xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” ปัดล็อบบี้ให้ชาวบ้านหนุนรัฐธรรมนูญใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเปิดสัมมนาการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ยันฉบับนี้หวังแก้ปัญหา สร้างพรรคที่ใสสะอาด ทำคนไทยพึ่งพาตนเองได้ ปัดล็อบบี้ให้ชาวบ้านหนุน

วันนี้ (6 มิ.ย.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวเปิดการสัมมนาการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่า วันนี้เป็นการนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกมานำเสนอให้ประชาชนรับทราบในหลักการและรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำร่างสุดท้าย ซึ่งความคิดเห็นที่เสนอเข้ามาคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จำเป็นจะต้องพิจารณา เช่น พรรคการเมือง การยกเลิกการควบรวมงานผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพราะรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้

นายบวรศักดิ์ปาฐกถาในหัวข้อรัฐธรรมนูญว่า ไทยเริ่มมีความขัดแเย้งตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เนื่องจากรัฐบาลต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนนำไปสู่การชุมนุมทางการเมือง สาเหตุของความขัดแย้งเกิดจากผู้นำทางการเมือง และมีการชักจูงราษฎรเข้าร่วมกับฝ่ายต่างๆ ซึ่งหากยังปล่อยให้ความขัดแย้งเหล่านี้อยู่ต่อไปประเทศไทยจะถอยหลังทั้งในระดับเอเชียและระดับโลก ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพรรคการเมืองที่ใสสะอาด สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจทำให้คนไทยพึ่งพาตัวเองได้ เชื่อว่าจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงทำให้การเลือกตั้งเกิดความโปร่งใส พร้อมยืนยันว่าไม่มีการล็อบบี้ให้ประชาชนออกมาสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ต่อมากรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ดูแลรับผิดชอบในแต่ละภาคได้ชี้แจงภาพรวมบทบัญญัติในภาคต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย นายมานิจ สุขสมจิตร นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ นายเจษฎ์ โทณะวณิก น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา และนายคำนูณ สิทธิสมาน พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้ซักถามข้อสงสัยต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม การสัมมนาในวันพรุ่งนี้จะมีการแบ่งกลุ่มกรรมาธิการและผู้ร่วมสัมมนาออกเป็น 5 กลุ่ม ตามหัวข้อหลักในร่างรัฐธรรมนูญเพื่อรับฟังความเห็น ประกอบด้วย กลุ่มพลเมือง สิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วม กลุ่มสถาบันการเมือง นักการเมือง การเลือกตั้ง กลุ่มกระบวนการยุติธรรม ศาล และการตรวจสอบ กลุ่มการกระจายอำนาจและสมัชชาพลเมือง และกลุ่มการปฏิรูปและความปรองดอง เพื่อเสวนากลุ่มย่อย


กำลังโหลดความคิดเห็น