xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” รับแก้ร่างรัฐธรรมนูญกว่า 100 มาตรา ปัด 21 กมธ.ถก สปช.ล็อบบี้ผ่านร่างฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ รับแก้เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญกว่า 100 มาตรา ขอให้รอแถลงทางการอีกครั้งหลังพิจารณาเสร็จ ปัด 21 กมธ.เข้าประชุม สปช.ไม่มีล็อบบี้ให้ผ่านกฎหมายเพราะยังไม่ได้ฉบับสมบูรณ์ ด้านสื่อฯ พบเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 10 ประเด็น ทั้งนายกฯ คนนอก-โอเพนลิสต์-อำนาจ กกต.-ยุบ กสม.กับผู้ตรวจฯ-ตัด ม.182 แต่คงสิทธินายกฯ ชงไว้วางใจตัวเองได้ ตัดกลุ่มการเมือง ลดอำนาจ ส.ว.สรรหา เพิ่ม ส.ส.เขตเป็น 300 ลดบัญชีรายชื่อเหลือ 150 ส่วนวันนี้ดูเรื่องปรองดอง กับสภาขับเคลื่อนฯ


วันนี้ (23 มิ.ย.) ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่ามีการปรับปรุงในหลายประเด็นซึ่งอาจทำให้ต้องแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญกว่า 100 มาตรา เนื่องจากแต่ละประเด็นจะครอบคลุมมากกว่า 1 มาตรา เช่น กรณีตัดกลุ่มการเมืองก็ต้องปรับแก้ไขประมาณ 30 มาตราแล้ว โดยขอให้รอการสรุปและแถลงอย่างเป็นทางการจากกรรมาธิการฯอีกครั้ง หลังจากการพิจารณาเรียงรายมาตราเสร็จสิ้นแล้ว โดยในการประชุมภายในของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.บ่ายวันที่ 24 มิ.ย. 58 นี้ กรรมาธิการฯ ที่เป็น สปช.ทั้ง 21 คนจะไปร่วมประชุมด้วย เนื้อหาการพูดคุยไม่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญและไม่มีความจำเป็นต้องล็อบบี้ สปช.เพื่อให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญเนื่องจากยังไม่ได้ร่างสุดท้าย ยังสามารถปรับปรุงแก้ไขได้อีก หากกรรมาธิการฯพิจารณารายมาตราเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมตามเป้าหมาย ต้นเดือนสิงหาคมก็จะชี้แจงต่อผู้ขอแปรญัตติและรับฟังความเห็นซึ่งยังสามารถปรับแก้เพิ่มเติมได้จนถึงร่างสุดท้ายไม่เกินวันที่ 22 สิงหาคม 2558

มีรายงานว่า ความคืบหน้าในการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เป็นรายประเด็น มีความชัดเจนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยกว่า 10 ประเด็น เช่น 1. ประเด็นนายกคนนอกจะเพิ่มเติมว่าต้องเป็นเสียง 2 ใน 3 ทุกกรณี 2. เรื่องโอเพนลิสต์จะไปบรรจุไปบทเฉพาะกาล 3. ให้อำนาจ กกต.จัดการเลือกตั้งเหมือนเดิม 4. ไม่ยุบรวมกรรมการสิทธิมนุษยชนกับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน แต่จะพิจารณาเกี่ยวกับเนื้องานที่มีความซ้ำซ้อนกันอยู่

5. ตัดมาตรา 182 ทิ้ง 6. ปรับปรุงมาตรา 181 ให้นายกฯ ยังคงเสนออภิปรายไว้วางใจตัวเองได้แต่ไม่ตัดสิทธิฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยนั้น 7. ตัดประเด็นกลุ่มการเมือง 8. ให้ ส.ว.มาจากการสรรหาโดยลดอำนาจลง 9. คงระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสม แต่ปรับเปลี่ยนจาก ส.ส.เขตจาก 250 เป็น 300 ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 200 เหลือ 150 และ 10. ภาค 4 การปฏิรูปและการปรองดอง ซึ่งจะมีการพิจารณาวันนี้ว่า จะทำตามข้อเสนอของ ครม.ที่ให้ยุบรวมกรรมการปรองดองเข้ากับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และบัญญัติเฉพาะการปฏิรูปที่จำเป็นไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนอื่นไปไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแทนหรือไม่ รวมทั้งสถานะของสภาขับเคลื่อนฯ ที่มีการตั้งขึ้นใหม่ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ว่าจะซ้ำซ้อนกับสภาขับเคลื่อนฯ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และควรกำหนดบทบาทหน้าที่อย่างไรเพื่อให้เกิดความชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น