“พระพุทธะอิสระ” ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ค้านมาตรา 157 ทูลเกล้าฯ ถวายกฎหมายสองรอบ ถ้าไม่ลงปรมาภิไธย นายกฯ ประกาศใช้ได้เลย ชี้ไม่มีอะไรรับรองว่านักการเมืองจะลิดรอนพระราชอำนาจ หวั่นซ้ำรอยสมัยรัชกาลที่ 7 ที่ต้องสละราชสมบัติ “บวรศักดิ์” แจงเขียนมาตั้งแต่ 2492 อ้างและตามพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 7 ย้ำใช้ พ.ร.บ. เพื่อมาลดพระราชอำนาจทำไม่ได้
วันนี้ (25 เม.ย.) ที่รัฐสภา พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ยื่นหนังสือขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยพระพุทธะอิสระกล่าวว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 157 ที่มีสาระสำคัญว่าให้สภายื่นร่างกฎหมายให้พระมหากษัตริย์ ลงพระปรมาภิไธย ภายใน 90 วัน หากไม่มีการลงปรมาภิไธย ให้รัฐสภาหารือกัน หากมีมติยืนยันตามเดิมด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา ให้นายกรัฐมนตรี นำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้ง แต่ถ้าหากภายใน 30 วัน ยังไม่มีการลงปรมาภิไธย ให้นายกรัฐมนตรีประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวภายใต้พระปรมาภิไธย
ทั้งนี้ ตนมองว่าเป็นการแสดงอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา และนายกรัฐมนตรี ว่ามีอำนาจเหนือฟ้า ผิดไปจากประเพณีการปกครอง แม้จะมีการอธิบายว่ามาตราดังกล่าวเป็นการยึดโยงกับประชาชน แต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนและพระมากษัตริย์ ไม่ใช่อำนาจที่มีมาแต่เดิม เป็นการเปิดช่องให้นักการเมือง ไม่มีอะไรที่จะรับรองได้ว่านักการเมืองจะไม่ใช้อำนาจออกกฎหมายลิดรอนพระราชอำนาจ ดังนั้นจึงของเรียกร้องให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญถอนมาตราดังกล่าว และที่มาในวันนี้เนื่องเป็นตัวแทนประชาชน ที่เป็นห่วงว่าอาจจะเป็นการลดพระราชอำนาจ และเหตุการณ์จะซ้ำรอยในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่สละพระราชสมบัติ เพราะที่ผ่านมามีการครอบงำนักการเมืองในสภาด้วยเงิน จึงเกรงว่าหากมีกลุ่มทุนเข้ามาเพื่อหวังผลประโยชน์จะไม่สามารถยับยั้งได้
ด้านนายบวรศักดิ์กล่าวชี้แจงว่า การเขียนมาตราดังกล่าวไว้นั้นเป็นตามรัฐธรรมนูญที่เขียนมาตั้งแต่ปี 2492 จนถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 และตามพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 7 ตนยืนยันว่าการใช้ พ.ร.บ.เพื่อมาลดพระราชอำนาจไม่สามารถกระทำได้ เพราะพระราชอำนาจบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชัดเจน หากจะลดพระราชอำนาจต้องแก้รัฐธรรมนูญซึ่งทำได้ยาก เพราะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา และต้องทำประชามถามติประชาชนทั้งประเทศ ยืนยันว่ามาตรานี้เป็นการถวายพระราชอำนาจ ให้พระมหากษัตริย์ ยิ่งกว่าระบบของประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ ก็จะรับฟังข้อเสนอดังกล่าวไว้พิจารณา
นอกจากนี้ พระพุทธะอิสระยังกล่าวต่อว่า ตนยังเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างระบบพระพุทธศาสนา อยากให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินและพฤติกรรมของพระมหาเถรสมาคม (มส.) พร้อมกำหนดบทลงโทษต่อผู้ที่เข้ามาบวชเพื่อแสดงหาผลประโยชน์ในวงการสงฆ์ให้รุนแรงมากขึ้น และออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรคณะสงฆ์ให้มีวาระอายุในการทำหน้าที่เหมือนนักการเมือง ไม่ใช่ตายคาตายคาตำแหน่งและกระจุกรวบอำนาจสงฆ์ เช่น กรณีเจ้าคณะใหญ่หนเหนือก็เป็นคนใน กทม.แทนที่จะเป็นพระภาคเหนือที่รู้ปัญหาในพื้นที่ดีกว่า