xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวดีปฏิรูป ยกฐานะ ป.ป.ท.หน่วยงานกึ่งอิสระลุย ขรก.โกง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ข่าวการแถลงของ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 16 มิถุนายน เกี่ยวกับเรื่องที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการยกระดับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นองค์อิสระในระดับใกล้เคียงกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เกิดขึ้นในภาครัฐมากยิ่งขึ้น และเป็นไปตามแนวทางในประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 69/2557 โดยได้กำหนดวิธีการสรรหาคณะกรรมการ ป.ป.ท.จากเดิมที่สรรหาบุคคลที่เหมาะสม 6 รายให้วุฒิสภาเป็นผู้พิจารณา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นให้ ครม., ป.ป.ช. และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เสนอบุคคลที่เหมาะสมเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ท.ที่ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดองค์กรละ 5 ราย รวมเป็น 15 ราย ก่อนส่งชื่อให้คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกให้เหลือเพียง 6 ราย เพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ท.มีวาระการทำงาน 7 ปี

ขณะเดียวกันยังกำหนดให้ ป.ป.ท.มีระยะเวลาพิจารณาเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือนหลังจากรับการกล่าวหา และมีอำนาจฟ้องคดีได้เอง หากพนักงานอัยการเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ได้รับสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ท. และสำนักงาน ป.ป.ท.ให้รวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงสถานะของสำนักงาน ป.ป.ท.ให้ส่วนราชการระดับกรมที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อให้การทำงานของสำนักงานเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงาน ป.ป.ท.ตามโครงสร้างใหม่นั้น ต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางกฎหมาย และสอบเนติบัณฑิตได้แล้ว โดยต้องมีประสบการณ์ในการสอบสวนข้อเท็จจริงและวินิจฉัยคดีไม่น้อยกว่า 1 ปี ส่วนกรณีผู้สำเร็จการศึกษาระดับต่ำลงมานั้น ต้องรับราชการในสำนักงาน ป.ป.ท.มาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี สำหรับผู้ที่ถูกกล่าวหานั้น ร่างกฎหมายใหม่ได้กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ที่ถูกกล่าวหาต้องใช้มาตรการทางวินัย ในส่วนของการพักราชการหรือย้ายออกจากพื้นที่เดิม ในระหว่างที่ถูกสอบสวนด้วย

นั่นเป็นหลักการและรายละเอียดของพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่บอกว่านี่คือข่าวดีเล็กๆ ของการปฏิรูปบ้านเมือง เป็นเพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีความเอาจริงเอาจังในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยเฉพาะการทุจริตในภาครัฐ ในหน่วยงานของราชการที่เป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองเกิดความล้าหลัง ด้อยพัฒนาในหลายเรื่อง

แม้ว่าที่ผ่านมาในช่วงไม่กี่เดือนจะมีการตรวจสอบ สอบสวนจนพบข้าราชการระดับสูงลงมาหลายรายที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตจนมีการส่งรายชื่อข้าราชการประเภทดังกล่าวให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้พิจารณาลงโทษตามขั้นตอนนั่นคือส่งต่อไปให้หน่วยงานต้นสังกัดจัดการลงโทษ ซึ่งจากรายชื่อรอบแรก และรอบสองรวมแล้วเกือบสองร้อยคน มีทั้งระดับปลัดกระทรวง ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี รวมทั้งข้าราชการระดับสูงรายอื่นที่อยู่ในข่ายต้องสอบสวน โดยเวลานี้หลายรายกำลังถูกสั่งพักราชการ พ้นจากตำแหน่งเดิมไปก่อนเพื่อรอการสอบสวน

การสอบสวนดังกล่าวนอกเหนือจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำสูงสุดที่ให้ไฟเขียวแล้ว ยังต้องให้เครดิตกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และ ประยงค์ ปรียาจิตต์ ในฐานะเลขานุการศูนย์ดังกล่าวและเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท.ในการทำงานผลักดันในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

การขยายผลการดำเนินการในการปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ด้วยการเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อยกฐานะหน่วยงาน ป.ป.ท.ให้มีศักยภาพในการปราบปรามทุจริตให่เข้มข้นรวดเร็วมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีประสบการณ์จากการตรวจสอบการทุจริตข้าราชการในช่วงที่ผ่านมาที่มีอุปสรรคไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ที่สำคัญลักษณะมักออกมาเป็นแบบ “ปกปิดช่วยเหลือกันเอง” ทำให้เกิดความล้มเหลว ไม่ได้ผลจริงจัง

การยกฐานะสำนักงาน ป.ป.ท.ให้เป็นหน่วยงานกึ่งอิสระจากเดิมที่เป็นหน่วยงานระดับกรม ขึ้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้มาขึ้นกับนายกรัฐมนตรีทำให้การทำงานมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ มีศักยภาพใกล้เคียงกับ ป.ป.ช.มากขึ้น การคัดเลือกกรรมการทั้ง 6 คนมาจากคณะกรรมการสรรหาคัดเลือกมาจากตัวแทนของ ครม., ป.ป.ช. และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) พิจารณาจากหน่วยงานละ 5 คน แล้วคัดเลือกให้เหลือ 6 คนดังกล่าว โดยมีวาระการทำงาน 7 ปี โดยมีคุณสมบัติสูงลิ่วตามที่ปรากฏข้างต้น นอกจากนี้ ป.ป.ท.ยังมีอำนาจฟ้องร้องได้เอง หากเสนอไปให้อัยการสูงสุดแล้วเกินเวลา 6 เดือน

ก็ต้องเรียกว่ามีความหวังและน่าชื่นชมกับการผลักดันในการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะหากมีการผ่านออกมาเป็นพระราชบัญญัติบังคับใช้ ก็ถือว่าเป็นเปลี่ยนแปลง ป.ป.ท.อย่างขนานใหญ่ เชื่อว่าจะทำให้การปราบปราบทุจริตในภาครัฐได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะการทุจริตของข้าราชการคือปัญหาที่หมักหมมในบ้านเมือง และนับวันยิ่งขยายวงกว้างออกไปทุกที ดังนั้นหากบอกว่าอุปสรรคของการปฏิรูปก็คือการทุจริตนี่แหละ ถ้าทำให้ลดลงให้เหลือน้อยที่สุดปัญหาอื่นก็อาจถือเป็นเรื่องเล็ก!!
กำลังโหลดความคิดเห็น