xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย ทำไม! “บิ๊กตู่” งัด ม.44 สั่งเบรก “11 กก.สรรหา” ล้มเวทีแสดงวิสัยทัศน์ 11 ว่าที่ คปก.ชุดใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุดเวปไซต์คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ประกาศว่า โดยผู้สมัครกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
ย้อนรอย ทำไม! “บิ๊กตู่” งัด ม.44 สั่งเบรกสรรหากรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดใหม่ - สั่งชุดเก่าก็ล้มไปด้วย อ้างรัฐบาลมุ่งปฏิรูปประเทศ อยากให้ทุกอย่างมีเอกภาพ ตามดูรายชื่อกรรมการสรรหาฯ 11 คน - ผู้ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์ 11 คนมีใครบ้าง!! กลับไปนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่วันสมัครไปถึงวันประกาศแสดงวิสัยทัศน์ ที่ประกาศในวันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคมนี้ ที่ต้องล้มไป

วันนี้ (15 ก.ค.) มีรายงานว่า ภายหลัง เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 20/2558 เรื่องระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

โดยมีใจความสำคัญว่า

ตามที่ได้มีการประกาศรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาและคัดเลือกเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมายแทนกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดเดิมซึ่งได้ครบวาระการดํารงตําแหน่งไปเมื่อวันที่๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ นั้น

เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศ และมีหลักการสําคัญส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอาจมีการวางหลักเกณฑ์ หรือกําหนดกลไกที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกฎหมายไว้แตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ก็ได้มีองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดเดิมได้ดํารงตําแหน่งจนครบวาระไปแล้วจึงสมควรระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดใหม่ไว้ก่อน ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิรูปกฎหมายของประเทศมีความเป็นเอกภาพและสอดคล้องกับหลักการที่จะได้กําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมายตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ ไปจนกว่าจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

ข้อ ๒ ให้กรรมการปฏิรูปกฎหมายที่อยู่ในตําแหน่งจนครบวาระไปแล้ว แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ พ้นจากตําแหน่งตั้งแต่วันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ

ข้อ ๓ ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ให้สํานักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยอยู่ภายใต้การกํากับดูแลของนายกรัฐมนตรี

ข้อ ๔ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ย้อนรอย สาเหตุ “บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 สั่งเบรกสรรหา คปก. ชุดใหม่ - ชุดเก่าปฏิบัติหน้าที่ต่อ

9 มีนาคม 2558 เว็บไซต์ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ประกาศรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาและคัดเลือกเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

ด้วยพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ บัญญัติให้มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจำนวน สิบเอ็ดคน มีบทบาทสำคัญในการปรับปรุง และพัฒนากฎหมายทั้งระบบของประเทศให้เกิดความเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน โดยคำนึงถึงหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลักความเป็นอิสระ หลักนิติธรรม หลักธรรมภิบาลบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้การดำเนินการสรรหาและคัดเลือกเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมายตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อำนาจตามความในมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ ประกอบกับมติคณะกรรมการสรรหากรรมการปฏิรูปกฎหมาย ครั้งที่ ๒ /๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๘ คณะกรรมการสรรหากรรมการปฏิรูปกฎหมาย จึงประกาศรับสมัครบุคคลทั่วไปเข้ารับการสรรหาและคัดเลือกเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ดังต่อไปนี้

๑. ตำแหน่งที่สมัคร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย จำนวน ๑๑ คน ประกอบด้วย

๑.๑ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา จำนวน ๖ คน

๑.๒ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลา จำนวน ๕ คน ทั้งนี้ ผู้ประสงค์จะสมัครเข้ารับการสรรหาและคัดเลือกเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีสิทธิเลือกสมัครประเภทปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา หรือปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลา อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

๒. คุณสมบัติ/ลักษณะต้องห้าม ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้หรือมีความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ตามมาตรา ๗ มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องตามาตรา ๘ รวมทั้งไม่ดำรงตำแหน่งอื่นตามาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓

๓. การรับสมัคร ๑) สมัครด้วยตนเอง (๒) สมัครโดยมีนิติบุคคลภาครัฐหรือเอกชนเป็นผู้เสนอชื่อ กรณีตาม (๒) ผู้ถูกเสนอชื่อต้องเป็นผู้จัดทำใบสมัครด้วยตนเอง โดยให้ระบุชื่อนิติบุคคลภาครัฐหรือเอกชนพร้อมหนังสือรับรองการเสนอชื่อของนิติบุคคลภาครัฐ หรือเอกชนแนบมาพร้อมใบสมัครด้วย

ผู้สมัครส่งใบสมัครพร้อมเอกสารหลักฐานด้วยตนเองหรือผู้แทน (พร้อมหนังสือมอบอำนาจ) หรือทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ถึงประธานคณะกรรมการสรรหากรรมการปฏิรูปกฎหมาย ณ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เลขที่ ๙๙ หมู่ ๔ อาคารซอฟแวร์พาร์ค ชั้น ๑๕ ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี รหัสไปรษณีย์ ๑๑๑๒๐ เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๘ ถึง ๒๐ เมษายน ๒๕๕๘ ในวันและเวลาราชการ กรณีส่งทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS)ให้ถือวันที่ไปรษณีย์ต้นทางประทับตราเป็นวันยื่นใบสมัคร

17 มีนาคม 2558 ประกาศ สรรหาผู้มีผลงานและประสบการณ์เป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ยื่นใบสมัครตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๘ ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงการสรรหาและคัดเลือกกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นชอบให้ประกาศรับสมัครบุคคลทั่วไปเข้ารับการสรรหาและคัดเลือกเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยกฎหมายกำหนดให้มีกรรมการปฏิรูปกฎหมายจำนวน ๑๑ คน เพื่อปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ๖ คน และปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลา ๕ คน การสรรหาจะพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีผลงานที่โดดเด่นและมีประสบการณ์ที่หลากหลายเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกฎหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ยื่นใบสมัครได้ตั้งแต่วันนี้และปิดรับสมัครวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๘

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เป็นองค์กรหลักของชาติที่ดำเนินการเป็นอิสระในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายทั้งระบบของประเทศ ซึ่งจะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายประสบการณ์และองค์ความรู้ อาทิ รัฐธรรมนูญ และการปกครอง กฎหมายมหาชน กฎหมายแพ่งพาณิชย์ กฎหมายเอกชนธุรกิจ กฎหมายอาญา กระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย สิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ การลงทุน ภาษีอากร แรงงาน สวัสดิการสังคม การคุ้มครองผู้บริโภค ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การสาธารณสุข สุขภาพ การศึกษา ความเสมอภาคระหว่างเพศ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ชนชาติพันธุ์ สื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น

กฎหมายกำหนดให้รูปแบบคณะกรรมการ ประกอบด้วย กรรมการ ๑๑ คน ได้แก่ ประธานกรรมการ ๑ คน รองประธานกรรมการ ๑ คน กรรมการปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ๖ คน ต้องไม่ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหรือประกอบอาชีพอื่นในลักษณะที่ต้องทำงานประจำ และกรรมการปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลา ๕ คน โดยผู้สมัครจะต้องเลือกสมัครในประเภทใดประเภทหนึ่งในเอกสารใบสมัคร

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ปัจจุบันประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการ นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการ นายไพโรจน์ พลเพชร นายสมชาย หอมลออ นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ศาสตราจารย์ ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ ศาสตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ และรองศาสตราจารย์วิระดา สมสวัสดิ์ มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๔ ปี และสิ้นสุดวาระในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘ นี้ โดยคณะกรรมการสรรหาจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่กำหนดไว้

3 กรกฎาคม 2558 ประกาศคณะกรรมการสรรหาคปกผู้มีสิทธิแสดงวิสัยทัศน์ 1 ประกาศคณะกรรมการสรรหากรรมการปฏิรูปกฎหมาย เรื่อง ผู้มีสิทธิแสดงวิสัยทัศน์

ประกอบด้วย ๑. ผู้สมัครกรรมการปฏิรูปกฎหมายประเภทเต็มเวลา จำนวน ๑๒ คน และ ๒. ผู้สมัครกรรมการปฏิรูปกฎหมายประเภทไม่เต็มเวลา จำนวน ๑๐ คน รวมทั้งหมด ๒๒ คน กำหนดวันแสดงวิสัยทัศน์ในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. เป็นต้นไป ณ ห้องประชุมชั้น ๑๖ ห้อง ๒ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ก ถนนแจ้งวัฒนะ สำหรับรายละเอียดเวลาสัมภาษณ์ผู้มีสิทธิ์แสดงวิสัยทัศน์แต่ละท่าน จะแจ้งให้ทราบโดยตรงพร้อมทั้งเผยแพร่ทางเวปไซต์อีกครั้งหนึ่ง

ต่อมา วันที่ 4 กรกฎาคม 2558 ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการสรรหากรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงมติคณะกรรมการสรรหากรรมการปฏิรูปกฎหมาย ครั้งที่ ๕/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เรื่องการสรรหาและคัดเลือกผู้สมัครเป็น คปก ที่มีคุณสมบัติตามมาตรา ๗ คือ เป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ว่า

ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งมี นายจเร พันธุ์เปรื่อง เป็นประธานกรรมการ ๑ คน และกรรมการสรรหากรรมการปฏิรูปกฎหมายจำนวน ๑๑ คน ประกอบด้วย พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รองศาสตราจารย์ มานิตย์ จุมปา ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พัชรินทร์ วิทยาเอนกนันท์ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ นายอวยชัย คูหากาญจน์ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน นางสาวตวงพร อานันสิริเกียรติ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน นายอุดมศักดิ์ บุพนิมิต ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านแรงงาน นายสัก กอแสงเรือง ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ นายศรีสุวรรณ ควรขจร ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ได้กำหนดกรอบการสรรหาและคัดเลือกกรรมการปฏิรูปกฎหมายจากผู้สมัครทั้งหมด ๘๕ คน โดยพิจารณาจากใบสมัครและหลักฐานว่าเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ และเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่หลากหลายและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์เป็นสำคัญ ผลปรากฏว่ามีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในขั้นนี้จำนวน ๒๒ คน และจะต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ต่อกรรมการสรรหาฯ ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ สำนักงานคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมาย

ในจำนวน ๒๒ คน นี้ มีผู้สมัครจากกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดที่ ๑ ที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน ๖ คน ได้แก่ นายไพโรจน์ พลเพชร นางสุนี ไชยรส ศ.ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ และนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

ผู้ที่มาจากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๘ จำนวน ๒ คน ได้แก่ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง และมีสมาชิกสภาปฏิรูปจำนวน ๑ คน คือ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนางสุภัทรา นาคะผิว (นักพัฒนาด้านเด็ก เยาวชน สตรี) นักวิชาการ จำนวน ๒ คน ได้แก่ ศ.ดร.ศุภลักษณ์ พินิจภูวดล อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรังสิต

ส่วนราชการและองค์กรอิสระ จำนวน ๘ คน ได้แก่ ศ.ธงทอง จันทราศุ ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม นายวินัย ลู่วิโรจน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายอรรณพ ลิขิตจิตถะ ผู้เชี่ยวชาญประจำกรรมการเลือกตั้ง นายวสันต์ พานิช อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พลตำรวจเอก วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผศ.เมธี วงศ์สุวรรณ ศัลยแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี

จากภาคแรงงาน ได้แก่ นายพาณิชย์ เจริญเผ่า และ นายวิชัย โถสุวรรณจินดา และจากภาคธุรกิจ ได้แก่ นายอนุรักษ์ นิยมเวช

ล่าสุด เว็บไซต์คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ประกาศ ว่า โดยผู้สมัครกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทเต็มเวลา) จำนวน ๑๒ คน ได้แก่ ๑. นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ๒. ศ.ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ ๓. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิชัย โถสุวรรณจินดา ๔. นายพานิชย์ เจริญเผ่า ๕. นายวินัย ลู่วิโรจน์ ๖. ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ๗. นายวสันต์ พานิช ๘. นายอรรณพ ลิขิตจิตถะ ๙. นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ๑๐. นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ๑๑. นางสุนี ไชยรส ๑๒. นายไพโรจน์ พลเพชร

ผู้สมัครกรรมการปฏิรูปกฎหมายประเภท (ไม่เต็มเวลา) จำนวน ๑๐ คน ได้แก่ ๑. ศาสตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ ๒. นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ๓. นายอนุรักษ์ นิยมเวช ๔. นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ๕. ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ๖. ศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ พินิจภูวดล ๗. นางสาว สุภัทรา นาคะผิว ๘. นายคมสัน โพธิ์คง ๙. พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด ๑๐. นายแพทย์ เมธี วงศ์ศิริวรรณ

โดย กำหนดวันแสดงวิสัยทัศน์ในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. เป็นต้นไปณ ห้องประชุมชั้น ๑๖ ห้อง ๒ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อสรรหาและคัดเลือกบุคคลเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมายครบจำนวน ๑๑ คน ตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ ให้มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง รองประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกเก้าคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นตามมาตรา ๒๑ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งหญิงและชาย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการจำนวนสี่คนต้องเป็นกรรมการที่ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ให้เลขาธิการเป็นเลขานุการคณะกรรมการ

หลังจากคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้คัดเลือกผู้สมัครครบจำนวน ๑๑ คนแล้ว ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมดจะประชุมร่วมกัน เพื่อคัดเลือกกรรมการผู้ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลาเป็นประธานกรรมการหนึ่งคนและรองประธานกรรมการหนึ่งคน แล้วคณะกรรมกรรมการสรรหาจะแจ้งรายชื่อประธานกรรมการ รองประธานกรรมการและกรรมการเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคลทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และจะประกาศรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในราชกิจจานุกเบกษาเป็นลำดับต่อไป



ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 20/2558 เรื่องระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น