งจะกลายเป็นบุคคลสำคัญในการทำหน้าที่ส่งต่อ และขยายแนวความคิดเหล่านี้ไปสู่กว่า 3 หมื่นโรงเรียนทั่วประเทศ

ผมขอย้ำนะครับว่า รัฐบาลนี้มีความจริงจังที่จะดำเนินการลงโทษคนที่ทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม ใครทำผิดจะต้องถูกดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ใครที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ต้องกลัว ทำงานให้ดีที่สุดต่อไป ส่วนใครที่กำลังคิดจะทำ ขอให้กลับไปคิดใหม่ ถ้าทุกคนไม่ทุจริต และรู้จักการแบ่งปัน ไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน จะทำให้ไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง สังคมอยู่อย่างมีความสุข ต่างชาติอยากเข้ามาลงทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ สังคมดีขึ้น งบประมาณที่หายไปมันจะมาแก้ไขเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมต่างๆ เหล่านั้น ให้ความเข้มแข็งมากขึ้น จะลดลงไปได้มากพอสมควร

วันนี้ผมอยากพูดถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการทุจริต เรื่องแรกคือการปฏิรูปการให้บริการภาครัฐ ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมความเข้มแข็งให้เข้าถึงการบริการภาครัฐให้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น แต่ถูกลง เพื่อขจัดการทุจริตไปพร้อมกับการให้ความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าถึงการบริการของรัฐที่ไม่ยากจนเกินไป

ทั้งนี้รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ซึ่งประกาศไปราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 ไปแล้ว จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป หน่วยงานภาครัฐต้องจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน ที่จะอธิบายรายละเอียดอย่างถูกต้อง ชัดเจน ซึ่งรวมถึงวิธีการ ค่าธรรมเนียม เอกสาร หลักฐาน และระยะเวลาทำการ สำหรับการตรวจสอบเอกสารว่าถูกต้องครบถ้วนจะต้องดำเนินการโดยทันที หากมีปัญหาหรือต้องการเอกสารเพิ่มเติมต้องแจ้งไปในครั้งเดียวไม่ล่าช้า ไม่ปล่อยให้ประชาชนต้องรอ หากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐไม่เป็นไปตามคู่มือก็แสดงถึงการส่อทุจริต หรือการไม่มีประสิทธิภาพ พี่น้องประชาชนก็สามารถจะร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรม หรือศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียนนะครับ เพื่อขอให้มีการสอบสวนถึงการใช้ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกได้ โดยศูนย์อำนวยการต่อต้านภัยแห่งชาติ สตช.จะติดตามอำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

เรื่องที่ 2 คือการยกระดับการบังคับใช้มาตรการการปกครอง วินัย ซึ่งเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชา หรือหน่วยงาน หากไม่บังคับใช้จะถือเป็นความผิดทางวินัย ที่ผ่านมานั้น มาตรา 44 ถูกนำมาใช้เพื่อจะเข้าไปบริหารดำเนินการคลี่คลายปมปัญหา ในการบริหารราชการของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในการชี้มูลของ 3 หน่วยงานหลัก คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ป.ป.ท. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สตง. นะครับ ซึ่งผลการสอบสวนเป็นอย่างไร จะมีการรายงานเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ปรับย้ายออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดช่องทางให้มีการสอบสวน โดยเราถือว่ายังไม่มีความผิดใดๆ เมื่อสอบสวนเสร็จแล้ว มีความผิดจริง ต้องรับโทษทั้งวินัยและอาญา หากไม่ผิดสามารถกลับมารับราชการได้เหมือนเดิม ณ วันนี้ มีเจ้าหน้าที่ระดับล่างมีหลักฐานเชื่อมโยงกับการทำความผิด กับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ผมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสอบสวนเช่นกัน ผมถือว่า การใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาจะช่วยให้ สังคมของเราปลอดการทุจริตได้ในอนาคตนะครับ

เรื่องที่ 3 คือการใช้มาตรการภาษี เป็นการอำนวยการตรวจสอบเชิงรุก สำหรับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริต ทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหา หรือในส่วนเอกชนที่เข้ามีส่วนร่วม ในการกระทำความผิดที่เสนอขายสินค้าบริการให้ภาครัฐ โดยไม่ผ่านการดำเนินการภาษีให้ถูกต้อง กรมสรรพากรจะตรวจสอบการดำเนินบัญชีการรับจ่ายของบุคคล นิติบุคคล เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามทุจริต พ.ศ.2542 และตามประมวลรัษฎากร ตรวจสอบบุคคลผู้มีเงินได้เสียภาษีครบถ้วนถูกต้องหรือไม่

เรื่องต่อไป คือการปรับปรุงแก้ไขและยกระดับกฎระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้าง เดิมเรามีเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ปรับปรุงเมื่อปี 2549 ซึ่งอาจทำให้ขาดความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการ นักธุรกิจต่างชาติ ที่อยากให้เราออกเป็นกฎหมาย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ป้องกันการทุจริต ให้นักการเมืองทุจริต ข้าราชการคอร์รัปชัน มีการแก้ไขรายละเอียด ระเบียบการจัดซื้อได้โดยง่าย รัฐบาลเร่งผลักดันให้มีพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วย 1.มีขอบเขตการบังคับใช้กว้างกว่าเดิมครอบคลุมหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ได้แก่ ข้าราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงาน เป็นต้น 2.คือหลักสำคัญ 4 ประการ คือความคุ้มค่า ความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตรวจสอบได้ โดยกำหนดให้ทำสัญญาภาครัฐไปหลายที่ และทำสัญญาว่าจะไม่มีการรับและให้สินบนและใช้ระบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ได้มีโอกาสเข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐลดช่องทางการหาประโยชน์จากผู้มีอำนาจและเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลรวมทั้งให้มีการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในระบบเครือข่ายสาระสนเทศของกรมบัญชีกลางเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชน และ 3.คือการกำหนดบทลงโทษกรณีทำความผิดโดยครอบคลุมการลงโทษผู้สั่งการให้จัดซื้อจัดจ้าง เช่น นักการมือง หัวหน้าส่วนราชการ ที่สั่งให้เจ้าหน้าที่ไปทำ ก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยนะครับ ทั้งหมดนั้นถือว่าเป็นการสร้างระบบในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกในสังคมไทย เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งใช้กับประเทศได้ในอนาคต นอกจากนี้ผมก็มีแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมธรรมาภิบาลและขจัดทุจริต โดยขอการจัดสรรงบประมาณบางส่วน อาจจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อนำมาใช้ในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตต่างๆ ต่อไปในอนาคตอีกด้วย

สำหรับการสร้างความเข้มแข็งการทุจริตองค์รวม โดยการเชื่อมโยงเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษกับชุมชนในส่วนตัวนั้น ผมเห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเราต้องไปพร้อม ๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ในกรอบระเบียนเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงของอาเซียน (Connectivity) อาศัยจุดแข็งของไทยในการเป็นศูนย์กลางอาเซียน ในภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ กิจกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้นจะมีทั้่งภาคอุตสาหกรรม การเกษตร ภาคบริการ การขนส่ง ลอจิสติกส์ คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงการบริหารจัดการในการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า การบริการ แรงงาน ทุน และปัจจัยการผลิต เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น การพัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้นต้องสอดคล้องกับชุมชน ชุมชนต้องได้รับประโยชน์โดยตรงจากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษด้วย

จากแนวคิดดังกล่าวนั้นผมได้สั่งการให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจชุมชน ซึ่งเป็นการดำเนินการกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการรวมกลุ่มกันเองของประชาชน ของเกษตรกรในชุมชน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ และนำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลกำไร กลับมาสู่ชุมชนของตนเอง ภายใต้ระบบสหกรณ์ชุมชน ที่ไม่ใช่ระบบสหกรณ์ปันผลแบบทั่วไป หัวใจสำคัญก็คือการนำธุรกิจชุมชนนั้นไปทำกำไรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้นด้วย โดยจะต้องอาศัยแนวคิดที่เรียกว่า ธุรกิจเพื่อสังคม ก็จะเป็นรูปแบบของการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้มุ่งหวังทำกำไร ผลกำไรที่ได้จากการทำธุรกิจดังกล่าวนั้น ก็ดำเนินการโดยชุมชน หลังจากหักค่าจ้าง ค่าแรง ต้นทุน การบริหารจัดการแล้ว ก็จะถูกนำกลับมาสู่สังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น อาจจะเป็นสวัสดิการสังคม การศึกษา สาธารณสุข หรือเพิ่มกองทุนเพื่อจะไปดำเนินการต่อให้มันเจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น ก็นับว่าน่าจะเป็นการสร้างความมั่นคงที่ได้จากการพัฒนาที่เชื่อมต่อเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยตรง

นอกจากนั้นแล้วก็จะทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมนั้น ถ้าหากว่าจะทำให้มีความเข้มแข็งได้นั้น ก็จำเป็นจะต้องมีวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) รองรับด้วย เช่น โรงสีชุมชน สถานีจำหน่ายน้ำมันชุมชน โดยชุมชนจะเป็นเจ้าของร่วมกัน บริหารจัดการกันเอง หากมีความพร้อมก็อาจสามารถพัฒนาไปสู่การบริหารจัดการในรูปแบบของบริษัทชุมชน โดยผลกำไรจะนำไปสร้างความเข้มแข็งกับชุมชนในที่สุด ก็เป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง

ผมขอยกตัวอย่างพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว ก็จะเป็นจุดเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษของกัมพูชา ในเขตปอยเปต-โอเนียง ก็สามารถจะพัฒนาให้เป็นศูนย์อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าการเกษตร คลังสินค้า การขนส่ง จะถือว่าสามารถสร้างโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ในพื้นที่ให้ดีขึ้น ชุมชนในพื้นที่ที่มีความพร้อมจะรวมตัวเป็นเครือข่ายทางสังคม มีหน่วยราชการ ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้เชื่อมประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน รวมทั้งกระทรวงกลาโหม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ชุมชนจะมีการกำหนดกรอบ หลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการ เพื่อให้ได้ผลกำไรกลับคืนสู่ชุมชน และสังคมเองอย่างเหมาะสมชัดเจน ตั้งแต่ต้นในรูปแบบของทุนสวัสดิการ การศึกษา สาธารณสุขของชุมชน ลดการพึ่งพาจากส่วนกลาง สร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นของตนได้เป็นอย่างดีนะครับ

สำหรับวิกฤตภัยแล้ง แม้เราจะมีวิกฤตน้ำ แต่ผมเชื่อว่าคนไทยเราไม่เคยแล้งน้ำใจนะครับ ที่เราจะมีต่อกัน ผมกลับมองว่า น่าจะเป็นโอกาส ที่เราจะได้ร่วมมือกันแสดงให้เห็นถึงความรัก ความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทุกข์ๆ ด้วยกัน สุขๆ ด้วยกัน และพร้อมจะร่วมฟันฝ่าอุปสรรคให้ได้พร้อมๆ กัน ด้วยการเข้าใจในปัญหาว่า มันมาจากที่ใด ปัญหามาจากที่ไหนบ้าง และพร้อมที่จะเสียสละแบ่งปันกันเพื่อส่วนรวม ไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน บางอย่างมันอาจจะต้องเสียสละ บางอย่างก็จะได้เพิ่มเติม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าทุกคนได้เหมือนกันพร้อมกันทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้ ซึ่งต้นทุนน้ำเรามีน้อยมาก ฝนไม่ตก น้ำในเขื่อนน้อยมาก

เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีการประหยัดน้ำ เพราะฉะนั้นคนเมือง ชุมชน ต้องช่วยกันประหยัดน้ำจนถึงเกษตรกรที่เราไม่สามารถสูบน้ำให้เขาได้ เพราะเราต้องเก็บน้ำเอาไว้อุปโภค-บริโภค เพราะฉะนั้นเท่ากับว่าเราก็ทำให้เขาลำบากอยู่เหมือนกัน แต่ทุกคนต้องใช้น้ำหมด เพราะฉะนั้นต้องใช้น้ำให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า และสูงสุด รักษาน้ำให้ได้ไปถึงเดือนสิงหาคม ถ้าฝนไม่ตกอีกมันจะเป็นปัญหาต่อไป ขอให้ฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของราชการ ผู้ที่เสียหายอะไรต่างๆ เรากำลังหาทางพิจารณาดูแล สัปดาห์หน้าคงชัดเจนขึ้นนะครับ

ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ดร.มาการ์เร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้มีหนังสือมาถึงผม แสดงความชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสเมอร์สได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นระบบ มีการร่วมมือกันอย่างเต็มที่ระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชนด้วยนะครับ ประชาชนไม่ตื่นตระหนก เข้าถึงข้อมูล และสามารถจำกัดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวได้โดยเร็ว ก็เป็นเรื่องภาคภูมิใจ น่ายินดีนะครับ เป็นสิ่งดีที่อยากเล่าให้พี่น้องประชาชนฟังนะครับ ต้องขอบคุณข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังมีอีกหลายกระทรวง โดยเฉพาะการคมนาคม การสัญจรทางอากาศต่างๆ ที่มีการตรวจสอบต่างๆ เยอะแยะไปหมด ขอบคุณทุกคนนะครับ และขอบคุณถึงพี่น้องประชาชนด้วยที่ให้ความร่วมมืออย่างดีนะครับ

เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ อยากเรียนว่า วันนี้การเดินหน้าของรัฐบาลนี้ ของ คสช. เดินหน้ามาถึงระยะที่ 2 แล้วนะครับ เหลือระยะที่ 3 ที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวนะครับ ซึ่งเป็นเรื่องของการมีรัฐบาลในโอกาสต่อไปนะครับ เมื่อมีความพร้อมของรัฐธรรมนูญ ประโยชน์ของการเลือกตั้ง ก็เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้เดิม แต่สิ่งที่ผมเร่งรัดขณะนี้ คือเร่งรัดการดำเนินการทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้ทำงานให้ได้ผลสัมฤทธิ์ในทุกกิจกรรมที่นายกรัฐมนตรีสั่งการไปแล้ว หรือที่ ครม.สั่งการแล้ว อันนี้ต้องสามารถจับต้องได้เป็นรูปธรรม ภายใต้ความพึงพอใจของประชาชน หรือตรงความต้องการของประชาชน โดยรับฟังความคิดเห็นทุกประการและขอความร่วมมือให้ได้ ไม่มีความขัดแย้งกันต่อไป ในเรื่องโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลในเรื่องเศรษฐกิจ ประเทศ การลงทุนประเทศด้วย และป้องกันปัญหาในอนาคตและในระยะยาว

อันนี้อยากให้รัฐมนตรี ทั้งข้าราชการ ตั้งแต่ปลัดกระทรวงทั่วไป จนถึงชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัตินะครับ ทุกกระทรวงทุกฝ่ายได้ไปเร่งรัดการดำเนินการในที่ผ่านมานั้น เราได้แก้ไขกฎระเบียบต่างๆ แก้ไขกฎหมายทันสมัย ลดขั้นตอน ลดระยะเวลาไปเรียบร้อยหมดแล้ว วันนี้ต้องมาจับต้องดูว่า กิจกรรมที่่สั่งไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ การลงทุน ในเรื่องเทคโนโลยี หรือเรื่องไรก็ตามที่เป็นปัญหาของประเทศ ทั้งหมดทั้ง 5 กลุ่มงาน และทุกกระทรวง จะต้องมาจับต้องกิจกรรมเหล่านี้ และสรุปผลให้ผมทราบได้ภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อจับต้องให้เป็นรูปธรรม และผมจะพิจารณาอีกครั้งในเรื่องการดำเนินการระยะต่อไป เรื่องการกำหนดนโยบายเพิ่มเติม ทั้งนี้ เพื่อให้ทันเวลาที่มีอยู่ขณะนี้ และจะต้องเตรียมส่งมอบรายละเอียดที่เหลือให้กับคณะปฏิรูป หรือ สปช. อะไรก็แล้วแต่ที่ยังอยู่ในขั้นตอนเหล่านี้ ใครอยู่ต้องรับไป ทำต่อให้เรียบร้อยในแผนการปฏิรูปในอนาคต ในรัฐบาลการเลือกตั้ง อันนี้ ผมขอเร่งรัดนะครับ ขอให้แสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ว่าจะต้องเรากำหนดโจทย์ไปแล้ว วิธีการไปแล้ว แก้ไขข้อติดขัดไปให้แล้ว เพราะฉะนั้นมันจะต้องอยู่ที่ จะทำอย่างไร How to do แล้วมันจะสำเร็จเมื่อไร ระยะที่ 1 มันจะเสร็จอะไรบ้าง ระยะที่ 1 คือเสร็จไปแล้วล่ะ คสช. ระยะที่ 2 คือตอนนี้ ถึงกันยายน ผมสรุปแค่นี้่ก่อนตามโรดแมปนะ แล้วที่เหลือหลังจากนั้นไปแล้วก็ไปเดินหน้ากันในรัฐบาลต่อไป ถ้ามันเกิดขึ้นตามโรดแมป เพราะฉะนั้นต้องเตรียมการตั้งแต่วันนี้ ผมขอแจ้งเตือนนะครับ ผมจะพิจารณาเป็นรายกระทรวงไป ทุกกระทรวง ทั้งในส่วนของการเมือง ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการประจำด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องชี้แจงได้ทุกอย่าง ก็ขอให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และข้าราชการทุกกระทรวง ได้ไปรวบรวมขับเคลื่อนให้ได้ ตอบคำถามให้ได้ ระยะที่ 1-2 ทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะที่ผ่านมาทุกคนจะรู้แต่ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม รัฐบาลใดก็ตาม รู้ปัญหาทั้งหมด แต่ทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่เท่าที่ควร ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะว่าอะไร มันติดขัดหลายเรื่อง ติดขัดเรื่องกฎหมาย หรือกติกาอะไรต่างๆ ที่มันเคยมีปัญหา ก็แก้ให้หมดแล้ว เมื่อแก้ให้หมดแล้วปัญหามันต้องหมดไป ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าอะไรมันจบไปแล้วบ้าง อะไรมันหมดไปแล้ว ต้องช่วยกัน ร่วมมือกัน

อีกเรื่องหนึ่ง ขอร้องภาคประชาชน ภาคประชาสังคมด้วย วันนี้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเราค่อนข้างจะทำได้ยาก ในส่วนของโครงการที่มีขนาดใหญ่ มันจะมีผลในเรื่องของการลงทุนด้วย มีผลในเรื่องของปัญหาภายหน้าด้วย เช่น การพลังงาน ขยะ โรงไฟฟ้า หรืออะไรก็แล้วแต่ ท่าเรือ มันอาจจะมีผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ด้วย ถ้าเราไปไม่ได้เลย โครงการเหล่านี้มันเกิดขึ้นไม่ได้ มันก็จ้างงาน สร้างอาชีพอะไรไม่ได้ ผมก็เรียนว่าอย่างนี้นะครับ ถ้ามันสามารถเกิดได้ในพื้นที่ ผมก็ได้สั่งการไปแล้วว่าขอให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ก่อน ถ้าจำเป็นต้องขยับขยายกันเล็กน้อย ก็ดูแลเยียวยาให้เหมาะสม เมื่อใดก็ตามที่มีประโยชน์เกิดขึ้น ประชาชนเหล่านั้นจะต้องได้รับประโยชน์เป็นลำดับแรก มีสิทธิต่างๆ มากกว่าคนอื่น ในการที่จะได้รับผลตอบแทน หรือประกอบการอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ กิจการในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งอันนี้ก็เกิดขึ้น ก็เน้นหนัก 2 พื้นที่ใน 6 พื้นที่ ในปี 57 แต่ถ้าจะสร้างได้ทั้งหมดก็ทำไปนะ แต่พื้นที่มีศักยภาพอยู่ก็ทางภาคตะวันตก ทางเหนือ เช่นที่แม่สอด จ.ตาก กับที่สระแก้ว ก็มีศักยภาพสูงหน่อย ที่เหลือก็ทยอยดำเนินการไป จะได้นัดให้ได้โดยเร็ว เพราะฉะนั้นประชาชนที่อยู่ตรงนั้นอย่ากังวลนะครับว่า เราประกาศเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษไปแล้ว หมายความว่าเขาต้องไปกันหมดเลยหรือ ไม่ใช่หรอกครับ กิจการเขาจะลงไปในพื้นที่ดังกล่าวให้ได้เท่านั้นเอง ตรงไหนที่มันไม่รบกวนมากมายนักก็เข้าไปได้เลย ตรงไหนที่มีปัญหากระทรวงต้องดูแลเป็นโซน ให้เขามีที่อยู่ที่กิน และวันหน้าพอมันเกิดขึ้นมาแล้ว ธุรกิจประกอบการมันดีขึ้นแล้ว หรือเป็นการลงทุนในเรื่องของการค้าขาย การประกอบการ จะให้คนเหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ต้องรองรับ เช่น ซักเสื้อผ้า หรือไม่ก็ขายอาหารอะไรต่างๆ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจดังกล่าวนั้น คนในพื้นที่แหละจะต้องได้ก่อนนะครับ

ในส่วนของตรงอื่นมันจำเป็นต้องเอาข้างนอกไปเสริมด้วย ข้างนอกคือหมายความว่า นักลงทุนของเราเองนะครับ มันเริ่มจากในพื้นที่ก่อนหมดแหละทั้งคน ทั้งผู้ประกอบการในพื้นที่ถ้ามีศักยภาพก็เสนอมา ก็จะให้สิทธิประโยชน์ และในส่วนที่จะไปจากนอกพื้นที่

อันที่ 3.เพื่อจะทำให้เข้มแข็ง และจ้างงานให้มากขึ้นคือ ต้องมีการลงทุนจากต่างประเทศด้วย แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการลงทุนที่ไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างผลกระทบต่อประชาชน ส่วนใหญ่ทั้งหมดนะครับ ส่วนน้อยๆ ขอกันก่อน หลายเรื่องเราต้องทำนะครับ ถ้าไม่ทำวันนี้ วันหน้ามันก็เกิดขึ้นไม่ได้ แล้วมันจะเกิดขึ้นเมื่อไรล่ะครับ วันนี้ทุกคนบ่นว่า เศรษฐกิจมันไม่ดี การลงทุนมันไม่เกิด วันนี้ผมไล่ดูแล้วปัญหามันไม่ได้อยู่ที่งบประมาณอย่างเดียว งบประมาณจัดไปแล้ว แต่มันทำไม่ได้ไง การทำประชาพิจารณ์ก็ไม่ผ่าน อีไอเอ อีเอชไอเอ ไม่ผ่านจะทำอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ โรงไฟฟ้า โรงงานขยะ และในส่วนของการลงทุน สาธารณูปโภคต่างๆ ถนนหนทาง มันต้องผ่านความคิดของประชาชน ผมกำลังดูอยู่ว่า จะทำอย่างไรให้มันเกิด ถ้ามันเกิดขึ้น เม็ดเงินที่ลงไปมหาศาลมันถึงจะเกิดได้ ไม่ใช่พอเบิกเงินไปแล้ว แล้วมันสร้างได้เลย มันต้องทำตัวนี้ด้วยไง

เพราะฉะนั้นขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ และอื่นๆ ทุกคนมันต้องเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่ใช่บอกว่า มันเกิดตรงนี้พื้นที่เดือดร้อน แต่ตรงนี้มันจะเกิดประโยชน์ทั้งในพื้้นที่ และนอกพื้นที่ด้วย อันนี้มันจะได้เป็นเครือข่ายสร้างความเข้มแข็งทั้งภูมิภาคไป ลองคิดดูนะครับ ผมอยากให้ทุกอย่างมันแก้ไขได้เร็วๆ และเดินหน้าประเทศได้ระหว่างที่รัฐบาลนี้ยังอยู่นะครับ ผมสั่งการให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปดูกิจการของตัวเองที่ไม่มีปัญหาข้อขัดข้อง ไม่ว่าเรื่องของการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน การเหมืองแร่ อะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ ต้องลงไปดูในพื้นที่นะครับ และแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็วว่าจะทำยังไงกันต่อไป ได้หรือไม่ได้ เกิดขึ้นลดลงได้ไหม หาทางเจอกันได้ไหม โดยมองผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก และไม่ไปทำลายวัฒธรรม หรือสิ่งต่างๆ ที่มันอยู่พื้นที่เขาอยู่แล้ว ทำยังไง มันต้องไปด้วยกันนะ เจริญได้ เปลี่ยนแปลงได้ แต่เขาต้องมีความสุข จะทำยังไงตรงนั้น ผมว่าไม่เกินความสามารถรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทุกท่าน กับข้าราชการทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ ทุกกิจกรรม ถ้าเราไม่ทำปีนี้ มันล่าอีกปี ปีหน้ามันก็ทำไม่ได้ ปีต่อไปทำไม่ได้ ปีต่อไปทำยังไง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการสร้างทางรถไฟ และเสาส่งไฟฟ้า และการขุดลอกแหล่งน้ำต่างๆ ติดขัดไปหมด บางคนบอกว่า มันละเมิดในเรื่องนิเวศวิทยา ผมก็ให้เขาดูอยู่แล้ว ถ้ามันทำให้ระบบนิเวศวิทยาเสียหายก็ไม่ทำ ทำอย่างอื่น ค้านทุกวัน มันเดินหน้าไม่ได้ งบประมาณก็ไม่ออก งานก็ไม่เกิด การก่อสร้างก็ไม่มี และทุกคนบอกว่า เศรษฐกิจต้องดีขึ้น มันดีได้แน่นอน ช่วยคิดกันใหม่นะครับ หาทางออก ไม่ใช่ผมต้องการที่จะบังคับท่าน มัดมือท่าน หรือใช้อำนาจต่างๆ ผมไม่ต้องการใช้อำนาจ ต้องการความร่วมมือนะครับ ดีที่สุด

ขอขอบคุณอีกครั้งนะครับที่ให้ความร่วมมือ และสิ่งที่พ่อแม่พี่น้องเข้าใจ ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ หวังว่าเราคงได้รับความร่วมมือ ได้รับความเข้าใจ ได้รับความเมตตา ให้เราได้ทำงานประสบผลสำเร็จอย่างที่ทุกคนต้องการ เพื่อประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคนนะครับ สวัสดีนะครับ ขอให้มีความสุขวันหยุดสุดสัปดาห์ครับ


ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

สวัสดีครับท่านผู้ชม ท่านนายกฯ ได้สนทนากับท่านไปแล้วเป็นเวลาประมาณ 27 นาที ผมขอใช้เวลาสั้นๆ ต่ออีกสักประมาณ 15 นาที จะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเศรษฐกิจบางเรื่องซึ่งมีความคืบหน้าไปในทางที่ดี

ขณะนี้สถานการณ์โลกมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทยในเรื่องของการส่งออก ทำให้การส่งออกของเราลดลง นั่นก็สร้างปัญหาประการแรก ประการที่ 2 เราก็ประสบภัยแล้ง ซึ่งขณะนี้ทางราชการกำลังแก้ไขกันอยู่ โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น ทางผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดก็กำลังดูแลให้ดีที่สุดที่จะดีได้ ซึ่งผมจะยังไม่ขอพูดถึงในวันนี้ ผมอยากจะมาเล่าให้ฟังว่า เมื่อเราเจอปัญหา 2 เรื่องนี้ แล้วเศรษฐกิจไทยเราจะเดินไปอย่างไร ก็อยากจะขอเล่าอย่างนี้ เศรษฐกิจในเรื่องของการส่งออกนั้น ใน 5 เดือนแรกเราลดลงเฉลี่ยประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์กว่า ซึ่ง 4 เปอร์เซ็นต์กว่านี้จะมีผลให้เศรษฐกิจเราหดตัวพอสมควร แต่เราโชคดีที่มีการท่องเที่ยว การท่องเที่ยว 5 เดือนแรก ท่านผู้ชมเชื่อไหมครับว่าสูงกว่าปีที่แล้ว 28 เปอร์เซ็นต์ รายได้จากการท่องเที่ยวสูงกว่า 28 เปอร์เซ็นต์ นี่ล่ะมาชดเชยเรื่องส่งออกที่ลดลงไป ถือว่ามาก แล้วเหลือนิดหน่อย ก็แสดงว่าเศรษฐกิจเราจะไม่ติดลบ แต่นี่ตัวไหนล่ะจะทำให้เศรษฐกิจเราโตไปจากที่เคยได้ประมาณ 3-4 เปอร์เซ็นต์ ผมก็มาดู ก็เหลืออีกประมาณ 2-3 ตัว ตัวหนึ่งคือการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งก็ต้องบอกว่ายังโตไม่มาก ยังโตประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์กว่า ยังไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ดี ก็เหลืออีก 2 ตัวเท่านั้น คือ การใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน ซึ่งรัฐบาลก็ได้เร่งไป ได้ประชาสัมพันธ์ไปหลายครั้งแล้วว่าปีนี้ได้เร่งได้เร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา กับอีกตัวหนึ่ง คือการลงทุนภาคเอกชน วันนี้ผมจะมาคุยกับท่านเรื่องการลงทุนภาคเอกชน มาเล่าให้ท่านฟังว่า กำลังดีขึ้นหรือเลวลงอย่างไร

ก็อยากจะเล่าให้ฟังนิดหนึ่งว่า ผมเอาตัวเลข 6 เดือนมาให้ดูนะ ว่าใน 6 เดือนแรกนี้ มีการออกใบอนุญาตโรงงาน ทั้งที่ประกอบกิจการใหม่ และขยายโรงงาน 6 เดือนแรกออกไปแล้ว 2,451 โรง แล้วในจำนวนนี้ พอออกใบอนุญาตไปแล้วเขาก็มาแจ้งเรื่องประกอบการแล้ว 2,085 โรงงาน ถามว่า 2,085 โรงงานที่แจ้งเรื่องประกอบการนี้ มีเงินเข้าในระบบเท่าไร มีเงินเข้าในระบบ 184,690 ล้านบาท เป็นเงินจำนวนไม่น้อย และมีการจ้างเพิ่มขึ้น 58,800 คนนะครับ นั้นคือสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วใน 6 เดือนแรก ซึ่งตรงนี้ยังไม่มากนัก ผมมาดูมาเอ๊ะแล้วต่อไปอนาคตจะเป็นอย่างไร ไปดูตัวเลขตัวหนึ่งที่พอดูได้คือ ข้อมูลที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้การส่งเสริม หรืออนุมัติโครงการไปใน 6 เดือนแรกนะครับ ปรากฏว่า ถ้าท่านดูในอดีต 2554 อนุมัติ 1,600 โครงการทั้งปี 50, 52 1,200 ปี 56 2,000 ปี 57 1,600 โครงการ

พอปีนี้นะครับ มกราคม มิถุนายน 2558 อันนี้เป็นสถิติเลยนะครับ อนุมัติไป 6 เดือนแรก 1254 โครงการ เป็นจุดเริ่มที่ดีมาก เทียบกับปีที่แล้วทั้งปี 1,600 หรือปีก่อนนั้นทั้งปี 2,000 ปีนี้เราอนุมัติมากกว่าแน่นอน และยังมีคนยื่นขอให้เราพิจารณาอีกเยอะ อีกมากมาย อันนี้เป็นฐานอุตสาหกรรมที่กำลังเริ่มใหม่ ในจำนวนนี้เป็นวงเงิน 412,690 ล้าน เฉพาะ 6 เดือนแรก เดือนนี้ยังไม่ได้ลง แต่เป็นเงินที่ลงโครงการตามมาต่อไป ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วทั้งปี 720,000 ปีนี้ครึ่งปี 410,002

ทีนี้ถ้าถามว่า แล้วทำไมคนถึงมาลงอะไรกันเยอะแยะนะครับ ต้องบอกว่า ในปีนี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนโดยรัฐบาล ได้ประกาศเพิ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามาอีก 10 หมวด ใน 1254 โครงการที่อนุมัติไปใน 6 เดือนแรก เป็นอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซักประมาณ 309 โครงการ ใน 309 โครงการถามว่า มีหมวดอะไรบ้าง มีหมวดอย่างเศรษฐกิจ ดิจิตอล หมวดเรื่องส่งเสริมศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ศูนย์กลางตั้งเขาเรียกว่า Headquarters ในประเทศไทย กลุ่มส่งเสริมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กลุ่มส่งเสริมอุตสาหกรรมทางการแพทย์ กลุ่มวัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษ กลุ่มผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมนะครับ หรืออย่างพวกที่เราเรียกว่าไบโอพลาสติก คือพลาสติกที่ผลิตจากพืช เป็นต้น กลุ่มศูนย์พัฒนา ศูนย์ฝึกอบรมระดับภูมิภาค คนสนใจมาสร้างที่เมืองไทยนะครับ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ประเภทไฮเทคหน่อย ไม่ใช่ชิ้นส่วนธรรมดา และกลุ่มยานยนต์และการผลิตเครื่องยนต์ จักรยานยนต์ที่ ใช้เทคโนโลยีสูงกว่าธรรมดา ไม่ใช่ชิ้นส่วนแบบเดิมแล้ว เป็นชิ้นส่วนที่มีเทคโนโลยีสูงนะครับ และนี่คือลิสต์ของอุตสาหกรรมใหม่ที่เราเพิ่งประกาศไปเมื่อ 1 มกราคม ที่ผ่านมานี่เอง เราอนุมัติอุตสาหกรรมใหม่ไปแล้ว 309 โครงการ

อันนี้ เป็นข่าวดีนะครับ เพราะอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์สูง เป็นอุตสาหกรรมซึ่งเราหนีการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งเกิดใหม่ในภูมิภาคนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูเขา ก็ตาม เขายังผลิตอุตสาหกรรมสินค้าเหล่านี้ไม่ได้ยังสู้เราไม่ได้ เราจำเป็นต้องหนีมา เพื่อให้สินค้าที่มีคุณภาพสูง ราคาสูง และเทคโนโลยีสูงขึ้น นี่คือสาเหตุที่ว่าทำไมปีนี้ ใน 6 เดือนแรก เราถึงอนุมัติโครงการไปแล้ว 1,200 กว่าโครงการ ซึ่งถ้าไม่นับ 300 กว่า ก็ยังอนุมัติไปตั้ง 900 โครงการ และอันที่ 300 กว่า คือตัวสำคัญ ถามว่า การที่เราเข้าไปสู่อุตสาหกรรมแบบใหม่เพิ่มขึ้น มันมีอะไรบ้าง 10 หมวดเมื่อกี้คือ 10 หมวดใหญ่ๆ ผมจะยกตัวอย่างอุตสาหกรรมบางประเภทให้ดูนะครับ อย่างสมมติว่า เมื่อก่อนเราเคยส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปทั่วไป ซึ่งประเทศอื่นก็แข่งกับเราได้แล้ว เราจะไม่เอาแล้ว เราจะทำใหม่ เราไปส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารทางแพทย์เป็นต้น และพวกสารอาหารคุณค่าสูง เป็นต้น หรืออย่างเดิมที่เราเคย ผลิตภัณฑ์ยางและชิ้นส่วนทั่วๆ ไป ต่อไปนี้เราจะไม่หยุดแค่นั้น เราจะหันไปผลิตยางรถยนต์ ซึ่งยางรถยนต์นั้น หลังจากที่เราเร่งออกไป ขณะนี้มีคนเข้ามายื่นแล้ว 3 ราย เราอยากจะได้สัก 10 โรง ถ้าได้ 10 โรง จะมีกำลังซื้อยางในประเทศได้ถึง 1.5 ล้านตัน จะช่วยให้ราคายางในประเทศดีขึ้น ขณะนี้มา 3 โรงแล้ว

ผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างทั่วๆ ไป เราไม่ต้องส่งเสริมแล้ว เขาผลิตกันได้แล้ว คู่แข่งผลิตได้แล้ว เราหันมาส่งเสริมประเภทเหล็กทนแรงสูง เหล็กถลุง เหล็กพรุน อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งมันยากกว่า ใช้เทคโนโลยีสูงกว่า คู่แข่งผลิตไม่ได้ หรือวัสดุก่อสร้างทั่วไป ก็ไม่ต้องส่งเสริมแล้ว วัสดุก่อสร้างทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นปูนซีเมนต์ ไม่ต้องส่งเสริมแล้ว เราหันไปพวกที่เขาเรียกว่า Advance Materials หรือ Nano Materials อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งคู่แข่งยังผลิตไม่ได้ เส้นใยธรรมชาติที่เราเคยใช้ทอผ้า หรือใยสังเคราะห์ธรรมดา ไม่ต้องแล้ว เดี๋ยวนี้หันไปทำสิ่งที่เขาเรียกว่า Technical Fiber นี่เทยินก็เพิ่งจะเข้ามา เพื่อจะมาตั้งโรงงานผลิต Technical Fiber ที่เมืองไทย พวก Technical Fiber ก็คือยางสังเคราะห์ แต่ว่าพวกนี้จะมีลักษณะคล้ายใยธรรมชาติมากที่สุด พวกนี้เป็นใยสังเคราะห์นะ คล้ายใยธรรมชาติมากที่สุด พูดง่ายๆ คืออากาศถ่ายเทได้ ทำให้ใส่แล้วไม่ร้อน อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้เป็นสิ่งที่ประเทศอื่นที่เกิดใหม่ยังสู้เราไม่ได้

ฮาร์ดดิสก์ เราที่หนึ่งในโลกจริง ขณะนี้เราส่งออกที่หนึ่งในโลก แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆ อีกหน่อยเราก็จะไม่เป็นที่หนึ่งแล้ว เราก็จะไปฮาร์ดดิสก์ไดรว์ฟ ซึ่งใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ซึ่งคนอื่นยังตามไม่ทัน

รถยนต์เหมือนกัน ตอนนี้เราผลิตแล้วนะ รถยนต์อีโคคาร์ หรือที่ใช้เครื่อง ใช้ภาษาอังกฤษว่า Combustion Engine ต่อไปนี้เราจะหันไปดูไฮบริด พวกไฟฟ้า นี่เราเริ่มตั้งไข่ อันนี้ยังไม่มานะ ต้องรอไปก่อน ชิ้นส่วนยานยนต์อีกหน่อยก็จะเป็นพวก Embeded Software แตกพาร์ท คือชิ้นส่วนที่เอาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ไปเขียนใส่ไว้ด้วย อย่างนี้เป็นต้น พลาสติก ผมพูดแล้ว พลาสติกชีวภาพ เยื่อกระดาษ อีกหน่อยก็จะเป็นเยื่อประเภทที่ปลอดเชื้อ กระดาษปลอดเชื้อ

จะให้ดูลิสต์ในหน้าถัดไป ยกตัวอย่าง รองเท้าหนัง กระเป๋าหนัง เครื่องกีฬา แว่นสายตา ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเราส่งเสริมมาเยอะ ตอนนี้คนอื่นเขาผลิตมาแข่งกับเราแล้ว เราก็หันไปส่งเสริมตัวใหม่แทน ชิ้นส่วนอากาศยาน การบริหารซ่อมแซมอากาศยาน เรามีความหวังที่จะผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานในเมืองไทยให้ได้ เป็นการสร้างความหวังที่คิดว่าไม่เกินเอื้อม กำลังหาที่อยู่ ที่จะเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานของอาเซียนให้ได้ เราจะมีการทำชิ้นส่วนอากาศยาน ซึ่งเราก็ไปชักชวนบริษัทนักลงทุนจากญี่ปุ่นไว้ หลายบริษัทแล้วเหมือนกัน ก็จะมีอย่างเครื่องมือแพทย์ เราไม่ผลิตเครื่องกีฬาละ เราจะผลิตเครื่องมือแพทย์แทน เครื่องมือวิทยาศาสตร์แทน เป็นต้น


โซลาร์เซลล์เป็นอีกอย่างที่น่าสนใจ ประเทศจีนเป็นประเทศที่ผลิตโซลาร์เซลล์เอง และเราก็ซื้อโซลาร์เซลล์มา ถ้าเราชวนเขามาตั้งผลิตโซลาร์เซลล์ในเมืองไทยเองเราอาจพัฒนาเป็นศูนย์โซลาร์เซลล์ของอาเซียนได้ คือสิ่งที่ได้ทำไปแล้วประกาศไปแล้ว ส่งคนออกไปชักจูงแล้ว ถึงมีคนเข้ามาติดต่องานวิจัยและพัฒนาก็เหมือนกัน งานวิจัยและพัฒนาเจรจากับหลายบริษัท ว่าให้มาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นที่เมืองไทย ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาเราจะได้มีงานวิจัยของตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งบางบริษัทก่อตั้งแล้ว ถ้าผมจำไม่ผิดของโตโยต้าเคยตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาในเมืองไทย รถยนต์ไฮลักรุ่นสุดท้ายที่ออกไปเป็นรถยนต์ที่ทำวิจัยและพัฒนาในเมืองไทยทั้งคัน น่าภูมิใจมาก เรากำลังจะดึงดูดแบบนี้ให้เข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะรถยนต์ เป็นเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์ เราก็จะดึงดูดให้มากขึ้น เราเจรจาไปหลายบริษัทแล้วกำลังทำอยู่ และคือฐานใหม่ของอุตสาหกรรมไทย เราต้องสร้างฐานใหม่ ที่ต้องสร้างฐานใหม่เพราะว่าประเทศที่เกิดใหม่ในอาเซียนในข้างเคียงเรา เขาเริ่มผลิตสื่อสินค้าตัวเก่าๆ ได้เหมือนเราแล้ว แต่ค่าแรงเขาถูกกว่าเรา 1 ใน 3 ของเรา ถ้าเราไม่ถึงสินค้าตัวใหม่มาเสริม เราจะสู้ไม่ได้ ยอดส่งออกที่ติดลบไม่ใช่แค่ปีนี้ ติดลบมา 3 ปีแล้ว แต่ตอนนั้นเรามัวแต่ยุ่งเรื่องการเมือง จนไม่มีใครสังเกตว่า การส่งออกของไทยติดลบมา 3 ปีแล้ว พอมาปีนี้เจอเหตุการณ์โลกซ้ำเข้ามา เลยเพิ่งมาตกอกตกใจ ความจริงการเปลี่ยนฐานของสินค้า เพื่อจะผลิตอุตสาหกรรมตัวใหม่ มันควรจะทำมาตั้ง 4 5 ปีแล้วแหละ อย่างน้อย 3 ปีแล้วที่ต้องทำมา ถ้าขยับตอนนั้นป่านนี้เราจะมีสินค้าตัวใหม่มาทดแทนตัวเก่า และยอดส่งออกเราคงไม่ติดลบอย่างนี้ แต่ไม่เป็นไรมันผ่านไปแล้ว ผ่านไป เราเริ่มกันใหม่นะครับ และการที่เริ่มใหม่ผมประกาศออกไป ที่ยื่นให้ดูแค่ตัวอย่าง ที่โชว์แสดงตัวอย่าง เมื่อประกาศออกไปปรากฏว่า ได้รับการต้อนรับดีมาก เราไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่น เราไปโรดโชว์ที่เซี่ยงไฮ้ ที่เกาหลีไปหมดแล้ว เดี๋ยวจะไปทวีปอื่นอีกไปชวนนักลงทุน และได้รับการสนองตอบดีมาก 309 โครงการ ไม่ใช่ผลงานของ 6 เดือนนี้หรอก แต่เป็นผลงานของเจ้าหน้าที่บีโอไอ ในระหว่างที่เขาคิดชื่ออุตสาหกรรมใหม่ๆ เขาปรึกษาและคุยกับนักลงทุนต่างชาติ หลายประเทศทั่วโลกเลย เพราะเขาต้องทำการศึกษาอย่างจริงจัง ว่าอันไหนคือสิ่งที่จะมาเมืองไทยบ้าง

ระหว่างที่คุยกันไป เขาชวนไปด้วย พอเราประกาศ พวกนี้ยื่นเลย พอพวกนี้ยื่นเราก็อนุมัติได้เลย และนี่คือสิ่งซึ่งเห็นได้ว่า ทุกอย่างมันมีความต่อเนื่อง เห็นได้ว่านักลงทุนทุกชาติเลยนะครับ ยังชอบเราอยู่ ฉะนั้นคนที่ข่าวลือ ที่ชอบไปบอกว่า เขาจะหนีจากเรา ที่เขาหนีจากเราเพราะว่าเราไม่ปรับชื่ออุตสาหกรรม เราลงไปส่งเสริมของเก่า ซึ่งถ้าประเทศอื่นผลิตได้แล้ว ค่าแรงของประเทศอื่นเขาถูกกว่า พวกนั้นก็ไปที่อื่น แต่เมื่อเรามีรายชื่อใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งออกมาเป็น 10 หมวดอย่างที่ผมอธิบายตอนแรก 309 รายการ 10 หมวดนั้นมีรายการยาวกว่านี้เยอะ ตัวใหม่นี่แหละคือตัวที่จะดึงให้นักลงทุนเข้ามาเติมแทนประเภทที่ลดความสำคัญลง

อันนี้คือทั้งหมดได้ทำไปแล้ว และคิดว่าคงจะมีคนมายื่นมากกว่านี้อีก นี่ถามว่า ต่อไปทำอะไรอีก ในเรื่องอุตสาหกรรม วันนี้ โทษทีผมไม่ได้พูดด้านเกษตร ด้านเกษตรให้เหตุการณ์ภัยแล้งจบไปก่อน ผมจะสรุปให้ฟัง ให้เห็นภาพชัดเจน ว่าเราทำอะไรบ้าง ช่วยเหลืออะไรไปบ้าง แต่อยากให้จบซะก่อน แต่ในเรื่องอุตสาหกรรม ยังไปได้อีกไกล เอาหละหลักฐานตัวนี้แล้ว ปรากฎเราพบว่า มันมีสินค้าบางตัว ซึ่งเรามีทรัพยากรสูงมาก อย่างเช่น ยาง ทรัพยากรของเรา สามารถรับโรงยางได้ โรงทำล้อยางรถยนต์ได้มากกว่า 10 โรงด้วยซ้ำไป แต่ที่ไป ผมไปเมืองจีน ผมคุยกับเขามา ตอนนี้รับปากแล้ว 8 โรง เราอยากจะได้อีก เราต้องพยายามทำให้ได้มากขึ้นอีก ดีใจที่จีนตัดสินใจแล้ว ที่จะใช้เมืองไทยเป็นฐานผลิตยางล้อ ฐานที่สองในเอเชีย ฐานที่หนึ่งอยู่ที่จีนเอง ฐานที่สองเขาเลือกเมืองไทย เป็นฐานในอาเซียน อย่างที่ผลิตเพื่อป้อนอาเซียนอย่างเดียว ผลิตและส่งออกของโลกด้วย ป้อนตลาดซีแอลเอ็มบีด้วย นี่คืออันแรก

อันที่สอง เรามีทรัพยากรที่น่าสนใจคือ โปแตส โปแตสใต้ดินในอีสาน มีกะทะใหญ่โปแตส โปแตสคือ โปแตสอยู่กับหิน 2 อย่างเค็มทั้งคู่ ทานได้ผมทานมาแล้ว โปแตสหินเรามีเทคโนโลยีที่สะอาดอยู่ที่เยอรมัน สามารถทำหินโปแตสที่สะอาดเหมือนเดิม ข้างใต้ดินมีเท่าไหร่รู้ไหม มีอยู่ 400,000 ล้านตัน นึกภาพแล้วยังใหญ่ ไม่รู้จะใหญ่ยังไง ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แต่เขาบอกว่า ขณะนี้เทียบแล้วอาจใหญ่ที่สุดในโลกก็ได้ ผมยังไม่ยืนยันนะครับ ตรงนี้จะเป็นฐานอุตสาหกรรมใหม่อีกเยอะเลย โปแตสขึ้นใหม่จะผลิตปุ๋ยได้ ผลิตยางบางชนิด ที่ใช้โปแตสเซียมได้ และจะผลิตอะไรที่ใช้โปแตสเซียมได้อีกเยอะ อันนี้คือฐานอุตสาหกรรมใหม่ นอกจากยางแล้วมีตัวนี้อีก ผมยกตัวอย่างนี้เป็นต้น พวกนี้แหละ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ที่เราจะสร้างที่เรียกว่านิคมอุตสหกรรมเฉพาะทาง กำลังน่าสนใจ ที่จะมีนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทางสำหรับยาง โดยเฉพาะ และยางไม่ใช่ยางล้อ สินค้ายางอย่างอื่นมีอีกเยอะ เดี๋ยวนี้มีสนามฟุตซอลยางก็มี พวกนี้จะมาทำให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมยาง น่าจะทำได้ ขณะนี้กำลังเจรจากับนิคมอุตสาหกรรมเอกชนบางแห่ง ให้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมยางขึ้น เพราะถ้าเราทำเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว เราจะคงความเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในอาเซียนได้อย่างแน่นอน

อีกอันหนึ่งซึ่งน่าสนใจก็คือ นิคมอุตสาหกรรมอากาศยาน นิคมอุตสาหกรรมอากาศยานนี่น่าสนใจมาก เพราะประเทศไทยนั้นต้องบอกว่า เราก็มีคู่แข่งกับสิงคโปร์ ในการที่เป็นฮับ หรือเป็นจุดเชื่อมต่อของสายการบินทุกแห่ง แต่ว่าเรามีโอกาสจะพัฒนาตัวเองเป็นศูนย์ซ่อมที่ดีได้ ซึ่งอันนี้กำลังเตรียมการอยู่ แล้วถ้าเรามีศูนย์ซ่อม เรามีสนามบิน แน่นอนเรามีสนามบินหลายแห่งแล้ว ศูนย์ซ่อมก็อยู่ใกล้สนามบินบางแห่ง แล้วเราอาจจะทำนิคมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานที่นั่น อย่างนี้เป็นต้น เราจะเป็นนิคมฯ อากาศยานขึ้นมาได้

ประเทศไทยถึงเวลาต้องขยับจากนิคมอุตสาหกรรมปกติ เป็นนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทางแล้ว พอขยับไปแล้วเดี๋ยวจะเกิดนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทางอย่างอื่นขึ้นอีก ซึ่งผมแค่ยกตัวอย่างแค่ 3 อันก่อน แล้วในอนาคตเมื่อเกิดมีอะไร จะมาเล่าสู่กันฟัง ผมก็เลยมาเล่าให้เห็นว่า นี่คือสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว และสิ่งที่รัฐบาลเตรียมจะทำต่อไป และผลมันก็ออกแล้วว่า ในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่เราประกาศออกไปนั้น คนตอบรับอย่างดีมาก ตอบรับดีเสียจนทำให้เรากล้าคิดว่าเราจะไปขั้นที่ 2 คือนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทางได้ ถ้ามีความคืบหน้าอย่างไรผมจะมาเล่าให้ฟังอีก ขอบคุณมากครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น