xs
xsm
sm
md
lg

หนุนพลังคนพิการ สร้างสรรค์สังคมที่ยั่งยืน จัดงานใหญ่ระดับภูมิภาคเอเชีย 8-10 ก.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลายหน่วยงาน ร่วมแถลงข่าวจัดสัมมนา “ความสามารถในการทำงานของคนพิการระดับภูมิภาคเอเชีย 2015”
งานสัมมนาความสามารถในการมีงานทำของคนพิการระดับภูมิภาคเอเชีย 2015 “Workability Asia Conference 2015” ณ รร.ฮิลตัน เมืองพัทยา ในวันที่ 8-10 กรกฎาคมนี้ ภายใต้แนวคิด “Together we can make the Difference” จัดขึ้นโดยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานของประเทศไทยเพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมตระหนักถึงการสร้างงาน สร้างอาชีพแก่คนพิการ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำคนพิการไปสู่คุณภาพชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืน คาดว่าจะมีคนพิการ องค์กรที่ทำงานด้านคนพิการ ภาคธุรกิจเอกชน และหน่วยงานของรัฐกว่า 20 ประเทศ รวม 300 คน เข้าร่วมงาน
สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ และประธาน Workability Thailand
สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ และประธาน Workability Thailand หนึ่งในผู้จัดงานนี้เล่าว่า “การทำงานด้านคนพิการต้องบูรณาการร่วมกัน ทั้งมิติของประเภทความพิการ กลุ่มของอายุ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ องค์กรคนพิการ องค์กรที่ทำงานด้านคนพิการ เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าประเทศไทยหรือประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นการทำงานแบบแยกส่วนกันค่อนข้างสูง
จากประสบการณ์การทำงาน มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการดำเนินการมากว่า 30 ปี จนทำให้เกิดการผลิตคนพิการที่มีคุณภาพด้านอาชีพที่เป็นความต้องการของสถานประกอบการ เพราะนักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ จบด้านโปรแกรมเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นงานสายการผลิต และสายการควบคุมคุณภาพ (QC) ในการทำงานของโรงงานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฉะนั้นบทบาทในการส่งเสริมอาชีพแก่คนพิการที่ทางมูลนิธิได้ดำเนินการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความแตกต่าง ด้วยสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพเกิดขึ้นแก่ภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มคนพิการที่หลากหลาย ได้แก่ กลุ่มคนพิการออทิสติก พิการทางสติปัญญา พิการทางจิตใจ กลุ่มคนพิการรุนแรง ซึ่งต้องหาแนวคิดสร้างสรรค์ในการให้คนเหล่านี้ทำงานได้ เช่น การทำงานจากที่บ้าน สามารถให้คนพิการที่มีความพิการมากทำงานได้ โดยนำเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาช่วย การส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการหรือองค์กรท้องถิ่นจ้างงานคนพิการในชุมชน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญของการจัดสัมมนาครั้งนี้นอกจากองค์กร หน่วยงานและผู้เข้าร่วมงานจะได้รู้จัก พบปะ แลกเปลี่ยน เพื่อต่อยอดการทำงาน เช่น แทนที่นาย ก. นาย ข. จะเดินไปหาบริษัท ก. บริษัท ข. เอง ซึ่งดูเหมือนง่ายแต่ก็ไม่ง่าย เพราะมันหมายถึงเรื่องของสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เนื่องจากเป็นวิธีการสร้างเครือข่ายและขยายการทำงานต่อกันในอนาคตขององค์กร หน่วยงานระหว่างประเทศที่มาร่วมงานแล้ว ยังรวมถึงการทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศเกิดความตื่นตัว และมีโอกาสในการเชื่อมการทำงานร่วมกัน
สำหรับกิจกรรมสำคัญภายในงาน นอกจากการสัมมนาทางวิชาการระดับภูมิภาคแล้ว ยังมีการประกาศเจตนารมณ์หลักการ “พลังคนพิการ: หุ้นส่วนธุรกิจสร้างสรรค์สังคม” (Declartion of Welcome Disability) เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมศักยภาพและความสามารถคนพิการ
รวมถึงมีการศึกษาดูงานกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย และการเปิดตัว Workability Thailand องค์กรระดับประเทศที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อไม่นานนี้ “Workability Thailand จะทำความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานด้านคนพิการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดกิจกรรม Welcome Disability Campaign (Well-D) รณรงค์ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน แสดงเจตจำนงค์ร่วมในการต้อนรับคนพิการในทุกมิติ ด้วยการสร้างการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม และสร้างความตระหนักต่อพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และชุมชนของหน่วยงานนั้นๆ ทั้งบอกกล่าวไปยังสังคมวงกว้างว่า เรามาส่งเสริมและสร้างโอกาสให้คนพิการมีอาชีพมีงานทำ แล้วเราจะเชื่อมกับภาคส่วนที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศด้วย”
นอกจากนี้ สุภรธรรม ยังเล่าต่ออีกว่า “ครั้งนี้ก็นับเป็นครั้งแรกของการเปิดตัว Workability Thailand หรือ “สมาคมผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการ” จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 และอยู่ในการควบคุมดูแลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการวิสาหกิจ/กิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสทั่วประเทศไทย และส่งเสริม สนับสนุนการประกอบวิสาหกิจ/กิจการประเภทที่เกี่ยวกับการส่งเสริมคนพิการในภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคการบริการ ซึ่งจะเป็นกลไกเชื่อมโยงสำคัญในการผลักดันเรื่องการส่งเสริมและเปิดโอกาสให้คนพิการมีงานทำร่วมกับ Workability Asia และ Workability International ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 เป็นองค์กรเครือข่ายระดับเอเชียที่รวบรวมหน่วยงานที่ส่งเสริมการดำเนินด้านการส่งเสริมอาชีพคนพิการ
ปัจจุบันมีสมาชิก 37 องค์กรจาก 13 ประเทศคือ ประเทศบังคลาเทศ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (ฮ่องกงและมาเก๊า) ประเทศอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศมาเลเซีย ประเทศเนปาล ประเทศปากีสถาน ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศศรีลังกา ประเทศไต้หวัน ประเทศพม่า และประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ 1)การจัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานด้านคนพิการเอเชีย 2)การแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมและการดำเนินงานระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย 3) การรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมอาชีพและการจ้างงานคนพิการให้แก่ประเทศในภูมิภาคเอเชีย
มานพ เอี่ยมสอาด ผู้จัดการศูนย์พัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ
มูลนิธิพระมหาไถ่ฯ : พลังคนพิการกับการสรรค์สร้างการมีงานทำ
มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 มุ่งช่วยเหลือและพัฒนาคนพิการให้มีอาชีพ เพราะเชื่อว่าหากคนพิการมีอาชีพที่เหมาะสมหาเลี้ยงชีพได้นั้นคือการดำรงชีพอย่างยั่งยืน ทางมูลนิธิได้เปิดหลักสูตรฝึกอบรมจนกระทั่งปัจจุบันพัฒนาเป็น “โรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่” ในหลักสูตรงานด้านเทคโนโลยี คือ คอมพิวเตอร์(โปรแกรมเมอร์ เขียนแบบ คอมพิวเตอร์) อิเล็กทรอนิกส์ และการจัดการธุรกิจภาคภาษาอังกฤษ นอกจากนี้แล้วมูลนิธิยังมีศูนย์พัฒนาการเด็กพิเศษ(เด็กออทิสติก เด็กดาวน์ซินโดรม และเด็กพิการในวัยเยาว์) เพื่อช่วยเหลือทั้งด้านการให้ศึกษา ส่งเสริมทักษะชีวิต และที่สำคัญคือเปิดศูนย์จัดหางานพร้อมเตรียมความพร้อมด้านการอาชีพทั้งในสถานประกอบการและส่งเสริมให้ผู้พิการเป็นผู้ประกอบการ
มานพ เอี่ยมสอาด ผู้จัดการศูนย์พัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เล่าว่า “บทบาทมูลนิธิฯ คือ การส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำ ทั้งเข้ามาเรียนที่โรงเรียนอาชีวะเพื่อฝึกทักษะในสายงานทางด้านเทคโนโลยีและภาษา แต่ละปีนักเรียนที่จบการศึกษาส่วนใหญ่จะมีสถานประกอบการมาจองตัวเพื่อเข้าสู่การทำงาน แต่ว่าจำนวนนักเรียนที่จบการศึกษาก็ไม่เกิน 200 คนซึ่งถือว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการคนพิการเข้าไปทำงานในสถานประกอบการ แต่อย่างไรก็ตามผมกลับมีแนวคิดว่าบทบาทของมูลนิธิสามารถทำได้มากกว่าให้ความรู้และส่งผลผลิตต่อไปยังผู้ประกอบการ
สิ่งสำคัญคือการหาความสามารถของคนพิการให้เจอ แล้วเราจะพบว่าผู้พิการที่แตกต่างกันก็มีสามารถทำงานเหมือนกัน เช่น งานจัดเอกสารใส่แฟ้ม โดยเด็กพิเศษ (เด็กออทิศติก เด็กดาวน์ซินโดรม) ซึ่งเป็นลักษณะงานที่แบบง่าย โดยต้องมีอาจารย์คอยควบคุมดูแลในการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน แล้วก็ส่งไปรษณีย์ให้กับเครือข่ายของ สสส. ผมก็ให้เด็กกลุ่มนี้(เด็กพิเศษ)เขาทำได้ จำนวน 13,000 ชุด ภายใน 10 วันเสร็จ ซึ่งทำให้เราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสิ่งที่เค้าทำได้ และทำให้เราคิดต่อยอดว่างานแบบนี้เค้าสามารถทำได้นะ แต่ต้องมีอาจารย์เป็นผู้แนะนำและควบคุมการทำงาน คอยแบ่งหน้าที่ว่าใครทำอะไร แบบไหน ก็ถือว่าเป็นการทดลองงาน และก็เสร็จด้วยดี”
ร้านเรย์ปันกัน
ศูนย์บริการลูกค้าเพาเวอร์บายและโฮมเวิร์ค
ศูนย์ซ่อมสินค้าเพาเวอร์บาย
มานพ ยังกล่าวเสริมอีกว่า การค้นหาศักยภาพบวกกับการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะกับความพิการ นับว่าเป็นการแก้ปัญหาให้กับคนพิการอย่างยั่งยืนต่อการดำรงชีวิตของเขา เมื่อรูปธรรมเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ทางมูลนิธิฯได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจเข้ามาสนับสนุนให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนพิการได้หลายรูปแบบ ดังเช่นความร่วมมือของภาคธุรกิจกับทางมูลนิธิฯ อาทิ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ร่วมเปิดศูนย์ปฏิบัติการคอลเซ็นเตอร์ของเอไอเอส, บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมเปิดศูนย์บริการลูกค้าเพาเวอร์บายและโฮมเวิร์ค รวมถึงศูนย์ซ่อมสินค้าเพาเวอร์บาย
บางธุรกิจมาสนับสนุนการฝึกอาชีพให้คนพิการ เช่น บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สนับสนุนการฝึกอาชีพเบเกอรี่ ธนาคารกรุงเทพสนับสนุนการฝึกอาชีพคอลเซ็นเตอร์ การเลี้ยงแพะ เป็นต้น กลุ่มบริษัทพรีเมียร์นำรูปแบบของร้านปันกันโดยมูลนิธิยุวพัฒน์ มาให้แฟรนไชส์แก่ทางมูลนิธิฯ ทั้งช่วยเป็นที่ปรึกษาด้านระบบบริหารจัดการ จนสามารถเปิดเป็นกิจการเพื่อสังคมเรย์ปันกัน ที่สร้างรายได้ในแต่ละเดือนให้แก่มูลนิธิพระมหาไถ่ฯ หลายหมื่นบาทจนถึงหลักแสนบาทในบางเดือน ซึ่งนับว่าเป็นแนวทางที่ส่งเสริมให้มูลนิธิมีรายได้ ภายใต้แนวคิดเรื่อง “กิจการเพื่อสังคม(Social Enterprise)” จึงเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้และมีแนวโน้มที่เหมาะสมกับมูลนิธิ
มานพ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการจัดกิจกรรมระดมทุนแล้ว กิจการเพื่อสังคมเช่นร้านเรย์ปันกัน นับเป็นอีกหนทางที่สนับสนุนให้คนพิการมีรายได้แบบผู้ประกอบการ แนวคิดนี้เป็นเรื่องที่เห็นตัวอย่างจากต่างประเทศบ้าง ในเมืองไทย อาทิ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (POPULATION AND COMMUNITY DEVELOPMENT ASSOCIATION - PDA)
นับว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่อยู่ได้ด้วยตัวเองที่ไม่ต้องพึ่งเงินบริจาค และมูลนิธิเราเองมีทรัพยากรที่ดี คือ คนพิการที่จบการศึกษา มีศักยภาพ นอกจากจะส่งเสริมให้ไปทำงานกับสถานประกอบการแล้ว ในอีกมุมหนึ่งคือ การสร้างงานที่เป็นของเราขึ้นมาเอง และทางมูลนิธิได้พยายามทำธุรกิจขึ้นมา ซึ่งนอกจากร้านเรย์ปันกันแล้ว ก็มีร้านเบเกอรี่ มีตลาดสินค้าคนพิการ 
นอกจากการใช้แนวคิดสร้างสรรค์เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมคนพิการมีงานทำแล้ว ทางมูลนิธิได้เปิดเป็นศูนย์จัดหางาน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำหน้าที่หางานให้คนพิการโดยเฉพาะ ซึ่งนายมานพกล่าวเสริมว่า “นอกจากกลุ่มคนพิการที่เข้ามาเรียนที่โรงเรียน เรายังหางานให้คนพิการกลุ่มอื่นๆภายนอกด้วย และยังมีการจัดกิจกรรม จัดหางานสัญจร ตระเวณไปตามจังหวัด หรือภูมิภาคต่างๆเพื่อค้นหาและเตรียมความพร้อมคนพิการเข้าสู่สถานประกอบการ
นับเป็นการเปิดให้ความรู้แก่คนพิการ หน่วยงานราชการ พัฒนาสังคมจังหวัด จัดหางานจังหวัด รวมถึงการเป็นตัวกลางในการประสานความรู้ ความเข้าใจ ระหว่างสถานประกอบการกับผู้พิการ ซึ่งจากการตระเวนไปหลายจังหวัดเพื่อหาคนพิการเพื่อเข้าทำงานในสถานประกอบการได้ปีละประมาณ 500 คน เต็มที่เลยคือ 700 คน ขณะที่มีความต้องการเป็นหมื่นตำแหน่ง จากประสบการณ์ลงพื้นที่เพื่อจัดหางานในจังหวัดหนึ่ง พบว่าผู้พิการ 100 คนอยู่ในวัยแรงงานที่ฝึกอาชีพเพื่อเข้าสู่สถานประกอบการได้เพียง 5-6 คน ที่เหลือเป็นผู้สูงอายุ แต่ทุกคนอยากมีงานทำ

ศูนย์ซ่อมอิเล็กทรอนิกส์พระมหาไถ่
ทางมูลนิธิฯ จึงเข้าไปส่งเสริมการรวมกลุ่มคนพิการในชุมชนนั้นๆ ให้ระดมความเห็นร่วมกันว่าสามารถสร้างงานในชุมชนได้อย่างไรบ้าง เช่น การทำไม้กวาด การเลี้ยงสัตว์ จากนั้นจะช่วยจัดหาแหล่งทุนเพื่อการดำเนินธุรกิจของคนพิการและครอบครัว รวมถึงช่วยจัดหาสัมปทานและตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าและบริการ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากองค์กรธุรกิจที่ใช้มาตรา 35 เราเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นคนหูหนวก ตาบอด เด็กออทิสติก เด็กดาวน์ซินโดรม ทุกประเภทความพิการ ถึงแม้ไม่ได้เรียนกับเราก็สามารถมาใช้บริการจัดหางานกับเราได้
อีกทั้งเรายังมีโครงการเตรียมความพร้อมคนพิการเข้าสู่สถานประกอบการ ซึ่งเป็นอีกโครงการหนึ่ง ที่ให้ความรู้แก่คนพิการ หน่วยงานราชการ พัฒนาสังคมจังหวัด จัดหางานจังหวัด เพื่อให้เค้าส่งคนพิการไปเรียนภาครัฐ หรือเอกชน หรือมาเรียนกับเรา หรือให้ทางมูลนิธิจัดหางานให้ โดยกระบวนการทางศูนย์จัดหางานคนพิการของมูลนิธิเป็นพื้นที่ให้ผู้ประกอบการพบกับคนพิการเพื่อสัมภาษณ์งาน มีห้องเตรียมความพร้อมคนพิการมาประเมินความสามารถเบื้องต้นให้ตรงกับตำแหน่งงานที่เหมาะสม ประเมินความคาดหวัง แต่หากคนพิการที่ยังไม่มีความพร้อมต่อการทำงานทางมูลนิธิจะเสนอทางเลือกในการให้เข้าสู่การเรียนอาชีพ การฝึกอาชีพ ต่อไป” นายมานพกล่าวทิ้งท้าย
จากข้อมูลทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการปี 2558 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ มีผู้พิการที่ลงทะเบียนทั้งประเทศจำนวน 1,567,791 คน มีคนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15 - 60 ปี) มีจำนวน 769,327 คน คิดเป็นร้อยละ 49.07 ของทั้งประเทศ ซึ่งมีคนพิการที่ประกอบอาชีพเพียง จำนวน 317,020 คน นอกนั้นเป็นคนพิการที่ไม่ได้ประกอบอาชีพและคนพิการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เนื่องจากความพิการที่มากเกินกว่าช่วยเหลือตัวเองได้ และนอกจากวัยทำงานยังมีผู้พิการที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
และจากข้อมูลดังกล่าวได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์คนพิการส่วนใหญ่พบว่า ร้อยละ 70 เป็นกลุ่มคนพิการที่อยู่ในชนบทห่างไกล มีความยากลำบากในการเดินทาง ไม่ทราบข้อมูลข่าวสารทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่ควรจะได้รับ ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกและการใช้ประโยชน์จากบริการสาธารณะ ทั้งครอบครัว สังคม ชุมชน ขาดความรู้ความเข้าใจ ที่สำคัญยังมีทัศนคติที่ไม่เหมาะสมกับคนพิการ
ดังนั้น ปัญหาที่มีอยู่ยังต้องได้รับการแก้ไขและขยายผล แม้จะมีองค์กรแบบมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการจำนวนมากขึ้นเท่าไหร่ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งงานสัมมนาความสามารถในการมีงานทำของคนพิการระดับภูมิภาคเอเชีย 2015 “Workability Asia Conference 2015” ที่จะจัดขึ้นในวันดังกล่าวข้างต้นมาแล้วนั้น นับเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้าง “Together we can make the Difference” อันเป็นวาระสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือ และเป็นหัวใจสำคัญของการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ ที่มากกว่าการมองเป็นกลไกและพื้นที่กลางในการสร้างความร่วมมือ แต่หมายถึงการมุ่งสู่ความยั่งยืนของสังคมโดยรวม
สำหรับการจัดสัมมนาในครั้งนี้ นำโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เมืองพัทยา กิจการเพื่อสังคมไนส์คอร์ป และ Workability Thailand ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมโรงแรมไทย สมาคมสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.),คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
กำลังโหลดความคิดเห็น