xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” แนะ 83 ปีประชาธิปไตยสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง ค้าน สนช.-สปช.นั่งสภาขับเคลื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับ 83 ปี ไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อีกทั้งคนพูดเรื่องสิทธิมากกว่าหน้าที่และความรับผิดชอบ แนะสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง แจงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ไม่ซ้ำซ้อนกับ สปช. ค้านตั้ง สปช. - สนช. เข้าร่วม หวั่นถูกมองเป็นการตบรางวัล

วันนี้ (24 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในโอกาสครบรอบ 83 ปี การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทย ว่า 83 ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยมาก มีรัฐบาลประมาณ 60 คณะ มีการยึดอำนาจ 12 ครั้ง มีนายกรัฐมนตรี 29 คน มีรัฐธรรมนูญ 19 ฉบับ และกำลังจะมีฉบับที่ 20 ถือว่าเยอะ ซึ่งการที่มีรัฐธรรมนูญเยอะเกิดจากเหตุ 3 อย่าง คือ 1. การยึดอำนาจ 2. มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและเปลี่ยนไปเป็นฉบับถาวร และ 3. ยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่ อย่างไรก็ตาม การเมืองวันนี้พัฒนาไปจากเมื่อ 83 ปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เรายังไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เราอาจจะพึงพอใจกับการเลือกตั้งและพึงพอใจกับการที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ แต่หากนึกถึงพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 7 ที่มีจำนวนมาก เรายังไม่ได้สัมฤทธิ์ตามนั้น อีกทั้งปัจจุบันมีการพูดกันมากเรื่องสิทธิ แต่หน้าที่และความรับผิดชอบยังมีการพูดกันน้อย จึงทำให้เกิดปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะทำอย่างไรให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ นายวิษณุ กล่าวว่า คำว่า สมบูรณ์ไม่ได้หมายถึงประชาธิปไตยตามแบบมาตรฐานสากลของนานาชาติ แต่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์คือ ประชาชนตระหนักในหน้าที่ ตื่นตัว มีความรับผิดชอบ ที่สำคัญคือ วัฒนธรรมทางการเมือง ตนถือว่าเรื่องนี้สำคัญ ทำไมเราเอาต้นไม้ที่มาจากญี่ปุ่น หรือ ยุโรป มาปลูกที่เมืองไทยแล้วไม่ค่อยจะงาม เป็นเพราะดิน น้ำ อากาศ และปุ๋ยมันผิดกัน ตนเชื่อว่า การเมืองในระบอบใดก็ตามเอาไปใช้ในที่ใดที่หนึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะได้ผลเหมือนกับที่ต้นตอ เพราะมันขึ้นอยู่ที่สิ่งแวดล้อม ดังนั้น เมื่อพูดถึงการเมืองต้องพูดถึงวัฒนธรรมการเมือง ตรงนี้สำคัญที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยมั่นคง แต่ตราบใดที่เรายังขึ้นรถเมล์ไม่เข้าแถว ยังไม่รักษาเวลา ยังทุบตู้โทรศัพท์เพราะคิดว่าของหลวงไม่ใช่ของเรา ยากที่จะเป็นประชาธิปไตย จึงต้องปลูกสิ่งเหล่านี้

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีที่เกรงว่าสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่จะตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะซ้ำซ้อนกับสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศที่จะเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ไม่ซ้ำซ้อน เพียงแต่ชื่อตั้งใจให้ซ้ำกัน เป็นความตั้งใจเอาชื่อมาใช้ก่อน เนื่องจากเห็นว่ามีภารกิจเดียวกัน คือ การปฏิรูป แต่ตัวบุคคลไม่ควรซ้ำกัน ไม่เห็นด้วยที่จะให้เอาสมาชิก สปช. ส่วนหนึ่งและ สนช. ส่วนหนึ่ง มาเป็นเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรมนูญฉบับใหม่ จะเหมือนเป็นการให้รางวัล มันไม่ถูก ต้องคัดกัน ซึ่งทราบว่าเบื้องต้น กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่เป็นคนแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น