“สรรเสริญ” เผยนายกฯ วางเป้าหมายพัฒนาระบบการศึกษาไทย เป็นเครื่องมือในการสร้างชาติ สร้างประชากรมีคุณภาพ ปรับระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ สพฐ.ดูแล อยากเห็นเด็กไทยลดกวดวิชา เลิกเรียนแบบท่องจำ เน้นส่งเสริม ความฉลาดทางอารมณ์ควบคู่เชาวน์ปัญญา
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีเป้าหมายและนโยบายที่จะพัฒนาระบบการศึกษาไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้การศึกษาเป็นเครื่องมือสร้างประชากรที่มีคุณภาพ เป็นเครื่องมือสร้างชาติและพัฒนาประเทศไทยให้แข่งขันกับประชาคมโลกได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน
“ท่านนายกฯ ต้องการเห็นรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาไทยโดยเร็วเท่าที่สามารถเป็นไปได้ โดยอยากให้ระบบการศึกษาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ควบคู่กับความฉลาดทางเชาว์ปัญญา ไม่ควรเน้นการศึกษาที่มุ่งเฉพาะการสอบวัดผล ทำให้เด็กต้องใช้เวลาส่วนใหญ่กับการเรียนกวดวิชา จนขาดโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองด้านอื่น ส่งผลให้ขาดความเข้าใจตนเอง ขาดความเข้าใจผู้อื่น และสังคม ซึ่งในที่สุดเราอาจจะได้เด็กที่สอบเก่ง แต่ไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่น และขาดจิตสาธารณะที่จะเห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ”
โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและถือเป็นความเร่งด่วนในการปรับระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นผู้กำกับดูแล เนื่องจากงานของ สพฐ.จะมีผลโดยตรงต่อนักเรียนทั้งประเทศหลายล้านคน และส่งผลต่ออนาคตของชาติ
“ท่านนายกรัฐมนตรีกำชับให้รีบดำเนินการเพื่อจะให้เกิดการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นช่วงชั้นการวางรากฐานของการศึกษาในระดับชั้นที่สูงขึ้นต่อไป”
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2558-2563 ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก คือ 1) ด้านการปฏิรูปการเรียนการสอน 2) ปฏิรูปการพัฒนาวิชาชีพ 3) ปฏิรูประบบบริหารจัดการ
สำหรับยุทธศาสตร์เร่งด่วนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งทำภายในวันที่ 29 มีนาคม 2559 คือ 1) นักเรียนตั้งแต่ชั้นป 1 อ่านออกเขียนได้ โดยการสอนแจกลูกสะกดคำ และการจัดทำสื่อนวัตกรรมการเรียนการสอบ 2) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามทักษะอาชีพโดยเฉพาะในโรงเรียนขยายโอกาส และจัดการเรียนการสอนทักษะอาชีพแบบเต็มระบบในโรงเรียนเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัด 3) การพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ 4) การผลิตและ พัฒนาครู 5) การยกระดับการศึกษาทางไกล และ 6) พัฒนาคุณลักษณะผู้เรียน