xs
xsm
sm
md
lg

สปช.เชื่อ แก้ ม.181-182 ปิดช่องล้างผิด รธน.ผ่าน แม้ยังคงโอเพนลิสต์ นายกฯคนนอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
“วันชัย” เผย สปช. 8 กลุ่มยื่นแก้ รธน. ส่ง 3 - 5 คนต่อกลุ่มแจง กมธ.ยกร่างฯ รับ ทำการบ้านกันมาแล้ว มีเหตุผลหักล้าง เชื่อไม่เกิดความขัดแย้ง คาดไม่ยอมแก้โอเพนลิสต์ นายกฯคนนอก แต่อาจยอมแก้ ม.181 - 182 เลิกให้อำนาจ คกก. ล้างผิด และแก้อีกหลายมาตรา เชื่อ ทำแบบนี้ สปช. จะเห็นชอบ

วันนี้ (31พ.ค.) นายวันชัย สอนศิริ โฆษกวิปสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงเตรียมการของผู้ยื่นคำขอเสนอความเห็นแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 8 กลุ่ม ของ สปช. ต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะเริ่มต้นในวันที่ 2 - 6 มิถุนายนนี้ ว่า ได้มีการเตรียมการในการชี้แจงต่อกรรมาธิการกลุ่มละ 3 - 5 คน ใครยื่นเรื่องใดก็ต้องชี้แจงในเรื่องนั้นมีการทำการบ้านกันแล้ว เพราะมีการประชุมกันว่าจะใครจะชี้แจงประเด็นไหน จึงเชี่อว่าการตอบโต้เรื่องจุดอ่อนจุดแข็ง กรรมาธิการจะมีเหตุผลหักล้าง ทางผู้ขอแปรญัตติก็ต้องทำการบ้าน เพื่อชี้แจงกลับให้ได้ และหักล้างเหตุผลของฝ่ายกรรมาธิการด้วยเหตุผลที่ว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญสอดคล้องกับการแก้ไขสถานการณ์ปัญหาประเทศมากที่สุด เพราะไม่ว่าจะเป็นระบบใดก็มีจุดอ่อนจุดแข็งทั้งสิ้น จึงต้องพิจารณาถึงเป้าหมายในการแก้ปัญหาประเทศมากกว่า อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่า บรรยากาศในการชี้แจงของผู้ยื่นคำขอกับกรรมาธิการยกร่างฯจะไม่เกิดความขัดแย้ง เพราะทั้งสองฝ่ายคงพยายามไม่ทะเลาะให้บานปลายจนเสียความรู้สึกกัน จึงน่าจะพูดด้วยเหตุผล ถ้ารุนแรงก็น่าจะเป็นเนื้อหาวิชาการ ไม่ใช่ห้ำหั่นหรือใช้วาจาเสียดสีกัน

ทั้งนี้ ยังเห็นว่าประเด็นหลักๆ ที่กรรมาธิการจะไม่เปลี่ยนแปลง คือ 1. ระบบการเลือกตั้งตนเชื่อว่าจะยืนยันเรื่องโอเพนลิสต์ 2. นายกฯคนนอกก็เชื่อว่าจะไม่เปลี่ยนเช่นกัน เนื่องจากให้เหตุผลว่าเขียนเพื่อแก้วิกฤตโดยยกเอาอดีตที่มีปัญหา 3. เรื่องวุฒิสภาอาจมีการปรับเปลี่ยนแบบประนีประนอม คือ จากการสรรหาให้เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม แต่สิ่งที่กรรมาธิการฯอาจจะยอมแก้ไข คือ มาตรา 181 - 182 รวมทั้งเรื่องกรรมการปรองดองที่เสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ แต่ไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องให้อำนาจคณะกรรมการปรองดองฯอภัยโทษให้กับบุคคลที่ให้ข้อเท็จจริง หรือสำนึกผิดต่อกรรมการ เพราะกลายเป็นช่องว่างให้เกิดปัญหาตามมา

“ผมยังเชื่อว่าจะแก้มาก แต่ประเด็นเนื้อหาหลักจะไม่แก้ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาถึงเสียงส่วนใหญ่ของ สปช. หลังจากมีการปรับแก้แล้วว่าร่างสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไร เช่น เรื่องระบบเลือกตั้งแม้ไม่เปลี่ยนผมยังเชื่อว่า สปช. รับได้ แต่ถ้าไม่แก้ไข 181 - 182 ที่มาสภาขับเคลื่อนปฏิรูปฯ อำนาจคณะกรรมการปรองดอง น่าจะเป็นเรื่องที่ สปช. ไม่ยอมรับ เพราะเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนเห็นว่ามีปัญหา ถ้าเป็นไปในทิศทางนี้ ผมเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบจาก สปช.” นายวันชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น