ที่ประชุม กกต. พิจารณาเตรียมความพร้อมทำประชามติ ตั้งคณะกรรมการ 4 คณะ ร่างระเบียบ ประสานจัดพิมพ์ บริการจัดการออกเสียง และจัดทำงบประมาณ คาดต้องพิมพ์บัตร 150 ล้านใบ “สมชัย” แจงยิบ หากตั้ง 3 คำถาม รายจ่ายค่าพิมพ์บัตร - หีบบัตร เพิ่ม 3 เท่า แต่งบประชามติยังไม่นิ่ง เตรียมร่างประกาศเรื่องประชามติ ชง สนช. กลางเดือนหน้า
วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาคารศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวภายหลังประชุม กกต. ที่มีการพิจารณาเตรียมความพร้อมการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ตัวเลขค่าใช้จ่ายในการจัดออกเสียงประชามติยังไม่นิ่ง เนื่องจากรูปแบบการทำประชามติเปลี่ยนไป เช่น จะมีบัตร 3 ใบ หีบ 3 หีบ ต้องมีการนับคะแนนแยกจากกัน ดังนั้น กกต. ต้องนำรายละเอียดดังกล่าวมาคำนวณค่าใช้จ่ายใหม่ เช่น ค่าพิมพ์บัตร จะเพิ่มจากเดิม 50 ล้านใบ เป็น 150 ล้านใบ ใช้เงินเพิ่มประมาณ 100 ล้านบาท ค่าหีบจากเดิมใช้ประมาณ 100,000 หีบ เพิ่มเป็น 300,000 หีบ ใช้เงินเพิ่มประมาณ 20 ล้านบาท กรรมการประจำหน่วย จากเดิม 7 คน ต้องเพิ่มเป็น 11 คน เท่ากับการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องมีการคำนวณค่าใช้จ่ายด้านอบรมและเบี้ยเลี้ยงปฏิบัติงานใหม่ ดังนั้น จึงให้ทางสำนักงานไปดำเนินการคำนวณตัวเลขที่ต้องใช้จ่ายจริงมาให้ กกต. พิจารณา
ส่วนการจัดพิมพ์เอกสารร่างรัฐธรรมนูญ และการจัดส่ง มีข้อยุติว่า จะจัดส่งให้แก่ครัวเรือนที่มีผู้อยู่อาศัยจริงจำนวนประมาณ 19 ล้านครัวเรือน โดยให้มีการประมาณการค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์และจัดส่ง รวมถึงการดำเนินการในด้านการบริหารจัดการให้เป็นไปอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นงบประมาณอีกก่อนหนึ่งที่แยกจากงบประมาณก้อนแรก สำหรับ กกต. จะต้องมีการออกประกาศกำหนดเกี่ยวกับรายละเอียดการลงประชามติ โดยผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นไปตามรายละเอียดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2557 ในการนี้ ทาง กกต. ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการยกร่างประกาศต่างๆ และจะนำเสนอต่อ กกต. เป็นร่างแรกในสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ โดยคาดว่าจะนำเสนอ สนช. ได้ประมาณกลางเดือนหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการต่างๆ ก่อนที่ สปช. จะมีมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในต้นเดือน ก.ย. 2558 นี้
อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดของประกาศกำหนด ที่ กกต. จะนำเสนอ สนช. จะตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์การทำประชามติให้โปร่งใส เป็นที่ยอมรับของประชาชน เปิดโอกาสให้เกิดการแสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม ตลอดจนมาตรการที่จะเป็นการป้องกันการใช้โอกาสประชามติ เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เป็นผลต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งหาก สนช. เห็นด้วย ก็จะนำไปใช้ในการดำเนินการต่อไป
อีกด้านหนึ่ง รายงานข่าวจากสำนักงาน กกต. แจ้งว่า ในการประชุม กกต. วันนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาการเตรียมความพร้อมการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดย นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. ได้รายงานผลการหารือระหว่าง ผู้แทนสำนักงาน กกต. กับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต่อการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งทางสำนักงานได้ชี้แจงว่าทางสำนักงานฯ กำลังยกร่างประกาศและระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และเบื้องต้น หากจะมีการออกเสียงประชามติจะต้องมีการจัดพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติราว 50 ล้านฉบับ ต่อ 1 คำถาม หากจะถามความเห็นประชาชน 3 คำถาม จะต้องมีพิมพ์บัตรทั้งหมดราว 150 ล้านฉบับ ซึ่งการจัดพิมพ์เมื่อไปรวมกับเอกสารเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและการจัดส่ง ค่าบริหารจัดการ คาดว่า งบประมาณในการจัดทำประชามติทั้งหมดน่าจะเกิน 3,000 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถที่จะกำหนดตัวเลขที่ชัดเจนได้
ขณะที่กรรมการก็ได้สอบถามถึงความชัดเจนว่าการจัดออกเสียงประชามติครั้งนี้ จะสามารถจัดให้มีเวทีในการดีเบต ระหว่างฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านได้หรือไม่ สามารถจัดพิมพ์เอกสารแผ่นพับในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนในการทำประชามติให้กับประชาชน และการโฆษณารณรงค์เรื่องการออกเสียงประชามติผ่านทางสื่อต่างๆ สิ่งเหล่านี้ใครที่จะเป็นผู้กำหนดและดำเนินการ ที่ประชุมจึงมีมติให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้น 4 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการยกร่างประกาศและระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยขอให้เสนอร่างประกาศฯ ฉบับแรกต่อที่ประชุม กกต. ในวันที่ 29 มิ.ย. นี้
2. คณะกรรมการประสานงานการจัดพิมพ์และส่งเอกสารร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะไปพิจารณาว่าต้องมีการจัดพิมพ์จำนวนเท่าใด และมีวิธีการจัดส่งอย่างไรให้ทัน และทั่วถึงกับประชาชน 20 ล้านครัวเรือน 3. คณะกรรมการประสานงานการออกเสียงประชามติ ซึ่งจะดูในเรื่องการบริหารจัดการการออกเสียง และ 4. คณะกรรมการจัดทำงบประมาณ ที่จะไปคำนวณตัวเลขงบประมาณที่จะใช้ในการบริหารจัดการในการออกเสียงประชามติทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กกต. ยังมีวาระเรื่อง ร่างระเบียบการสรรหา กกต. จังหวัด ที่จะนำมาใช้ในการสรรหา กกต. จังหวัดที่จะหมดวาระลงในเดือน ต.ค. นี้ประมาณ 60 จังหวัด แต่ที่ประชุมไม่ได้พิจารณา เนื่องจากต้องการรอความชัดเจนจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะมีกระแสข่าวว่า ในเร็วๆ นี้ คสช. อาจจะมีการประกาศให้ยกเลิก กกต. จังหวัดทั้งหมด ส่วนหนึ่งเนื่องจากขณะนี้ไม่มีการเลือกตั้ง และที่ผ่านมา ก็ถูกร้องเรียนเรื่องความเป็นกลาง ดังนั้น การคงไว้จึงไม่คุ้มกับงบประมาณ ที่ต้องเสียงไปกับค่าตอบแทน กกต. จังหวัดปีละประมาณ 150 ล้านบาท