รัฐบาลจี้ทุกหน่วยงานขันนอตป้องน้ำท่วมกรุง รับถ้าตกหนักก็ท่วมเหมือนเดิม แจง กทม. อุปสรรคเพียบ ทำแก้ปัญหาไม่ทัน สั่ง ตำรวจ - ทหาร เป็นกำลังเสริมช่วงวิกฤต ด้าน รมว.เกษตรฯ เรียกถกผู้ว่าฯ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาพรุ่งนี้ แก้วิกฤตภัยแล้ง วอนประชาชนเลื่อนปลูกข้าวนาปีจนถึง ก.ค. นี้
วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า จากกรณีสถานการณ์ฝนตกหนักจนน้ำท่วมในหลายพื้นที่ใน กทม. เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานต่างๆ นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นถือเป็นการให้บทเรียนกับทุกหน่วยงาน และมั่นใจว่าทุกหน่วยงานที่ประสบปัญหาจะไปหาวิธีการแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ในส่วนของรัฐบาลได้มอบหมายทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโดยกระทรวงมหาดไทย ไปวางแผนบูรณาการการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง และการจราจรที่ติดขัดใน กทม. โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย รายงานในที่ประชุมว่า ในพื้นที่ กทม. ถ้าฝนตกประมาณ 60 - 70 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง จะมีน้ำท่วมขังบนพื้นที่ผิวจราจรประมาณ 10 เซนติเมตร และใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จะระบายไปได้ แต่ถ้าฝนตกหนักปริมาณมากกว่านั้น หรือมากกว่า 140 - 160 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เหมือนช่วงที่ผ่านมาจะแก้ไขปัญหาลำบาก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเชิญประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องหามาตรการที่ให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด โดยแนวทางหลักที่ กทม. ดำเนินการอยู่ขณะนี้ คือ เมื่อมีฝนตกจะระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านพื้นที่แก้มลิงใช้ระบบท่อระบายน้ำตามปกติ ขณะที่พื้นที่ที่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยา จะใช้อุโมงค์ยักษ์ และปั๊มน้ำช่วย
“ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ท่อระบายน้ำเกิดการอุดตัน กทม. จึงเร่งรัดดำเนินการให้เขตต่างๆ เร่งทำความสะอาด บำรุงท่อระบายน้ำไม่ให้มีเศษขยะอุดตัน ส่วนอุโมงค์ยักษ์เมื่อไปตรวจสอบ พบว่า ไม่มีขยะอยู่ด้านหน้าอุโมงค์ แต่เมื่อฝนตกและน้ำไหลมา ขยะจะมาพร้อมน้ำ มีทั้งที่นอน และโซฟาขนาดใหญ่ นั่นหมายความว่าพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่เขตคูคลองระบายน้ำ ไม่มีการกวดขัดประชาชน หรือประชาชนไม่ให้ความสำคัญกับการทิ้งขยะ จนเป็นเหตุให้เกิดการอุดตัน ดังนั้น แต่ละเขตจึงต้องไปทำความเข้าใจกับประชาชน และกำหนดแนวทางป้องกันไม่ให้ทิ้งขยะเหล่านี้” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า อีกส่วนหนึ่งคือ สถานีสูบน้ำแต่ละแห่งทำงานไม่ได้ สาเหตุมาจากการชำรุดของสถานีในระบบภายใน และมีกิ่งไม้ไปทับสายไฟ ซึ่งทาง กทม. และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รับหน้าที่ไปแก้ไขแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องชี้แจงประชาชนว่า ถ้าปริมาณน้ำฝนที่ตกเกินกว่า 100 มิลลิเมตร ต่อชั่วโมงต้องมีผลกระทบแน่นอนในเรื่องของการจราจร ซึ่งในส่วนนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ระบุว่าในพื้นที่กทม.มีแยกที่ตัดก้นกว่า 400 แยก จะให้น้ำหนักการดูแลในพื้นที่ที่มีการจราจรมากที่สุดก่อน ซึ่งหากกำลังเจ้าหน้าที่ไม่พอจะมีการประสานทั้งจากทหาร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) และนักศึกษาอาชีวะมาร่วมดูแลในเรื่องของรถเสียและการเข็นรถ นอกจากนี้ กทม. จะมีเรดาร์ตรวจฝนในพื้นที่ กทม. ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลจะกระจายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ โดยพื้นที่ใดที่เรดาร์ตรวจจับได้ว่าจะมีปริมาณน้ำฝนมาก จะมีการกำหนดเส้นทางเลี่ยงไม่ให้รถเข้าไปในพื้นที่ พร้อมส่งกำลังเข้าไปดูแลในพื้นที่
พล.ต.สรรเสริญ ยังกล่าวถึงการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหลายตำแหน่ง อาทิ แต่งตั้ง นายวันชัย คงเกษม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ กระทรวงมหาดไทย แต่งตั้ง นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แต่งตั้ง นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง และให้ นางปาริชาต คชรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็น อธิบดีกรมการบินพลเรือน แทน นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นายชาติชาย สุทธิกลม และ นายอมรวิชช์ นาครทรรพ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี
ด้าน นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งในขณะนี้ ว่า ปัญหาหลักอยู่ที่บริเวณภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งภาคกลางมีหลายเขื่อนที่จะต้องบริหารจัดการ แต่เดิมเราประมาณการ ว่า ฝนจะตกตามฤดูกาล แต่ปรากฏว่าฝนไม่ได้ตกตามที่คาดไว้ โดยได้มีการสำรวจพบว่า มีการปลูกข้าวไปแล้ว 3.4 ล้านไร่ ซึ่งยังบริหารน้ำในเขื่อนได้ แต่ต้องใช้อย่างประหยัด โดยตนได้ให้เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงไปตรวจสอบพื้นที่ 3 ล้านไร่ที่เหลือ ว่า มีการปลูกข้าวหรือไม่ เพราะทางกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ประมาณเดือน ก.ค. ฝนจะมา และเราก็บอกกับประชาชนว่าอยากให้เลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไปจนถึงเดือน ก.ค. ทั้งนี้ ในวันที่ 17 มิ.ย. นี้ ตนจะหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อดูให้ชัดเจนว่าจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งเรื่องการทำความเข้าใจกับประชนเป็นกุญแจความสำเร็จ เพราะน้ำที่ใช้ได้ขณะนี้ โดยเฉลี่ยเหลือประมาณ 40 วัน แต่หากฝนตกลงมาก็สามารถใช้ได้ออกไปอีก
นายปีติพงศ์ กล่าวว่า สำหรับการกรมชลประทานของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะแบ่งเป็น 2 ตอน คือเจ้าพระยาตอนบน ที่จะต้องให้เขาทำนาเร็วหน่อย เนื่องจากลุ่มน้ำบางลุ่มน้ำไม่มีโครงสร้างพื้นฐานอะไรเลย เช่น แม่น้ำยม หากช่วงเดือน ก.ค. ฝนตกลงมาเร็วก็จะทำให้น้ำท่วม จะทำให้เสียหายอย่างที่เป็นมาเกือบทุกปี แต่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างมีเขื่อนอยู่หลายเขื่อน แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปก็จำเป็นต้องจ่ายน้ำในลักษณะที่ประหยัดมากยิ่งขึ้น
เมื่อถามว่า ทำฝนเทียมได้หรือไม่ นายปีติพงศ์ กล่าวว่า ฝนเทียมเราพยายามทำทุกแห่ง แต่ต้องทราบว่าความชื้นไม่พอ ได้ผลไม่ตรงตามที่เราอยากให้เป็น เมื่อถามว่า ปริมาณน้ำที่ลดลงส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง จะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร นายปีติพงศ์ กล่าวว่า เราเป็นห่วงอยู่ แต่ยังไม่ได้เข้าไปดูให้ชัดเจนว่า จะแก้ไขอย่างไร ซึ่งรัฐบาลก็เตรียมการเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เหมาะสมที่สุด คิดเอาเองอย่างเดียวก็ไม่ตอบสนองปัญหา โดยในสัปดาห์นี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่บอกกับประชาชนบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขอให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะบางแห่งมีเรื่องพอเขื่อนปล่อยน้ำก็สูบไปใช้ก่อนทำให้คนที่อยู่ท้ายเขื่อนไม่มีน้ำใช้ทำให้เกิดปัญหา