xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ถกปฏิรูปตำรวจต้องเขียนไว้ใน รธน.หรือไม่ คาดเห็นร่างฯ สุดท้าย 17 เม.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยประชุมวันนี้คุยเรื่องค้างคา ปฏิรูปตำรวจ ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ คาดเห็นร่างสุดท้าย 17 เม.ย. ไม่คิดสัมมนาร่วม สปช.พรุ่งนี้มีล็อบบี้ร่างฯ ชี้แก้ฉบับชั่วคราวทำประชามติสะดวกสุด ส่วนจะเปรียบเทียบกับของเก่าหรือไม่ต้องหารือ หนุนนายกฯ เชิญผู้เชี่ยวชาญด้าน รธน.จากฝรั่งเศส-เยอรมนีเล่าประสบการณ์ ยันกฎหมายสูงสุดงวดนี้ปรับปรุงฉบับเก่าเพื่อแก้ปัญหาชาติ

วันนี้ (8 เม.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการประชุมในวันนี้ว่าจะพิจารณาในประเด็นที่ยังค้างอยู่ คือ เรื่องการปฏิรูปตำรวจที่ทางสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอเข้ามาเป็นเรื่องสุดท้ายว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเขียนหลักการใหญ่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยในส่วนอื่นได้ตรวจร่างรัฐธรรมนูญเกือบเสร็จแล้ว และจะเห็นร่างสุดท้ายได้ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ แต่ในวันพรุ่งนี้ (9 เม.ย) จะไม่มีการประชุมเนื่องจากมีประชุมสัมมนาร่วมกับ สปช. ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าการสัมมนาดังกล่าวเป็นการล็อบบี้ล่วงหน้าเพื่อให้ สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตนไม่ทราบข่าวนี้และไม่คิดว่าจะมีการล็อบบี้เกิดขึ้น

ส่วนแนวทางการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เพื่อดำเนินการออกเสียงประชามติ นายคำนูณมองว่า วิธีที่สะดวกที่สุดคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ตามที่รัฐธรรมนูญได้เปิดช่องไว้ ส่วนความเห็นที่เสนอให้ทำประชามติเป็นรายมาตรา เป็นความเห็นที่สามารถนำมาพิจารณาได้ แต่ตามหลักการที่ผ่านมาจะเป็นการทำประชามติทั้งฉบับ หากทำรายประเด็นจะทำให้ยืดเยื้อ ส่วนใช้วิธีการเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญเก่าหรือไม่นั่น ต้องรอให้มีความแน่นอนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ก่อนจึงจะหารือกัน

สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีจะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ ทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนี เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ระยะเปลี่ยนผ่านในการร่างรัฐธรรมนูญ นายคำนูณมองว่าหากจะมีการเชิญก็เป็นเรื่องดีเพราะถือว่าได้ผู้เชี่ยวชาญมาเปรียบเทียบสถานการณ์การเมือง

นายคำนูณกล่าวอีกว่า สำหรับการประชุมแม่น้ำห้าสายเมื่อวานนี้ (7 เม.ย.) ถือว่าได้แลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงานระหว่างกัน และเชื่อว่าน่าจะมีความเข้าใจต่อร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น ซึ่งในส่วนกรรมาธิการฯ ก็มีความมั่นใจที่จะชี้แจงต่อ สปช.อยู่ตลอดเวลา เพราะแนวคิดในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญรับฟังความเห็นที่แตกต่างอยู่เสมอโดยขอให้รอดูการพิจารณาขั้นสุดท้ายช่วง 60 วันของการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ วันที่ 25 พฤษภาคม - 23 กรกฎาคม 2558 เพราะคงมีประเด็นที่ขอแปรญัตติเข้ามาให้ทบทวนมาก โดยหลังจากนั้นจะไม่สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้อีก

นายคำนูณยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยขอให้เร่งทำความเข้าใจกับต่างชาติและประชาชน เพราะไม่ต้องการกลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เนื่องจากอาจเกิดปัญหาตามมาอีกว่า ที่ผ่านมากรรมาธิการฯ ก็มีการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะอยู่ตลอดเวลา ส่วนท่าทีของนายกฯ เช่นนี้จะสะท้อนว่าไม่มีการทำประชามติเปรียบเทียบระหว่างร่างรัฐธรรมนูญใหม่กับรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งหรือไม่นั้นยังเร็วเกินไปที่จะพูด เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีการทำประชามติหรือไม่ ถ้าทำจะทำก่อนหรือหลังการลงมติของ สปช. และจะตั้งคำถามอย่างไร ทั้งนี้ เห็นว่าสาเหตุที่นายกรัฐมนตรีไม่อยากนำรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 มาใช้ก็คงเพราะเกรงจะเกิดปัญหา เราก็ต้องพิจารณาว่าเหตุใดรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับจึงไม่สามารถใช้ได้อย่างยืนยาว แสดงว่าจะต้องมีปัญหาที่จุดใดจุดหนึ่ง ดังนั้นการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงอยู่บนพื้นฐานในการแก้ไขปรับปรุงจากฉบับเก่าเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น