โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยันตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ รับคิดกันมากก่อนชงตั้ง ห่วงหากเอาคนนอกอาจจะไม่มีความผูกพันในหลักคิดการปฏิรูป
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการกำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ว่าสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จะมีขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้ ส่วนขณะนี้คงต้องเร่งตั้งอนุกรรมาธิการเขียน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยต้องตั้งประธานอนุกรรมาธิการชุดนี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ตั้ง แต่คาดว่าไม่น่าจะช้า เพราะในส่วนของประธานอนุกรรมาธิการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องอื่นๆ ได้ทยอยตั้งและทำงานไปบ้างแล้ว
ทั้งนี้ การเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จะต้องดูท่าทีของร่างรัฐธรรมนูญควบคู่ไปด้วย ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญจะนิ่งจริงๆ ก็คือวันที่ 23 ก.ค.58 เพราะเป็นร่างสุดท้ายที่จะส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณา
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความเห็นจากหลายฝ่ายว่าการตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ เป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวย้ำว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ เพราะเป็นการทำงานเฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิรูป ซึ่งแยกออกจากการบริหารราชการแผ่นดินปกติ ที่รัฐบาลที่มาจากกาเลือกตั้งต้องดำเนินการอยู่แล้ว ถ้าไม้มีกลไกการปฏิรูป หลังจากที่มีรัฐบาลปกติ ก็จะเหมือนกับข้อเสนอของคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เคยเสนอแนวทางการปฏิรูป การสร้างความปรองดองก่อนหน้านี้ แต่ไม่มีกาขับเคลื่อนต่อ กมธ.ยกร่างฯ จึงอยากให้มีกลไกในการปฏิรูปที่แท้จริง โดยไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารในเรื่องปกติ แต่จะปฏิรูปแต่ละด้านเท่านั้น
“วาทกรรมสืบทอดอำนาจอาจพูดได้ แต่ถ้าดูเนื้อหาจริงๆแล้วจะพบว่าไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนเพื่อการปฏิรูป การเดินหน้าประเทศต้องไม่สะดุด จึงต้องมีกลไกการปฏิรูป ส่วนที่เอาคนจาก สปช. มา ประเด็นนี้เราก็คิดกันมาก แต่เราคิดแล้วว่าถ้าเอาคนใหม่ทั้งหมด เขาจะไม่มีความผูกพันในหลักคิดการปฏิรูป เราจึงเอา สปช.เพียง 60 คน ที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้โดยตรงมาสานต่อน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ไม่ใช่ สปช.ทั้งหมด”
นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ(วิป สปช.) กล่าวถึงกรณี กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ต้องยอมรับกันก่อน ว่าการปฏิรูปประเทศไม่สามารถเสร็จสิ้นได้ในรัฐบาลนี้ทั้งหมด จึงเห็นด้วยที่ต้องมีคณะกรรมการชุดนี้มาสานงาน ไม่เช่นนั้นการปฏิรูปจะล้มเหลว คอยแต่จะนับหนึ่งใหม่ไปเรื่อย สำคัญ กระบวรการกลั่นกรอง ต้องหาบุคคลที่สังคมยอมรับ และไม่อิงแอบการเมือง ส่วนจะได้ทำหน้าที่กี่ยุคกี่สมัย หรือต้องให้เว้นวรรคทางการเมืองหรือเปล่า คิดว่าควรยอมรับในกติกาของรัฐธรรมนูญต่อไป ส่วนตัวเห็นว่า ไม่ควรให้เว้นวรรคทางการเมืองคณะกรรมการชุดนี้ เพราะมีหน้าที่เพียงทำข้อเสนอด้านการปฏิรูปประเทศ แต่ไม่มีอำนาจทางการเมือง และไม่น่าเกี่ยวข้อง หรือมีบทบาทกับการใช้อำนาจรัฐ เรื่องเว้นวรรคหรือไม่เว้นวรรคทางการเมือง จึงไม่น่าจะไปก้าวล่วงถึงขนาดนั้น