xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ กทม.คุมเข้ม “เมอร์ส” เน้นกลุ่มเสี่ยง-ให้ความรู้ผู้ไปร่วมพิธีฮัจญ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทม.ออกมาตรการคุม “ไวรัสเมอร์ส” เทียบเท่าอีโบลา สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือเชิงรุก กำชับสถานพยาบาลในสังกัดวางมาตรการรัดกุม เน้นผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง หรือสัมผัสผู้ป่วย เร่งให้ข้อมูลคน กทม.กว่า 1 พันคนที่จะเดินทางไปร่วมพิธีฮัจญ์มากกว่า 30 วัน พร้อมจับตากลุ่มแรงงานไทย นักเรียนไทยในต่างประเทศ-นักท่องเที่ยวที่เข้า กทม.

วันนี้ (22 มิ.ย.) น.ส.ตรีดาว อภัยวงศ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน โดยสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้รายงานสถานการณ์การระบาดของโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) และการเตรียมความพร้อมของกรุงเทพมหานคร

โดยกรุงเทพมหานครได้แจ้งเตือนให้สถานพยาบาลทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการ Influenza like illness (ILI) และมีประวัติการเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง หรือสัมผัสผู้ป่วยตามแนวทางการเฝ้าระวังโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) รวมทั้งจัดทำแนวทางการวินิจฉัย การรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรค ดำเนินการจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ชุดสำหรับป้องกันตนเอง และให้โรงพยาบาลสำนักการแพทย์เตรียมพร้อมห้องแยกสำหรับรองรับผู้ป่วยฯ

“สำหรับการคัดกรองผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง ณ สนามบินสุวรรณภูมิ จะรับผิดชอบโดยด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดำเนินการลักษณะเดียวกับกรณีอีโบลา”

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ปีที่ผ่านมาเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ 1,000 กว่าคน กรุงเทพมหานครจึงได้รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องการป้องกันตนเองสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปพื้นที่ที่มีการระบาด โดยแจกแผ่นพับให้ความรู้แก่ผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 58 ซึ่งเป็นวันตรวจสุขภาพก่อนการเดินทาง รวมทั้งได้มีการแบ่งกลุ่มผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีโรคประจำตัวซึ่งมีความเสี่ยงมาก กลุ่มที่มีโรคบ้าง และกลุ่มที่ร่างกายแข็งแรง เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจติดตาม

นอกจากนี้ ได้กำชับให้สถานพยาบาลทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้มีมาตรการการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการ Influenza like illness (ILI) ที่มีประวัติการเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงคือคนที่ใกล้ชิดผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร รวมทั้งการคัดกรองผู้ป่วยในชุมชนด้วย โดยจากนี้ไปจะเริ่มจับตาในกลุ่มของแรงงานไทย นักเรียนที่ต้องเดินทางไปประเทศเสี่ยง รวมทั้งนักท่องเที่ยวซึ่งมาจากประเทศเสี่ยง และหากมีกรณีที่สงสัยจะมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) 71 ทีมในการดำเนินการติดตามผู้ป่วยจนพ้นระยะ 14 วันที่ต้องเฝ้าระวัง

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการดูแลเฝ้าระวังสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปแสวงบุญ ณ ประเทศตะวันออกกลางต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 30 วัน อย่างไรก็ตาม เป็นห่วงผู้ป่วยที่ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อแล้วเดินทางไปท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จะทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ จึงได้มอบหมายให้สำนักอนามัยประสานให้ความรู้เกี่ยวกับโรค การป้องกัน และการสังเกตอาการของผู้ป่วยแก่สถานประกอบการ ผู้ประกอบการแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้รับทราบและเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลบุคลากร และสถานประกอบการของตนเอง นอกจากนี้ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์โรค และรายงานต่อคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น