xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” แนะประชามติเรื่องที่ถกเถียง ยึดเสียงข้างมาก ชงจดทะเบียนกลุ่มรณรงค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง(แฟ้มภาพ)
“สมชัย” แนะสังคมสื่อสาร สปช.-สนช.ตั้งคำถามประชามติอย่าตามใจตัวเอง-เอื้อประโยชน์ ควรตั้งเรื่องที่ถกเถียงกัน เล็งเสนอให้องค์กร-พรรคที่รณรงค์ประชามติ ต้องจดทะเบียน กกต. และประกาศให้ชัดหนุน-ไม่หนุน รธน. ชี้บิดเบือนทำนอกกรอบต้องรับผิดชอบ พร้อมทำเว็บ ใบปลิว ดีเบต ให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหา ย้ำประชามติต้องยึดเสียงข้างมาก ไม่ยึดผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งแบบเดิม คาดงบพุ่งเกิน 3 พันล้าน

วันนี้ (12 มิ.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยายพิเศษ “ความสำคัญของการเลือกตั้งกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย” ให้แก่ผู้รับการศึกษาหลักสูตร พตส.รุ่นที่ 6 ของสำนักงาน กกต. โดยเกี่ยวกับการทำประชามติว่า กรณีที่กำหนดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งคำถามการทำประชามติได้สภาฯ ละ 1 คำถาม สังคมต้องช่วยกันสื่อสารไปยังทั้ง 2 สภาว่า การตั้งคำถามต้องไม่ใช่เพื่อตามใจตัวเองหรือประโยชน์ของคนกลุ่มใด แต่ควรเป็นคำถามย่อยในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ เช่น เรื่องที่มานายกฯ หรือที่มา ส.ว. เพื่อที่หลังการทำประชามติแล้วคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะได้นำไปปรับแก้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่ท้ายที่สุดไม่ว่าคำถามจะเป็นอย่างไร หากได้รับความเห็นชอบจาก สนช., สปช. และ ครม. แล้วส่งมายัง กกต. ทาง กกต.จะต้องดำเนินการจัดทำประชามติ โดยบัตรประชามติก็แยกตามจำนวนคำถาม

ทั้งนี้ ในส่วนของ กกต.นั้นตนจะเสนอต่อที่ประชุมว่าการรณรงค์ทำประชามติควรเปิดให้องค์กรที่ประสงค์จะรณรงค์การออกเสียงประชามติ ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและเห็นต่าง ต้องมาจดทะเบียนต่อ กกต. โดยจะเปิดให้จดทะเบียน 5-7 วัน ซึ่งจะต้องประกาศตัวให้ชัดเจนว่าจะอยู่ฝ่ายเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ และให้เสนอโครงการการจัดกิจกรรมรณรงค์ โดย กกต.ก็จะนำมากลั่นกรองรูปแบบแผนงานว่าทำได้หรือไม่ได้ เป็นการเคลื่อนไหวให้ความรู้ หรือเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมือง

รวมทั้งจะได้มีการจัดทำเว็บไซต์ แจกใบปลิว และจัดเวลาให้ทั้งสองฝ่ายได้ดีเบตกันอย่างเท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาของสาระร่างรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมาพบว่าแม้จะมีการแจกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนนำไปศึกษา แต่ก็มีการอ่านรัฐธรรมนูญเพียงแค่เล็กน้อย ดังนั้นการรณรงค์เช่นนี้จะไม่ทำให้การลงประชามติเป็นการสูญเปล่า และจำกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มอื่นๆ ได้ เพราะกลุ่มใดที่ไม่ได้มาจดแจ้งกับ กกต.ก็จะต้องรับผิดชอบกลุ่มตัวเอง ขณะเดียวกันพรรคการเมือง ที่ต้องการรณรงค์ ก็สามารถรวมเป็นกลุ่มมาขอจดทะเบียน และดำเนินการตามกรอบที่จะวางไว้ได้ แต่ถ้าหากการเคลื่อนไหวมีการบิดเบือน หรือทำนอกกรอบที่วางไว้ก็ต้องรับผิดชอบเองเช่นกันอย่างไรก็ตามเห็นว่าการรณรงค์ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ คสช.ผ่อนคลายประกาศห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะถ้าหากปฎิบัติอยู่ในกรอบกติกา ก็ไม่จำเป็นจะต้องยกเลิกอะไร รวมทั้งปัจจุบันก็ได้มีการจัดเวทีวิชาการได้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การทำประชามติต้องยึดเสียงข้างมากเป็นหลัก โดยจะไม่ยึดเหมือนกฎหมายเดิมที่ต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะถ้าหากผู้มาใช้สิทธิ์ไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็หมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ดังนั้นการใช้เสียงข้างมากก็เป็นการป้องกัน ไม่ให้การทำประชามติสูญเปล่า และเชื่อว่างบประมาณในการทำประมติในครั้งนี้จะเกินกว่า 3 พันล้านบาท เพราะเพียงแค่ค่างจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูย และการจัดส่งประมาณ 20 ล้านเล่ม ก็ใช้เงินไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาทแล้ว อย่างไรก็ตาม กกต.ได้กำชับหน่วยงานปฏิบัติให้มีการใช้งบประมาณอย่างประหยัดและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการบรรยายได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมได้แสดงความเห็น นายประดิษฐ์ ยมานันท์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ได้ชี้แจงเกี่ยวกับจำนวนครัวเรือนว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีประมาณ 24 ล้านครัวเรือน แต่ในจำนวนนั้นมีบ้านเลขที่ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ 7 ล้านครัวเรือน ดังนั้นกรมการปกครองและ กกต.จึงต้องมาหารือกัน เพื่อหาจำนวนครัวเรือนที่แม้จริง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น